สสส. ห่วงวัยรุ่นไทยดื่มเหล้าสูบบุหรี่หนัก เสี่ยงผลกระทบสุขภาพ เร่งอบรมสร้างเครือข่ายครู-นักศึกษาอาชีวะป้องกันปัจจัยเสี่ยง เชื่อรณรงค์ปากต่อปากได้ผลดี ชูต้นแบบสมุทรสงคราม วางการทำงาน 4 ด้านสกัดปัจจัยเสี่ยง ตั้งเป้ามี.ค. 66 สารเสพติดในสถานศึกษาเป็นศูนย์ 
 

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ได้มีการจัดแถลงข่าวโครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูแกนนำ นักศึกษาอาชีวป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่)ในสถานศึกษา
 
นายสง่า แต่เชื้อสาย ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า โครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักศึกษาอาชีวศึกษา ป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) สอดคล้องกันนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งในปีงบประมาณ 2566 จะเน้นเรื่องการจัดการศึกษาเพื่อความปลอดภัย โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการความปลอดภัย 25 แห่ง ครอบคลุมทั้ง 4 ภูมิภาค ซึ่งจะผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM) เพื่อขับเคลื่อนการบูรณาการการดำเนินงานในวิทยาลัยอาชีวศึกษาและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง สร้างกระแสและความตระหนักด้านการส่งเสริมสุขภาวะและช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) ในนักศึกษาระดับอาชีวศึกษา ซึ่งการอบรมจะมีขยายการดำเนินการให้ครอบคลุมสถานศึกษาในเครือข่ายต่อไป

นางสาวรุ่งอรุณ  ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม (สสส.) กล่าวว่า แอลกอฮอล์และยาสูบไม่เพียงส่งผลต่อสุขภาพเฉพาะผู้ที่ดื่มหรือผู้สูบเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างที่ได้รับความเดือดร้อนจากการสูบการดื่มด้วย เช่น ควันมือสอง อุบัติเหตุ ความรุนแรงในครอบครัว เป็นต้น และยังส่งผลกระทบเชิงเศรษฐกิจของสังคมประเทศอีกด้วย 

ทั้งนี้ สสส. จึงมุ่งเน้นการทำงานเพื่อป้องกันเด็กเยาวชนให้ห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ  ซึ่งผลสำรวจพบว่าในปัจจุบันเยาวชนถูกรายล้อมด้วยความเสี่ยงรอบด้าน เช่น ข้อมูลสำรวจจากศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ พบว่ากลุ่มวัยเรียนมัธยมปลายมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงที่สุด (46.4%) เมื่อเทียบกับทุกกลุ่มวัย โดยเริ่มสูบเพราะบุหรี่ไฟฟ้ามีรสและกลิ่นที่หอมและคิดว่าดีกว่าบุหรี่มวน  ซึ่งส่วนใหญ่หาซื้อได้ง่ายจากช่องทางออนไลน์ โดยข้อมูลจากศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันปี 2564 พบเยาวชน (อายุ 15-25ปี) 4.3 ล้านคนเล่นพนัน ด้านอุบัติเหตุทางถนน จากข้อมูลบูรณาการ 3 ฐาน กรมควบคุมโรค พบว่าช่วงอายุ 15-19 ปีมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ โดยมีสาเหตุจากการดื่มแล้วขับและขับรถเร็ว เป็นต้น

ดังนั้นการสร้างความรอบรู้ทางด้านสุขภาพ (Health Literacy) ให้เยาวชนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เยาวชนเท่าทันต่อเหตุการณ์ต่างๆและสามารถตัดสินใจได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งในยุคโลกาภิวัตน์ที่ขับเคลื่อนโดยสื่อสังคมออนไลน์ การสื่อสารจึงเป็นสิ่งสำคัญ ประกอบกับวัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่ให้ความสำคัญกับเพื่อนเป็นหลัก เนื่องจากสื่อสารกันได้ง่ายและเข้าใจกันมากกว่า  จึงเป็นที่มาของโครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักศึกษาอาชีวศึกษา ป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษานี้ ที่เน้นการเสริมศักยภาพให้กับเยาวชนแกนนำนักเรียน ผ่านการสร้างสรรค์สื่อ และสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งนี้สสส.ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสถาบันอาชีวศึกษาที่สนับสนุน ร่วมสร้างหลักสูตรแกนนำ และก่อให้เกิดแกนนำอาชีวศึกษาป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษา
 
นายพีระพงษ์ เผือกเหลือง รองผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม กล่าวว่า
การดำเนินงานในพื้นที่มีอยู่ 4 ด้าน ด้านที่ 1 การพัฒนาองค์ความรู้ให้กับบุคลากรในสถานศึกษาในพื้นที่ทั้งด้านสุขภาพ การบำบัดรักษ่ ด้านกฎหมาย พร้อมจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ ด้านที่ 2 ส่งเสริมสนับสนุนการสร้างเครือข่ายด้านสารเสพติด หรือสิ่งเสพติดคือ โดยมีการตั้งกรุ๊ปไลน์อกแนวปฏิบัติในการเข้าไปดูแลตรวจสอบ ด้านที่ 3 การบริหารจัดการเชิงรุก และเชิงรับ โดยมีการจัดตั้งศูนย์บริการป้องกันและแก้ไขปัญหาสารเสพติดในสถานศึกษา มีการคัดกรองเด็กกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติดแล้ว เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป เช่น มีการตรวจสุขภาพนักศึกษา การจัดสายตรวจ การสำรวจกลับไปยังครอบครัว เป็นต้น และด้านที่ 4 คือการเสริมแรง โดยจัดหาทุนการศึกษา และมอบเข็มเชิดชูนักเรียนที่เคยมีปัญหาแล้วกลับใจ เข้ามาเป็นสายจับตาและส่งข้อมูลการใช้สารเสพติด เหล้าบุหรี่ในโรงเรียน ส่วนครูอาจารย์ จะเพิ่มคะแนนการประเมินผลงานในแต่ละปี
 
 “ก่อนที่ผมจะเข้ามาทำงานที่นี่ ถือว่ามีปัญหามาก มีร้านค้ามาขายเหล้าขายบุหรี่หน้าสถานศึกษา ทั้งที่เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย การแจ้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับประสานมิตรเข้าไปดำเนินการตักเตือนป้องปรามสุดท้ายก็สามารถลดปัญหาได้เยอะมีการกำกับการขายให้กับนักเรียนนักศึกษา ปัจจุบัน เหลือไม่ถึง 1% เช่น เปิดเทอมมาได้ 2 สัปดาห์ สามารถตรวจจับคนที่มีบุหรี่ 2 คน จากนักเรียนทั้งหมดกว่า 2,500 คน ขณะนี้เราตั้งเป้าว่าในปีงบประมาณนี้หรือภายในมีนาคม 2566 สิ่งเสพติดและสารเสพติดในสถานศึกษาจะต้องเป็นศูนย์ ซึ่งต้องอาศัยการทำงานจริงจัง” นายพีระพงษ์ กล่าว