กรมควบคุมโรค ยกระดับตั้งศูนย์ EOC เฝ้าระวังป้องกัน "ฝีดาษลิง" เน้นคัดกรองผู้เดินทางประเทศเสี่ยงสูง ทั้งแอฟริกากลาง และยุโรปที่มีการระบาด เช่น อังกฤษ สเปน โปรตุเกส ฯลฯ นอกจากนี้ยังเฝ้าระวังในสถานพยาบาล หากพบผู้ป่วยเข้าข่ายให้เก็บตัวอย่างส่งตรวจ ส่วนต้องปลูกฝี หรือวัคซีนป้องกันอีกหรือไม่ ยังต้องพิจารณา เหตุที่ผ่านมาคนปลูกฝีคือ ก่อนปี 2523 เท่านั้น
เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวถึงการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข(EOC) กรณีโรคฝีดาษลิง (monkey pox)ว่า กรมได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวขึ้น เพื่อเฝ้าระวัง คัดกรองผู้เดินทางจากประเทศที่มีการระบาด ช่วยให้ตรวจจับกลุ่มเสี่ยงได้รวดเร็วขึ้น และป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศ หลังพบการแพร่ระบาดในหลายประเทศ และสามารถติดต่อจากคนสู่คน
“ไทยต้องรีบยกระดับศูนย์ขึ้นมา เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถรับมือได้ทัน เพราะโรคนี้ยังไม่มียาเฉพาะรักษา ต้องรักษาประคับประคอง แม้ว่าในประเทศยังไม่มีผู้ติดเชื้อนี้และประเทศไทยก็ไม่เคยเจอโรคนี้มาก่อน รวมถึง การจัดตั้งศูนย์ฯเป็นระดับกรมเพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ในต่างประเทศก่อน ว่าแต่ละประเทศมีข้อมูลอะไรเพิ่มเติม ที่พอจะบอกได้ว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศนั้นๆที่กำลังมีการระบาด มีการแพร่ระบาดถึงระดับไหน ซึ่งข้อมูลคงจะทยอยเข้ามา”นพ.จักรรัฐกล่าว
สำหรับการเฝ้าระวังโรคภายในประเทศ คือ คนที่เดินทางเข้าประเทศ ซึ่งที่ด่านที่สนามบินต่างๆอาจจะไม่เห็นอาการ เพราะว่าตอนเริ่มต้นอาการอาจจะน้อยหรือไม่มีอาการ แต่เมื่อมาถึงประเทศไทย เกิดตุ่มหนอง ตุ่มน้ำ จะเน้นเฝ้าระวังในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงทั้งประเทศแอฟริกากลาง เช่น ไนจีเรีย และคองโก และประเทศในยุโรปที่มีการแพร่ระบาดภายในประเทศแล้ว คือ อังกฤษ สเปน โปรตุเกส โดยที่สนามบินจะมีการคัดกรองอาการในผู้เดินทางมากับไฟลท์บินจากประเทศเหล่านี้ ดูว่ามีแผลหรืออะไรหรือไม่แบบเดินผ่านๆ และแจกบัตรเตือนสุขภาพ(Health beware card) เป็นคิวอาร์โค้ดให้สแกนทุกคนที่เดินทางมาจากประเทศดังกล่าว ซึ่งหลักๆจะระบุว่าหากมีอาการ เช่น ไข้ มีตุ่มให้รายงานเข้าระบบและรีบไปพบแพทย์ในรพ.ที่ใกล้ที่สุด รวมถึง แจ้งประวัติการเดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่ทราบด้วย
นอกจากนี้ จะมีการเฝ้าระวังที่สถานพยาบาล โดยหากพบผู้ป่วยที่เข้าข่ายสงสัย คือมีอาการเข้าได้กับโรคและมีประวัติเดินทางจากประเทศเสี่ยงที่กำลังมีโรคนี้ระบาดข้างต้น ให้สถานพยาบาลเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจหาเชื้อ ซึ่งประเทศไทยสามารถตรวจเชื้อนี้ได้ แต่ยังทำได้ที่ส่วนกลางคือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และรายงานเข้าระบบการเฝ้าระวัง อย่างไรก็ตาม หากมีผู้ติดเชื้อเข้าในประเทศไทย อาจจะต้องมีกระจายให้ศูนย์ในต่างจังหวัดช่วยตรวจ
** เมื่อถามต่อว่าจะต้องมีการปลูกฝีป้องกันฝีดาษใหม่หรือไม่ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ยัง เพราะตอนนี้ทั่วโลกยังไม่มีวัคซีน smallpox มากขนาดนั้นแล้ว เพราะเป็นโรคที่ถูกกวาดล้างไปหมดแล้ว จะมีเพียงบางประเทศที่ยังเก็บวัคซีนนี้ไว้ ในประเทศไทยไม่มี กำลังมีการประสานงานหาวัคซีนอยู่ว่ามีประเทศใดเก็บไว้บ้าง หรือถ้าจะผลิตเพิ่มก็ต้องดูว่ามีบริษัทใดจะผลิตเพิ่มได้บ้าง เพราะคงต้องใช้เชื้อ ซึ่งเชื้อsmallpoxเดิมมีแค่ 2 ประเทศที่เก็บไว้ คือ สหรัฐอเมริกาและรัสเซีย แต่ก็สามารถจำลองสายพันธุ์ออกมาทำวัคซีนได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ตัวจริง ทั้งนี้ คนไทยที่เกิดก่อนปี 2523 จะได้รับการปลูกฝีป้องกันฝีดาษ(smallpox)ทุกคน แต่ที่เกิดหลังจากปี 2523 จะไม่ได้รับวัคซีนนี้เพราะโรคฝีดาษถูกกวาดล้างไปหมดแล้ว
ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้ตั้งห้องปฏิบัติการ(แล็บ) เพื่อตรวจหาเชื้อโรคฝีดาษลิงในผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อแล้ว หากผู้ที่มีผื่น ตุ่มหนองตามร่างกาย ทางสถานพยาบาลก็สามารถสวอป(Swab)เชื้อบริเวณแผล ส่งตรวจ RT-PCR ได้ที่แล็บซึ่งมีน้ำยาตรวจเฉพาะ และใช้เวลารอผลเหมือนกับการตรวจโควิด-19
ขณะที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า หากเชื้อนี้เข้ามาในประเทศไทย ไม่ต้องกังวล ไทยมีศักยภาพในการตรวจหาเชื้อนี้ อย่างของศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ จุฬาฯ สามารถตรวจไวรัสจากฝีดาษลิงได้ โดยใช้ระยะเวลา 1-2 วัน เนื่องจากต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งการตรวจหาเชื้อได้เร็ว และการกักตัวกลุ่มเสี่ยงได้ย่อมช่วยป้องกันการแพร่ระบาดได้ เพราะโรคนี้ไม่มียารักษา อย่างประเทศที่มีการพัฒนาทางการแพทย์ อัตราเสียชีวิตมีน้อยกว่า 1% ส่วนกลุ่มเสี่ยง ยังต้องระวังในเด็กและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ส่วนผู้สูงอายุเคยได้มีการปลูกฝี หรือรับวัคซีนฝีดาษไปก่อนหน้านี้ ยังไม่มีใครตอบได้ว่า ภูมิคุ้มกันจะยังคงอยู่หรือไม่
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่
แฟ้มภาพกระทรวงสาธารณสุข
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :
-หมอจุฬาฯ แนะ "สวมแมสก์ - เครื่องวัดอุณหภูมิ" ยังจำเป็น! ป้องกัน "ฝีดาษลิง" โรคที่ยังไม่มียารักษา
-คร.ตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรณีโรคฝีดาษลิง
-แพทย์ผิวหนังเตือนฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อจากสัตว์ที่พบไม่บ่อย แต่อันตรายถึงชีวิต
-จับตาการระบาดของฝีดาษลิงที่กำลังทับซ้อนการระบาดโควิด
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 2247 views