พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวปาฐกถาพิเศษ "อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม" ในงานเสวนา Better Thailand Open Dialogue ซึ่งสมาคมนิสิตเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ สมาคมนิสิตเก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สมาคมนิสิตเก่าคณะเศรษฐศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ภาคเอกชน 3 สถาบัน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทสไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย จัดขึ้นที่รอยัล พารากอนฮอลล์ ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศไทยด้านต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา และแนวโน้มทิศทางในอนาคต โดยเฉพาะประเด็นด้านสาธารณสุข ซึ่งมีเนื้อหาทีน่าสนใจ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 นับเป็นมหาวิกฤติใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการถดถอยทางเศรษฐกิจของทุกประเทศ ซึ่งประเทศไทยถูกประเมินว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดในระดับต้นๆ ของโลก เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวกว่าร้อยละ 20 ของ GDP การระบาดของโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกหยุดการเดินทาง และเครื่องจักรการท่องเที่ยวไม่สามารถสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจได้เหมือนเมื่อก่อน
มาตรการปิดประเทศต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนในการตั้งหลักประคับประคอง และกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายต่างๆที่ออกมาคำนึงถึงความสมดุลย์ทั้งมิติด้านสุขภาพและมิติด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลจำเป็นต้องบริหารจัดการให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประเทศ ในวันที่ 1 กรกฏาคม 2564 ประเทศไทยได้นำร่องเปิดประเทศในโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และเปิดประเทศจริงจังเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นต้นแบบให้ประเทศอื่นๆ นำไปปฏิบัติ แม้จะเปิดประเทศแต่ก็ต้องระมัดระวัง ต้องเตรียมวัคซีนและยารักษาไว้ให้เพียงพอ เพราะวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดยังไม่จบสิ้น
ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ภาครัฐ ภาคเอกชน บุคลากรทางการแพทย์ อสม. และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่เกี่ยวข้อง ทำให้องค์กรต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งรวมทั้งองค์การอนามัยโลกได้ให้การยอมรับและชื่นชมประเทศไทยให้เป็นประเทศที่รับมือกับสถานการณ์โควิดได้ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เมื่อมองในแง่บวก แม้โควิดจะเป็นวิกฤติโลก แต่ก็เป็นโอกาสของประเทศไทยในหลายๆ ด้าน เช่นทั่วโลกได้เห็นศักยภาพระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ทั้งการรักษา การให้บริการ การรับมือโรคอุบัติใหม่และภาวะฉุกเฉิน การยกระดับความมั่นคงทางด้านสุขภาพ ตั้งแต่บริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ รวมถึงขีดความสามารถในการวิจัย พัฒนา และผลิตวัคซีนโควิด ซึ่งเป็นเทคโนโลยีชั้นสูง ตลอดจนการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสาธารณสุขของโลก โดยประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งสำนักงานเลขาธิการของศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ซึ่งจะเปิดทำการในเดือนสิงหาคมนี้ ยิ่งกว่านั้นยังส่งเสริมโอกาสให้ประเทศไทยสามารถที่จะเปิดตลาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้อย่างเต็มที่
ในด้านของการแก้ไขปัญหาความยากจนที่เกี่ยวข้องกับบริการสุขภาพ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จะมีการดำเนินการตรวจสุขภาพประจำปี การดูแลสุขภาพ การติดตามผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และการเข้าถึงบริการภาครัฐได้แก่กลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียงจะต้องได้รับสิทธิไม่ตกหล่นเพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างเป็นระบบแบบพุ่งเป้ารายครอบครัว
การเตรียมความพร้อมสำหรับเศรษฐกิจดิจิตัล ข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data และการลงทะเบียนด้วยระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการพร้อมเพย์และคิวอาร์เพย์เม้น สามารถนำมาต่อยอดได้ในอีกหลายเรื่อง เช่นดิจิตัล เฮลท์ แพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงสิทธิในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของสปสช. ผ่านแอพเป๋าตัง ในการแจกจ่าย ATK ที่ร้านขายยาซึ่งเข้าร่วมโครงการ
ขณะเดียวกันก็จะมีการผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการแห่งอนาคตในธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพเกิดขึ้นตามมาอีกหลายหลากสาขา เช่น ด้านสาธารณสุขได้แก่โครงการศิริราช สมาร์ท ฮอสพิทัล หรือโรงพยาบาลอัจฉริยะซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5 จี ระบบคลาวนด์ และเอไอโซลูชั่นเพื่อพัฒนาสาธารณสุขในรูปแบบใหม่ ตั้งแต่กระบวนการพยากรณ์ความเสี่ยง การป้องกันโรคและการรักษา การแพทย์ฉุกเฉิน ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ไปจนถึงการบริหารจัดการทรัพยากรของโรงพยาบาลและเพิ่มคุณภาพในการรักษา เพิ่มความปลอดภัย เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ลดความเหลื่อล้ำ ลดระยะเวลาในการรอคอย และลดต้นทุนการรักษาพยาบาล ซึ่งจะขยายไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ อีกต่อไป
- 277 views