บอร์ด สปสช. กำหนดเบิกจ่ายตามรายการบริการ ภายใต้งบบริการการแพทย์แผนไทย จำนวน 3 รายการ ประกอบด้วย 1. ยาแก้ลมแก้เส้น แก้ลมในเส้น บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อที่มีอาการมือเท้าชา 2. ยาศุขไสยาศน์ ช่วยให้นอนหลับ เจริญอาหาร และ 3. ยาทำลายพระสุเมรุ ใช้สำหรับแก้ลมเปลี่ยวดำ เป็นยาเสริมเพื่อฟื้นฟูอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากโรคลม อัมพฤกษ์อัมพาต

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน มีมติเห็นชอบการจ่ายชดเชยค่าบริการเพิ่มเติม ปี 2565 ในรายการยาแผนไทยที่มีส่วนผสมกัญชาในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร จำนวน 3 รายการ ประกอบด้วย 1.ยาแก้ลมแก้เส้น ช่วยให้นอนหลับ เจริญอาหาร 2. ยาศุขไสยาศน์แก้ลมเปลี่ยวดำ เป็นยาเสริมในการฟื้นฟูอัมพฤกษ์ อัมพาต และ 3.ยาทำลายพระสุเมรุ แก้ลมในเส้น บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ที่มีอาการมือเท้าชา 

 

ทั้งนี้ ตามที่อนุกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ ได้พิจารณายาที่มีส่วนผสมของกัญชา 3 รายการ ได้แก่ ยาแก้ลมแก้เส้น ยาศุขไสยาศน์ และยาทำลายพระสุเมรุ บรรจุเพิ่มเติมในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร และได้มีการประกาศในราชกิจจาเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 และ 4 มิถุนายน 2564 โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2565 กระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสือแจ้งมายัง สปสช. เสนอให้ทบทวนหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข โดยให้ครอบคลุมการเบิกจ่ายยาที่มีส่วนผสมกัญชา 3 รายการดังกล่าวนี้ 

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ต่อมา สปสช. จึงได้มีการหารือกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เพื่อขยายสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ครอบคลุมเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาที่มีส่วนผสมของกัญชา 3 รายการดังกล่าว และเป็นไปตามมติคณะกรรมการ 7x7 โดยกำหนดเป็นการเบิกจ่ายตามผลงานรายบริการ (Fee schedule) ภายใต้บริการการแพทย์แผนไทย คาดว่าจะใช้เงินเพิ่มเติม 3,706,346 บาท ซึ่งยังอยู่ในวงเงินที่ตั้งไว้ และได้นำเข้าสู่บอร์ด สปสช. พิจารณาเห็นชอบแล้วในวันนี้ นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มการเข้าถึงยากัญชาตามนโยบายของรัฐบาล

“การบรรจุยาแผนไทยที่มีส่วนผสมของกัญชานี้ เป็นการเพิ่มเติมจากที่ สปสช. ได้มีการบรรจุน้ำมันกัญญาและสารสกัดกัญชาเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง ไมเกรน พาร์กินสัน และผู้ป่วยลมชัก เป็นสิทธิประโยชน์ก่อนหน้านี้เป็นการขยายการดูแลเพื่อให้ผู้ป่วยบัตรทองเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นการพัฒนาเพื่อความครอบคลุมยารักษาโรคที่จำเป็นในการดูแลประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทอง” เลขาธิการ สปสช. กล่าว 

สอบถามเพิ่มเติมการใช้สิทธิบัตรทอง ได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ ทั้งไลน์ สปสช. (ไลน์ไอดี @nhso) หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand