วงถกคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เห็นชอบ “(ร่าง) ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3” พร้อมส่งให้ “ครม.-สภาฯ” พิจารณา ใช้เป็นกรอบ-ทิศทางการทำงานด้านสุขภาพของประเทศ พร้อมรับทราบ “แผนงานหลัก 5 ปี ฉบับใหม่ของ สช.  มุ่งปฏิรูประบบสุขภาพ ผ่านกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม”

ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2565 ซึ่งมี 
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ  รมช.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธาน คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 และเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งขอให้ทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วนของสังคม ร่วมกันนำไปใช้ขับเคลื่อนหรืออ้างอิง ตามบทบาทหน้าที่และอำนาจของตนต่อไป

 

ดร.สาธิต เปิดเผยว่า ขอชื่นชมผู้ที่อยู่ในกระบวนการจัดทำ (ร่าง) ธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 ทุกท่าน ที่ได้พัฒนาและจัดทำธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 ของประเทศไทย บนหลักการทางวิชาการ การมีส่วนร่วม และการสื่อสารสังคม เพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ รวมถึงเป็นพื้นที่กลางของทุกภาคส่วนได้เข้ามาร่วมขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อนําไปสู่เป้าหมาย “ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

“ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้ความสำคัญกับเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ และกระบวนการจัดทำธรรมนูญฯ ที่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และร่วมกันออกแบบระบบสุขภาพของทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย เพราะจากการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา เราเห็นชัดเจนแล้วว่าสุขภาพเป็นเรื่องของทุกคนจริงๆ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของบุคลากรทางการแพทย์ หรือสาธารณสุข เท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยหลายอย่างที่มาเกี่ยวข้องและกำหนดสุขภาพในทุกระดับ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่มากำหนดสุขภาพ” รมช. สธ. กล่าว

 

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ประธานกรรมการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาราว 1 ปีเศษของกระบวนการร่างธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 ได้ผ่านขั้นตอนของการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็น พร้อมสื่อสารให้สังคมวงกว้างได้รู้จักธรรมนูญฯ อย่างต่อเนื่องไปแล้วหลายครั้งหลายเวที รวมถึงเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเวทีที่ทุกภาคส่วนทั่วประเทศให้ฉันทมติต่อร่างธรรมนูญฯ ฉบับนี้ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนร่วมกันต่อไป
“สุขภาพไม่ใช่เรื่องของปัจเจก แต่เป็นเรื่องของทุกคนและของสังคมโลกด้วย หรือที่เราเรียกว่า one world one destiny มีสุขก็สุขด้วยกัน มีทุกข์ก็ทุกข์ด้วยกัน ดังนั้นธรรมนูญฯ ฉบับนี้ จึงมีแนวคิดสำคัญที่การมองระบบสุขภาพแบบองค์รวม ให้ความสำคัญกับปัจจัยแวดล้อม การพัฒนาศักยภาพคน และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพราะระบบสุขภาพที่ดีและเป็นธรรม จะนำมาซึ่งความยั่งยืนของคน สังคม และประเทศ”   ดร.สุวิทย์ กล่าว

 

ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนถัดจากนี้ ที่ประชุม คสช. ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นำเสนอ (ร่าง) ธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อทราบ และประกาศราชกิจจานุเบกษาต่อไป 

วันเดียวกัน ที่ประชุม คสช. ยังได้มีมติรับทราบแผนงานหลัก สช. ฉบับที่ 4 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566–2570 ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหาร สช. ที่ได้กำหนดทิศทางและเป้าหมายการทำงานของ สช. และภาคีเครือข่ายในระยะ 5 ปี เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมาก โดย สช.จะเน้น 1. ทำงานใหญ่ขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพและการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม  2. ส่งเสริมสนับสนุนการใช้กลไกและเครื่องมือต่างๆ ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ  3. ทำงานร่วมกับหน่วยงานองค์กรภาคียุทธศาสตร์ 4.พัฒนาการทำงานด้านนโยบายและยุทธศาสตร์  5. เสริมสร้างขีดความสามารถภาคีเครือข่าย

สำหรับแผนงานหลัก สช. ในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566–2570) จะมียุทธศาสตร์สำคัญ 4 ด้าน ประกอบด้วย 1. พัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมที่เป็นประเด็นสำคัญของประเทศ 2. ยกระดับคุณภาพกระบวนการนโยบายสาธารณะให้มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับสถานการณ์ 3. ยกระดับความร่วมมือกับภาคียุทธศาสตร์และเพิ่มขีดความสามารถของภาคีเครือข่ายเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนและพื้นที่ 4. สื่อสารสังคมเชิงรุก

นอกจากนี้ คสช. ยังรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงาน และพิจารณาให้ข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) ข้อเสนอเชิงนโยบายสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ ของคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ พร้อมมอบหมายให้ สช. ประสานความร่วมมือกับ สธ. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะดังกล่าวต่อไป

 

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางคณะกรรมการฯ ได้ดำเนินการจัดทำ (ร่าง) ข้อเสนอเชิงนโยบายฯ ดังกล่าว ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคีทุกภาคส่วน ซึ่งมีการประชุมหลายครั้งตั้งแต่เดือน ส.ค. 2564 – ก.พ. 2565 ก่อนเข้าสู่กระบวนการรับฟังความเห็นในช่องทางต่างๆ ช่วงเดือน มี.ค. – พ.ค. 2565 และหลังจาก คสช. ได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในวันนี้แล้ว  สช. จะร่วมกับหน่วยงาน องค์กรภาคีที่เกี่ยวข้องจัดเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น เพื่อหาฉันทมติต่อข้อเสนอเชิงนโยบายในเรื่องสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาตินี้ ในวันที่ 8 มิ.ย. 2565 ต่อไป

“บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานของรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ ที่ยังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์เช่นเดียวกับเด็กและเยาวชนสัญชาติไทย ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการด้านร่างกาย จิตใจ ของเด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมายแล้ว ยังมีผลต่อความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชนคนไทยโดยรวมด้วย นโยบายสาธารณะนี้จึงมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อส่งเสริมสนับสนุนมาตรการให้เด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย ได้รับการคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพที่เท่าเทียมและทั่วถึง ตามหลักการของสิทธิมนุษยชน และอนุสัญญาระหว่างประเทศ” นพ.ศุภกิจ กล่าว