10 คำถาม-คำตอบ ไขข้อสงสัยประเด็น ‘ถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปสู่ อบจ’
เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา สำนักข่าว Hfocus ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดงานเสวนาการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข “นโยบายภาครัฐ กับความพร้อมการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สู่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)” โดยมี นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ร่วมเสวนาด้วยนั้น ได้มีการ ถาม-ตอบ เกี่ยวกับปัญหาและการเตรียมพร้อมถ่ายโอน รพ.สต. ไปสู่ อบจ ประกอบด้วย
1. คำถาม : เรื่องงบประมาณ s/m/l จะจัดสรรให้ได้แค่ 1 ปี หรือได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่...
นายเลอพงศ์ : ตามแนวทางได้เขียนไว้ว่า "จะได้รับตลอดไป" ซึ่ง จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปีแรก (2551) ที่มีการถ่ายโอนไป อบจ. ทางคณะกรรมกระจายอำนาจฯ ได้ตั้งงบประมาณซึ่งขอจากสำนักงบฯ เป็นแห่งละ 1 ล้าน บาท ต่อเนื่องมาจนถึงปีปัจจุบัน แต่หากมีข้อขัดข้องในเรื่องสถานะของการเงินการคลังของรัฐบาล ถ้าในแนวทางตามกฏหมายนั้นเราไม่มีกำหนดระยะเวลาว่าให้แค่ปีเดียว
2. คำถาม : กรณีไม่ได้สมัครใจถ่ายโอน แต่ขอย้ายไป รพ.สต. ใกล้บ้านจะทำได้หรือไม่...
นพ.สุระ : ตอนนี้อยู่ในช่วงปรับเกลี่ย ซึ่งหมายความว่า ทั้งประเทศถ้าหากมีความจำเป็นและอยู่ในกรอบของจังหวัดนั้นๆ มีอัตราเหลืออยู่ สมมติว่า จะเกลี่ยข้ามจังหวัดก็เสนอมา ช่วงนี้เป็นช่วงที่เราเปิดให้บุคคลใหม่ เพราะการโอนแบบนี้ก็กระทบทั้งหมด
ซึ่งการทำนั้นมีขั้นตอนมากขึ้น ถ้าภายในจังหวัดก็ขึ้นอยู่กับ ผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ถ้าเกลี่ยข้ามจังหวัดก็เข้ามาที่ส่วนกลาง
3. คำถาม : หากถ่ายโอนไปแล้ว ในส่วนของการจัดหาบุคลากรทางการแพทย์หรือแพทย์หมุนเวียน ทางท้องถิ่นมีการเตรียมความพร้อมอย่างไร...
นายเลอพงศ์ : มีประมาณ 2-3 รูปแบบ ซึ่งถ้าหากเรายึดถือตามที่ประกาศไว้ ว่าให้ทำทุกอย่างเหมือนเดิม นั่นหมายความว่า แพทย์ที่หมุนเวียนมานั้น หากเกิดการติดขัดเรื่องของการเงิน ในการเบิกจ่ายว่าไม่สามารถให้กับแพทย์ที่หมุนเวียนมาได้ ต้องให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปแก้ไขระเบียบเพื่อให้เอื้อกับการทำงานของแพทย์หมุนเวียน เพื่อให้สามารถทำเหมือนเดิมได้
นอกจากนี้จากการลงพื้นที่ที่เราได้พูดคุยกับทาง อบจ. บางแห่งนั้น เขาได้มีการเตรียมช่องทางอื่นที่ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการในเรื่องนี้ได้ ซึ่งวิธีการแต่ละพื้นที่อาจแตกต่างกันไป
4. คำถาม : หากถ่ายโอนไปแล้ว สิทธิสวัสดิการยังเหมือนเดิมหรือไม่...
นายเลอพงศ์ : ในส่วนนี้ ตามแนวทางได้เขียนไว้ว่า สำหรับสิทธิสวัสดิการต่างๆ ของบุคลากรที่ถ่ายโอนนั้น จะต้องได้ไม่น้อยกว่าเดิม ซึ่งเรื่องนี้ต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า ระเบียบของข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่ถูกประกาศใช้จากกระทรวงมหาดไทย ก็ได้เขียนออกมาให้คล้ายกับ ข้าราชการพลเรือนนั่นเอง แต่มีแค่บางอย่างที่มองว่าอาจสามารถได้สิทธิ์ที่พิเศษให้กับข้าราชการส่วนท้องถิ่นบ้างเพราะฉะนั้นอาจมีความแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตามต้องได้ไม่น้อยกว่าเดิม แต่ก็ไม่ได้มากกว่ากันเกินไป
5. คำถาม : ความก้าวหน้าทางวิชาชีพจะเท่าเดิม หรือ มีโอกาสมากกว่าเดิม...
นายเลอพงศ์ : สำหรับความก้าวหน้านั้น เมื่อเทียบเคียงกับกระทรวงสาธารณสุขหรือข้าราชการพลเรือนทั่วไป เมื่อถ่ายโอนมาท้องถิ่นแล้ว ถ้าบุคลากรมีศักยภาพหรือความสามารถเพียงพอ อย่างเช่น ถ้าอยู่ฝ่ายวิชาการข้ามไปอยู่ฝ่ายอำนวยการ ทางกระทรวงมหาดไทยได้ออกแบบเรื่องความก้าวหน้าไว้ว่า ถ้ามีความพร้อมและมีศักยภาพพร้อมก็จะสามารถข้ามไปได้
6. คำถาม : กรณีหากถ่ายโอนไปแล้ว ค่าตอบแทนวิชาชีพ จะตามติดตัวไปด้วยหรือไม่...
นพ.สุระ : ถ้าหากเป็นเงินที่มาจากงบประมาณหรือเงินประจำตำแหน่งจะตามไปด้วยอยู่แล้ว แต่กรณีเงินค่าตอบแทนเฉพาะกระทรวงฯ อย่าง ฉ.11 / ฉ.12 ที่อยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณะสุข ซึ่งเป็นไปตามภาระงานเราก็จ่ายตอนที่อยู่ สธ. แต่หากไปอยู่ที่นั่น ถ้าไม่มีภาระงานตรงนี้แล้ว อบจ. อาจไม่จ่ายก็ได้
ทั้งนี้ อยู่ที่กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ขอระเบียบไป เพื่อเตรียมการดำเนินการเมื่อถ่ายโอนไปแล้ว ว่า จ่ายอะไรไปบ้าง จ่ายด้วยเหตุผลอะไร อัตราเท่าไหร่ ขึ้นอยู่ที่ว่าการทำงานจะทำเหมือนที่เดิมหรือไม่ เพราะบางอย่างใช้ความเป็นวิชาชีพ
7. คำถาม : การถ่ายโอนครั้งนี้ ระเบียบหรือขั้นตอนต่างๆ นั้น จำเป็นต้องออกประกาศมาใหม่หรือไม่...
นพ.สุระ : จริงๆ แล้ว ส่วนราชการมีภารกิจของตนเองอยู่แล้ว กฎระเบียบต่างๆ มันชัดเจนอยู่แล้ว กฎกระทรวงต่างๆ ก็ยังเหมือนเดิมทุกประการ ฉะนั้น อำนาจหน้าที่ส่วน รพ.สต. ก็เหมือนเดิมทุกประการ ที่ต้องประกาศใหม่น่าจะเป็นทาง อบจ. มากกว่า ว่า ภารกิจอำนาจหน้าที่ของ อบจ. มีอะไร โครงสร้างเปลี่ยนอย่างไร เพราะว่าโครงสร้างของหน่วยบริหารจะต้องมีหน้าที่ดูแล รพ.สต. ซึ่งทำหน้าที่เสมือนกลุ่มงานใน สสจ. นั่นเอง
8. คำถาม : กรณีที่หมออนามัยหรือนักวิชาการสาธารณสุข ลงพื้นที่ไปจ่ายยา ฉีดยา ซึ่งที่ผ่านมาจะมีหมอสังกัด สธ.คอยดูแล ทั้งนี้ถ้าหากเกิดข้ดผิดพลาดใครจะรับผิดชอบ...
นพ.สุระ : เรามีกฎหมายวิชาชีพ ถ้าเราได้ดำเนินการตามมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพ รวมทั้งภายใต้การดูแลของวิชาชีพที่สามารถสั่งการได้ ก็ถือว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติถูกต้อง หากเกิดอะไรขึ้นไม่ต้องรับผิด เนื่องจาก จะเป็นการรับหน้าที่ตามคำสั่งการของแพทย์ และมีผู้รับผิดชอบเรื่องนี้อยู่
แต่หากไปอยู่ อบจ. ก็ต้องจัดให้มีแบบนี้เหมือนกันถึงจะทำงานต่อไปได้ ถ้าไม่มีก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะว่า เมื่ออยู่ กับสธ. จะให้บริการประชาชนทุกอย่าง เนื่องจากมีโรงพยาบาลชุมชนทำงานร่วมกัน ซึ่งสามารถฉีดวัคซีนได้จ่ายยาได้ เย็บแผลได้ โดยเราถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านนี้ไปสู่ รพ.สต. โดยการควบคุมของแพทย์เท่านั้น แต่การจ่ายยาต้องมีแพทย์
9. คำถาม : หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการถ่ายโอนในส่วนของ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สามารถสอบถามช่องทางไหนได้บ้าง...
นพ.สุระ : ในส่วนกระทรวงสาธารณสุข ถ้าเป็นบุคลากร สามารถสอบถามมาที่งานบุคลากรได้เลย เพราะว่ายังเป็นข้าราชการภายใต้พระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือนอยู่ สามารถมีสิทธิ์ทุกอย่างตามพรบ. ได้ แม้จะมีการถ่ายโอน ถ้าหากมีข้อข้องใจอยากซักถาม พรบ. ฉบับนั้น ยังดูแลเหมือนเดิม
10. คำถาม หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการถ่ายโอนในส่วนของ ท้องถิ่น สามารถสอบถามช่องทางไหนได้บ้าง...
นายเลอพงศ์ : หากเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการถ่ายโอน ก็สอบถามมาที่คณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ได้ แต่หากเป็นประเด็นเกี่ยวกับเรื่องอื่น ไม่ว่าจะเป็น เรื่องงานบุคลากร งานค่าตอบแทน หรือเรื่องของความหน้า และระเบียบต่างๆ นั้น ก็สามารถสอบถามทางกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้
รับชมงานเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/cG5iC6_mKi/
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :
- "หมอสุระ" เผยขั้นตอนถ่ายโอน รพ.สต.ไป อบจ. พร้อมจัดระบบรับบุคลากรประสงค์ไปและไม่ไป
- "เลอพงศ์" ลั่น รพ.สต. 3,366 แห่งถ่ายโอนไป อบจ.ทั้งหมด 1 ต.ค.นี้
- 13241 views