กรมการแพทย์เผยสถานการณ์เตียงโควิดหลังสงกรานต์ 1 สัปดาห์ยังพอเพียง! ภาพรวมครองเตียงทั้งประเทศ 30% แต่เตียงระดับ 3 และผู้เสียชีวิตยังทรงตัว ชี้ต้องรอประเมินอีก 1 สัปดาห์ พิจารณาอีกครั้งสิ้นเดือนเม.ย.นี้ เบื้องต้นคาดไม่พุ่งกระฉูด ระบบการแพทย์รับมือได้
เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2565 ที่กรมการแพทย์ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์สถานการณ์เตียงโควิดหลังเทศกาลสงกรานต์ ว่า จากข้อมูลหลังเทศกาลสงกรานต์ 1 สัปดาห์พบว่า การเข้ารักษาตัวภาพรวมลดลงชัดเจน ทั้งเตียงระดับ 1 และการรักษาตัวใน CI แต่เตียงระดับ 3 และระดับ 2 ยังทรงตัว แต่เตียงระดับ 2.1 ลดลง อย่างไรก็ตาม ผู้เสียชีวิตและเตียงระดับ 3 มีการทรงตัว เนื่องจากผู้ป่วยเมื่อติดเชื้อ กว่าจะมีอาการข้อมูลจะดีเลย์ 2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นหลักการตั้งแต่แรกแล้ว ไม่ใช่ว่ายอดผู้ติดเชื้อสูง คนใส่ทิวป์จะสูงตามทันที ต้องรอเวลาตามมาประมาณ 1-2 สัปดาห์
“จำนวนการใช้เตียงจะพบในอีสานมาก แต่ก็ยังบริหารจัดการได้ เช่น อุดรธานี เมื่อคนไข้เพิ่ม เขาก็ขยายเตียงจาก Non โควิด เป็นโควิด ซึ่งไม่มีปัญหาอะไร โดยภาพรวมครองเตียงทั้งประเทศ 30% ซึ่งยืนยันว่า เตียงระดับ 1 และ 2 รวมทั้งระดับ 3 เพียงพอรองรับผู้ป่วย ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่หมอไม่แน่ใจ มีอาการโรคของตัวเองพอสมควรก็ขอให้แอดมิท ทั้งนี้ กรุงเทพฯ ปริมณฑลตัวเลขคงตัวมีแนวโน้มลดลง อาจเพราะฉีดวัคซีนกระตุ้นสูงในกทม.” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์โควิดในเด็กการติดเชื้อเทียบเดือน เม.ย.2564 และ ม.ค.2565 พบเพิ่ม 2 เท่า แต่อัตราความรุนแรงและอัตราเสียชีวิตไม่ได้สูงมาก โดยเสียชีวิตระลอกเม.ย.64 อยู่ที่ 0.018% ขณะที่ม.ค.2565 อยู่ที่ 0.017% ซึ่งเด็กเสียชีวิตระลอกม.ค.2565 พบว่าเสียชีวิตในเด็กน้อยกว่า 5 ปีมากกว่า 50% และทั้งสองระลอกพบเด็กเล็กทุกกลุ่มอายุที่มีโรคร่วมประมาณ 32.7% ทั้งนี้ ปัจจัยฉีดวัคซีนค่อนข้างสำคัญ เพราะข้อมูลไม่ได้ฉีดวัคซีนในเด็กเสียชีวิตมีถึง 95% อย่างไรก็ตาม อัตราครองเตียงเด็กอยู่ที่ 46% มีเพียงพอ จำนวนกุมารแพทย์กระจายทั้งประเทศ ทั้งในภาครัฐและเอกชนกว่า 1,900 คน
“อันนี้คือตัวเลขการประเมินหลังสงกรานต์ 1 สัปดาห์ แต่ต้องรอดูเอฟเฟคอีก 1 สัปดาห์ ถ้าจะให้ดีต้องรอก่อนสิ้นเดือน ซึ่งตัวเลขเรื่องเสียชีวิตจริงๆ ในต่างจังหวัดยังทรงตัวอยู่ แต่ในกทม. ช่วงสงกรานต์ลดลง เพราะคนออกไปข้างนอก ซึ่งออกไปอาจเอาเชื้อออกไปหรือไม่ ไม่รู้ ต้องรอการประเมินก่อนสิ้นเดือนนี้อีกครั้ง” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิดตามแนวทางเวชปฏิบัติฯ หรือ CPG กรมการแพทย์ จะมี 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ไม่มีอาการหรือสบายดี ไม่ต้องกินยาต้านไวรัส ไม่ต้องกินยาฟาวิพิราเวียร์ ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ 2. กลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงพิจารณาให้ฟาวิพิราเวียร์เร็วที่สุด 3.กลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง หรือกลุ่มที่มีปอดอกัเสบแต่ยังไม่ต้องให้ออกซิเจน พิจารณาให้ยาต้านไวรัสเร็วที่สุด ตัวใดตัวหนึ่งตาม CPG ของกรมการแพทย์ ได้แก่ ฟาวิฯ หรือเรมดิซิเวียร์ หรือโมลนูพิราเวียร์ หรือแพกซ์โลวิด โดยประเมินจากประวัติวัคซีนและปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง และ 4. กลุ่มที่มีอาการปอดอกัเสบต้องได้รับการรกัษาด้วยออกซิเจน หรือพิจารณาให้เรมดิซิเวียร์เร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม ตามแนวทางรักษาการรักษาในผู้ป่วยกลุ่มเด็ก มีแนวทาง 1.ให้หฟาวิฯ ชนิดเม็ดหรือน้ำ ในกลุ่มอาการไม่รุนแรง และ2.เรมดิซิเวียร์ในกลุ่มอาการปานกลางถึงรุนแรง ส่วนการรักษาในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ มีแนวทางให้เรมดิซิเวียร์ และอาจพิจารณาให้ฟาวิฯ ในไตรมาสที่ 2-3 พิจารณาเป็นกรณี
(ข่าวเกี่ยวข้อง : ประกาศ! แนวทางเวชปฏิบัติฯ รักษาผู้ป่วยโควิดฉบับล่าสุด กำหนดปัจจัยให้ยากลุ่มอาการรุนแรง)
- 141 views