พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ ศปก.ศบค. เปิดเผยว่า ในการประชุมศบค.ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในวันศุกร์ที่ 22 เมษายนนี้ กระทรวงสาธารณสุข จะเสนอปรับมาตรการตรวจหาเชื้อโควิดก่อนเข้าประเทศ ทั้งบางบกและทางอากาศ ซึ่งที่ประชุมศบค.จะพยายามให้สามารถดเเนินการได้ในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้
พล.อ.สุพจน์กล่าวว่าที่ประชุมศบค.จะพิจารณาข้อเสนอ ที่เป็นแนวทางสำคัญตามที่นายกฯ มอบไว้ โดยเรื่องการเข้าประเทศ ปัจจุบันมี 2 ประเด็นหลักคือ การกักตัว สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน จะปรับให้สะดวกขึ้น เช่น ถ้ามีการกักตัวที่เชื่อถือได้มาแล้ว ก็จะลดจำนวนวันกักตัวลง และเรื่องการปรับระบบเทสต์ แอนด์ โก สำหรับผู้ได้รับวัคซีน ซึ่งทั่วโลกมีการผ่อนคลายมากแล้ว จะเสนอให้ปรับเพื่อให้นักท่องเที่ยวและคนไทยที่จะเดินทางเข้าประเทศได้รับความสะดวกมากขึ้น จะมีการพิจารณาทุกมิติ โดยการตรวจหาเชื้อเมื่อเดินทางมาถึง อาจจะปรับ เนื่องจากพบว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศมีเปอร์เซ็นต์ลดลง โดยจะหารือว่าการตรวจเอทีเค จะใช้ลักษณะอย่างไร หรือไม่ต้องตรวจเลย ส่วนข้อเสนอให้ยกเลิกเทสต์ แอนด์ โก หรือระบบไทยแลนด์พลัส จะทำเท่าที่จำเป็นโดยยึดหลักความปลอดภัย เท่าที่ประเมินแล้วว่าเราจะรับได้ และให้เกิดความสะดวกที่สุด
"เรารับฟังมาตลอด แต่อยากให้เข้าใจ โดยเฉพาะไทยแลนด์ พลัส ไม่ใช่ระบบที่ไม่ดี ถ้าย้อนไปในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาหากไม่มีระบบนี้ เวลานี้ยังไม่ทราบว่าประเทศไทยจะเป็นอย่างไร แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ระบบต่างๆ ก็ต้องปรับ และถ้าปรับระบบเข้าประเทศ จะใช้ไทยแลนด์ พลัส เท่าที่จำเป็น"พล.อ.สุพจน์กล่าว
เลขาธิการสมช.กล่าวว่า หากที่ประชุมศบค.เห็นชอบการปรับระบบเข้าประเทศ แผนการดำเนินงานจะเริ่มในวันที่ 1 พ.ค.นี้ ยกเว้นมีเหตุจำเป็นที่ต้องขยับ โดยมาตรการที่จะปรับ มีทั้งทางอากาศ ทางบก ซึ่งทางบกจะพยายามเปิดด่านทางบกให้ได้ทั่วประเทศ โดยให้กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ดำเนินการ โดยผู้ที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาร่วมกันว่าใช้วิธีใดในการเปิด และใช้เงื่อนไขเดียวกับทางอากาศที่มาตรการอาจจะน้อยกว่า ส่วนการกำหนดพื้นที่หรือโซนสี จากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ผ่านมา คาดว่าจะพิจารณาปรับโซนสีให้ดีขึ้นในทุกจังหวัด
ด้านการเตรียมพร้อมรับการเปิดภาคเรียนที่กำลังจะถึงนี้ พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเรื่องนี้ ในที่ประชุมศปก.ศบค. หารือกันถึงเงื่อนไขบางประการที่กำหนดไว้ในมาตรการที่ทำให้สถานศึกษามีข้อจำกัดในการให้นักเรียนไปเรียนในโรงเรียนหรือออนไซต์แบบเต็มจำนวน ซึ่งต้องปรับเงื่อนไข ขณะที่โรงเรียนก็ต้องมีมาตรการรองรับได้อย่างปลอดภัย
พล.อ.สุพจน์ กล่าวถึงถึงความพร้อมเรื่องยาและเวชภัณฑ์ ที่จะรองรับการแพร่ระบาดที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นว่า ได้พิจารณาอัตราการครองเตียงและขีดความสามารถด้านสาธารณสุขแล้วนำมาประเมิน ตัวเลขการจัดอันดับผู้ติดเชื้อว่าประเทศไทยอยู่ในลำดับไหนของโลกหรือของอาเซียน ไม่ใช่มิติที่ครบถ้วนที่จะนำมาพิจารณาเปิดประเทศ แต่แพทย์ใช้ปัจจัยพิจารณาเรื่องเปอร์เซ็นต์เตียงที่เหลือ และการรองรับทางสาธารณสุขมาพิจารณา และสิ่งเหล่านี้ยังมีเพียงพอ สำหรับการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ซึ่งมีผู้สมัครเสนอให้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่นำร่องเป็นเมืองที่ใช้ชีวิตปกติสามารถเปิดหน้ากากอนามัยได้ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้วางมาตรการให้ประชาชนกลับไปใช้ชีวิตปกติและโควิดเป็นโรคประจำถิ่น และมาตรการเหล่านี้ยังปรับได้อีก แต่อยากย้ำว่าโควิด ต้องอยู่กับเราอย่างน้อยไปอีก 1 ปี
ก่อนหน้านี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention : CDC) สหรัฐอเมริกา ได้ยกเลิกคำเตือนห้ามประชาชนเดินทางมายังประเทศไทยและอีก 89 ประเทศ โดยเป็นการปรับลดคำเตือนจากกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระดับสูงสุด ระดับ 4 มาอยู่ในระดับ3 ซึ่งเป็นระดับที่มีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ก่อนเดินทางเท่านั้น โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพอใจกับเรื่องดังกล่าวและเห็นว่าปัจจัยบวกและสนับสนุนต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย
ขณะเดียวกันนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้เปิดเผยว่า ในช่วงช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจากภาคการท่องเที่ยวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สถิติผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศมีจำนวนน้อย ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้
นอกจากนี้แผนงาน "Air Travel Bubble" ระหว่างไทย-อินเดีย ที่หน่วยงานภาครัฐได้พัฒนาความร่วมมือร่วมกับภาคเอกชนส่งเสริมการท่องเที่ยวเส้นทางจากสาธารณรัฐอินเดียมายังประเทศไทยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวก็มีผลดำเนินงานที่น่าพอใจ ภายหลังการบรรลุข้อตกลงเรื่อง Air Travel Bubble Arrangement ระหว่างสองประเทศ รัฐบาลไทยได้ร่วมมือกับภาคเอกชนยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้พัฒนายิ่งขึ้นผ่านการประชาสัมพันธ์ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย การมอบสิทธิประโยชน์ในการเดินทาง การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งในไทยและอินเดีย เพื่อแสดงถึงความพร้อมของไทยในการรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มต่างๆ
พร้อมกันนี้ รัฐบาลไทยยังมีการลงนามแสดงเจตจำนง (Letter of Intent - LoI) ว่าด้วยความร่วมมือส่งเสริมการเดินทางของตลาดนักท่องเที่ยวอินเดียมายังประเทศไทยร่วมกับบริษัทสายการบิน เพื่อวางกลยุทธ์และดำเนินงานรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวอินเดียให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมในทุกมิติ
- 189 views