โรงพยาบาลราชวิถี เปิดผลสำเร็จการรักษาผู้ป่วย ใช้เวลา 6 เดือนกว่า รักษาผู้ป่วย "โรคอ้วน" เพศหญิง ที่มีน้ำหนักมากกว่า 300 กิโลกรัม จนลดลงเหลือ 163 กิโลกรัม ขณะนี้ทีมแพทย์อนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้ เเต่ต้องควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ทานยาและอาหารเสริมโภชนาการตามแพทย์สั่ง 

เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565 ที่ห้องประชุมราชวิถี ชั้น 11 อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ โรงพยาบาลราชวิถี นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ร่วมกับ นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี และคณะแพทย์ผู้รักษา แพทย์หญิงนวพร นภาทิวาอำนวย เเพทย์เเผนกต่อมไร้ท่อเเละโภชนบำบัด และ นายแพทย์เสฐียรพงษ์ จันทวิบูลย์ เเพทย์แผนกศัลยกรรม แถลงผลการรักษาผู้ป่วยหญิงโรคอ้วนที่มีน้ำหนักมากกว่า 300 กิโลกรัม หลังจากเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลราชวิถีจากการเป็นโรคอ้วน ขณะนี้ทีมแพทย์พร้อมอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้

 

 

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากการที่กรมการแพทย์ได้รับการประสานว่ามีผู้ป่วยโรคอ้วนที่มีภาวะคั่งของคาร์บอนไดออกไซด์ ภาวะหยุดหายใจตอนนอน ภาวะหัวใจล้มเหลว น้ำท่วมปอด และหายใจเหนื่อย มีน้ำหนักตัวกว่า 300 กิโลกรัม ร่วมกับมีอาการเคลื่อนไหวตัวลำบาก มีแผลกดทับ และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร่วม เช่น โรคหัวใจเเละหลอดเลือด โรคเบาหวาน ความดันสูง อยู่ที่ตำบลเชียงรากน้อย อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือ เพื่อนำตัวผู้ป่วยมารับการรักษาที่โรงพยาบาลราชวิถี

หลังจากรักษาตัวมานานกว่า 6 เดือน พบว่า น้ำหนักตัวลดลงมาก ซึ่งแพทย์ได้รักษาด้วยวิธีการควบคุมอาหาร โดยได้ร่วมกับนักกำหนดอาหาร (Dietitian) ปรับเมนูอาหารให้เหมาะสม ทำให้น่ารับประทาน ออกกำลังกาย การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะผ่านกล้อง (Laparoscopic sleeve gastrectomy) และการทำกายภาพบำบัด รวมทั้ง ได้ติดตามอาการเรื่อยมาจนน้ำหนักลดเหลือ 163 กิโลกรัม แพทย์จึงอนุญาตให้กลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านได้

 

 

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า สำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนในครั้งนี้ มีแพทย์ที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันหลายฝ่าย โดยอาการหลังจากผ่าตัดนั้นถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ป่วยไม่มีอาการหรือภาวะแทรกซ้อนใดๆ เกิดขึ้น ผู้ป่วยสามารถเดินได้เร็วขึ้นโดยไม่เหนื่อยง่าย เเละใช้เครื่องช่วยหายใจเฉพาะตอนนอน

แต่ยังคงต้องใช้เครื่องช่วยหายใจต่อไปหลังออกจากโรงพยาบาล โดยหลังออกจากโรงพยาบาล จะมีการติดตามอาการผู้ป่วยด้วยระบบ Telemedicine และนัดมาตรวจที่ OPD ตามความเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ ผู้ป่วยยังคงต้องควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ทานยาและอาหารเสริมโภชนาการตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น