“อนุทิน” หารือร่วมตัวแทนสมาคม อบจ. ตัวแทนนายก อบจ.49 จังหวัด และตัวแทนรพ.สต.ฯ ย้ำ! สธ.ไม่ขัดข้องถ่ายโอน รพ.สต.ไปท้องถิ่น เราต้องปฏิบัติตามกฎหมายกระจายอำนาจ หากไม่ทำก็เข้าข่ายม.157 ขออบจ.รับปากดูแลบุคลากรให้ดี ที่สำคัญประชาชนต้องไม่ได้รับผลกระทบ ชี้ถ่ายโอนแล้วกลับมาไม่ได้อีก ส่วนขั้นตอนดำเนินการ รองปลัดสธ. เตรียมพร้อมจัดการงบประมาณ ชี้ไม่ใช่อุปสรรคใหญ่ ดำเนินการได้แน่นอน
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 11 เม.ย.ที่กระทรวงสาธารณสุข ตัวแทนสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย และตัวแทนอบจ. 49 จังหวัด อาทิ ระยอง สุพรรณบุรี ยโสธร ปัตตานี เชียงราย ฯลฯ และตัวแทนผู้อำนวยการรพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล เดินทางมายังกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เพื่อขอเข้าพบนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอให้สนับสนุนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด
ต่อมาเวลาประมาณ 14.00น. ผู้แทนทางสมาคม อบจ. แห่งประเทศไทย ผู้แทน อบจ.49 จังหวัด และผู้แทนรพ.สต.ฯ นำโดย นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกสมาคมอบจ.แห่งประเทศไทย นายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรม ผอ.รพ.สต. (ประเทศไทย) ได้เข้าหารือร่วมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการ สธ. พร้อมทั้ง นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ร่วมหารือในครั้งนี้
นายอนุทิน กล่าวภายในการหารือว่า ทางกระทรวงสาธารณสุข ไม่เคยมีปัญหาเรื่องถ่ายโอน และนโยบายนี้เป็นนโยบายที่เกิดขึ้นก่อนที่ตนเองจะมาดำรงตำแหน่ง แต่สิ่งที่ตนได้มอบนโยบายให้ผู้บริหารได้ปฏิบัติคือ ต้องเคารพกฎหมาย แน่นอนว่า มีความคิดเห็นหลากหลาย บางคนอยากไป บางคนไม่อยากไป คนที่ไม่อยากไปก็กังวลว่า จะทิ้งพวกเขาหรือไม่ คนที่อยากไปก็อยากไปเร็วๆ มีมาเร่งว่า ถ้าไม่ให้ไปจะฟ้องม.157 อีก แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญประชาชนต้องไม่ได้รับผลกระทบ หากการถ่ายโอนจะมีผลกระทบต้องกระทบให้ดีขึ้นกับประชาชน นี่คือสิ่งที่ตนต้องขอร้องทุกท่าน
“การโอนทรัพย์สิน โอนคน ไม่ใช่เรื่องยาก แต่การนำองค์ความรู้ การทุ่มเทเสียสละ ความพร้อมดูแลประชาชน เป็นสิ่งที่นายก อบจ.ทุกท่าน ยิ่งช่วงใหม่ๆ ขอให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง นอกจากการจ่ายยา ยังมีเรื่องเอาใจใส่ประชาชน ให้เขารู้สึกปลอดภัยเมื่อเข้ามารับรักษาพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบาย 3 หมอ คือ อสม. หมอคนแรก รพ.สต.คือหมอคนแรก ซึ่งล้วนสำคัญหมด หมอคนที่สาม คือ หมอเวชศาสตร์ครอบครัว ของกระทรวงสาธารณสุข แต่หมอคนแรก และคนที่สองอยู่กับพวกท่าน หากถ่ายโอนไป ซึ่งทั้งหมดต้องทำงานร่วมกัน จริงๆ หากทำดีๆ ชาวบ้านจะจำมากสุด โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ ซึ่งเชื่อว่า อบจ.รับทราบเรื่องนี้ดี และผมมองว่าอบจ.รักชาวบ้านแน่นอน และสธ.ในเรื่องของการเปลี่ยนถ่ายนั้น เราพร้อมสนันบสนุน และได้ขอให้ทางผู้บริหารสธ.หารือทำเรื่องนี้ให้พร้อม ขอให้มั่นใจ เป้าหมายของเราทั้งสองฝ่าย คือ สุขภาพของประชาชนต้องไม่ได้รับผลกระทบ และเมื่อไปอบจ.ต้องทำให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ส่วนบุคลากรจะเป็นอย่างไรขอให้ท่านดูแลอนาคตของเขาด้วย” นายอนุทิน กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุทิน ได้ร่วมหารือจากนั้นได้ขอออกจากห้องประชุมก่อน เนื่องจากติดภารกิจอีกแห่ง แต่ก่อนเดินทางไป ได้เดินทางเข้าพูดคุยกับตัวแทน รพ.สต. ที่รออยู่บริเวณโถงอาคาร 3 ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ว่า การถ่ายโอนรพ.สต.ไปยัง อบจ. เป็นกฎหมายกระจายอำนาจ ซึ่งระหว่างการถ่ายโอนจะทำอย่างไรกับบุคลากร เรื่องทรัพย์สินไม่มีปัญหา แต่เรื่องบุคลากรอาจกังวลเรื่องความไม่มั่นคง แต่จริงๆไม่ใช่ เพราะนี่คือภาครัฐ แม้มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีการปลดพนักงานเก่าแน่นอน การถ่ายโอนก็จะดำรงสถานภาพอยู่ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ตนได้พบการนายก อบจ. ซึ่งก็ให้ความมั่นใจว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้มีปัญหา ต้องทำตามกฎหมาย ไม่มีทางเลือกด้วย แต่เราจะใช้สิทธิการดูแลสุขภาพประชาชน โดยนายกอบจ.ขอให้รับปากว่า ขอให้ถ่ายโอนเร็วที่สุด ตนก็เช่นกันขอให้รับปากว่า เมื่อถ่ายโอนแล้วประชาชนต้องไม่ได้รับผลกระทบ เราก็เชื่อว่าจะดีกว่า เพราะนายกอบจ. นายกอบต.อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่มากกว่า ทางสธ.ก็พร้อมสนับสนุนในช่วงเปลี่ยนผ่านเต็มที่
“ส่วนงบประมาณก็จะหารือกับท่านรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ท่านรมว.มหาดไทย และท่านนายกฯ เพราะตอนนี้มีความเข้าใจผิดบางประการว่า กระทรวงสาธารณสุขไปให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องกับสำนักงบประมาณ ดังนั้น ในช่วงงบประมาณขาขึ้นที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการงบประมาณ ก่อนออก พ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 ยังไม่พอ มีความติดขัดอยู่ เราก็จะไปแก้ไขตรงนั้น เพราะการเปลี่ยนผ่านก็ต้องเกิดขึ้น ซึ่งหากจำเป็นกระทรวงสาธารณสุขก็ต้องยอมตัดงบประมาณที่เตรียมไว้ดูแล รพ.สต.ในขณะที่ยังไม่ถูกถ่ายโอน และเมื่อถ่ายโอนไปงบฯก็ต้องตามไปด้วย ซึ่งไม่ใช่ปัญหาที่จะเป็นอุปสรรคจนแก้ไขไม่ได้ แต่คนที่จะรับไปขอให้คำสัญญาว่า รักชาวบ้าน ดูแลชาวบ้าน ให้บริการชาวบ้านโดยไม่ขาดตกบกพร่อง” นายอนุทิน กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การถ่ายโอนครั้งนี้จะไม่สามารถกลับมาได้อีกใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ก็เมื่อถ่ายโอนไปแล้ว และได้สิ่งที่ดี ใกล้ชิดกว่า นายกอบจ.ทั้งหลายบอกว่า การไปตรงนี้เป็นทั้งโอกาส และความเสี่ยง หากทำไม่ดี สุขภาพชาวบ้านเป็นอะไร ไม่เหมือนสร้างถนน สร้างสะพานแต่นี่เป็นเรื่องสุขภาพชาวบ้าน หากทำไม่ดีสุขภาพชาวบ้านที่ไม่ดี เรียกเท่าไหร่ไม่มีได้คืน นายก อบจ.ท่านทราบอยู่แล้ว แต่ก็เลือกรับไป ทุกฝ่ายทำตามกฎหมาย ตนเองก็ต้องทำตามกฎหมาย ไม่งั้นก็เสี่ยงม. 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ฉะนั้น ไม่มีใครอยากเสี่ยง
เมื่อถามต่อว่ามีคนเสนอให้ทำประชาพิจารณ์กับประชาชนในพื้นที่ นายอนุทินกล่าว เป็นกฎหมายไปแล้ว เกิดขึ้นก่อนรัฐบาลชุดนี้ เกิดขึ้นก่อนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เกิดก่อนปี 2562 อีก ซึ่งต้องมาถามว่าหากไม่ทำแล้วจะผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหลายคนบอกว่าผิด จึงไม่มีใครอยากทำผิด ดังนั้น ก็ต้องทำตามกฎหมาย
ด้านนายมนูญ พหรมศร ผอ.รพ.สต.บ้านห้วยแห้ง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า เท่าที่ฟังจากท่านรัฐมนตรีฯ เราสบายใจและเชื่อมั่นขึ้น เพราะท่านย้ำว่า นึกถึงประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก ซึ่งเราก็เช่นกัน และการถ่ายโอนไปอบจ. ก็เป็นการเติมเต็มเรื่องงบประมาณ เรื่องบุคลากร ซึ่งข้อนี้ประชาชนได้รับประโยชน์แล้ว ไม่มีสิ่งใดที่ประชาชนได้รับความเสียหาย ส่วนความก้าวหน้าของบุคลากรจะตามมาเอง เราในฐานะชาวรพ.สต. เราคำนึงถึงพี่น้องประชาชนจะได้รับการบริการที่ดีขึ้น เพราะอบจ.มีศักยภาพ มีงบประมาณรองรับตรงนี้ และเราได้สอบถามประชาชนในพื้นที่แล้วก็เห็นด้วยทั้งสิ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการสอบถามในพื้นที่ต่างๆ อย่างพื้นที่ที่ต้องการถ่ายโอนล้วนสอบถามประชาชนในพื้นที่แล้ว เช่น สุพรรณบุรี พื้นที่ของตนก็มีการสอบถามแล้วเช่นกัน
*** ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางนายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรมผอ.รพ.สต.ฯ ได้จัดทำข้อเสนอถึงนายอนุทิน อาทิ 1. ขอรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งให้ส่วนราชการ หน่วยงานในสังกัดปฏิบัติตามกฎหมายและประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) เรื่อง หลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัย เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้แก่องค์การบริหาร ส่วนจังหวัด ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2564 อย่างเคร่งครัด
2. ขอกระทรวงสาธารณสุข โดยรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนให้มีการถ่ายโอนภารกิจ สอน./รพ.สต. ให้แก่ อบจ. ทั้ง 49 แห่ง ในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 3,384 แห่ง 3. ขอกระทรวงสาธารณสุข โดยรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรี เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาทบทวนงบประมาณสนับสนุน สอน./รพ.สต. ถ่ายโอน อบจ. ทั้ง 3,384 แห่ง บุคลากรสมัครใจ จำนวน 22,265 คน ก่อนวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่ ครม. จะพิจารณาเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566
อ่านรายละเอียดข้อเสนอในไฟล์แนบท้ายข่าว...
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 2298 views