ประธานคณะอนุกรรมการฯ เผยผลสรุปการประชุมเรื่อง ถ่ายโอนรพ.สต. "กรณีแนวทางการแก้ปัญหาการจัดสรรงบประมาณ" ชี้เตรียมรับมือและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด ส่วนประเด็น นายกฯ เป็นห่วงให้ สธ.สร้างความเข้าใจนั้น เชื่อผู้ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ส่วนใหญ่เข้าใจตรงกันหมด
เมื่อวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม 2565 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุม 109 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม ในฐานะประธานกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง เรื่อง ข้อปรึกษาหารือของสมาชิกวุฒิสภา ระหว่างคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา รวมทั้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
ได้แก่ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงบประมาณ โดยมีนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (นายมงคลชัย สมอุดร) และนายวิฑูร เอี่ยมโอภาส ผอ.สกถ. เข้าร่วมประชุมด้วย ที่ประชุมมีประเด็นหารือ เรื่อง การดำเนินการถ่ายโอนภารกิจสภานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด
โดยมติที่ประชุมสรุปไว้ดังนี้ คือ มอบหมายคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมี นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ เป็นประธานอนุกรรมการฯ รวบรวมประเด็นข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณา และเสนอคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
รวมทั้ง ให้สรุปผลการดำเนินการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด และนำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อทราบเป็นการเบื้องต้นก่อน
ทั้งนี้ นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับ Hfocus ว่า ประเด็นความคืบหน้าล่าสุด ในที่ประชุมวันที่ 25 ที่ผ่านมานั้น สำนักงบฯ ได้จัดสรร การถ่ายโอน รพ.สต. จำนวน 512 แห่ง บุคลากรประมาณ 2,300 กว่าคน ซึ่งสำนักงบฯ เองได้มีหลักเกณฑ์ในการจัดสรรและพิจารณาอยู่แล้ว
และได้ชี้แจงว่า รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไปแล้วต้องสามารถปฎิบัติหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่อง โดยต้องมีบุคลากร 3 คน/ 6 คน/ 9 คน ตามขนาด s/m/l ซึ่งหนึ่งในนั้นอย่างน้อยต้องมีตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพด้วย เป็นต้น สำหรับประเด็นดังกล่าว คณะอนุกรรมการฯ ได้แย้งไปว่า ปัจจุบัน ความเป็นจริงรพ.สต.ที่สมัครใจมาทั้งหมด บางรพ.สต. มีบุคลากรปฏิบัติงานแค่ 1-2 คน เท่านั้น เขายังสามารถปฏิบัติงานได้ แต่สำนักงบฯ ได้นำเกณฑ์ที่กล่าวมาข้างต้น มาตัดสินถือว่าไม่ถูกต้อง ซึ่งตอนนี้ประธานคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ได้มอบให้คณะอนุกรรมการฯ หาทางแก้ไขแล้ว
นอกเหนือจากวันที่ 25 แล้ว ในวันที่ 28 มีนาคม 2565 ทางเราเอง ได้มีโอกาสได้พูดคุยนอกรอบ โดยมี สำนักงบฯ , กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจกันมากขึ้นแล้ว
ส่วน ประเด็นนายกฯ เป็นห่วง แล้วให้กระทรวงสาธารณสุขสร้างความเข้าใจ คณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ จะต้องร่วมกันสร้างความเข้าใจ หรือทำอะไรด้วยหรือไม่ นายเลอพงศ์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วเราได้สร้างความเข้าใจในระดับผู้ปฏิบัติงานหรือในระดับพื้นที่แล้ว มั่นใจทุกคนเข้าใจตรงกันหมด รพ.สต. หรือ อบจ. ตามจังหวัดต่างๆ ได้มีแผนการเตรียมความพร้อมในการถ่ายโอนว่าต้องทำอะไรบ้างหลังจากจากถ่ายโอน ตอนนี้ทุกคนเข้าใจตรงกันหมด
" เรามองว่าคนที่ไม่เข้าใจ อาจเป็นในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขเอง เราอยากให้ระดับผู้บริหารหรือระดับบัญชาการ ต้องไปทำความเข้าใจมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ระหว่างในช่วงทำความเข้าใจ ทั้งคณะอนุกรรมการฯ เองก็ต้องทำความเข้าใจกับกระทรวงสาธารณสุข ว่าให้มีหนังสือสั่งการไปหาสสจ. ว่าต้องทำอะไรบ้าง เพราะฉะนั้น การนัดประชุมในครั้งต่อไป ก็ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันและมีความชัดเจนมากขึ้น "นายเลอพงศ์ กล่าว
ภาพประกอบ : สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
https://www.hfocus.org/content/2022/02/24450
https://www.hfocus.org/content/2022/03/24767
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 709 views