แพทย์เตือนสูดควันบุหรี่เสี่ยงมะเร็งเต้านม ทั้งสูบเองและรับควันบุหรี่มือสอง ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม 14 ราย พบ 1 ราย ป่วยจากสูดควันบุหรี่มือสอง 

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงไทย จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบผู้หญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งรายใหม่วันละ 49 คนและเสียชีวิตวันละ 13 คน

ซึ่งปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมที่ทราบกันได้แก่ อายุ ภาวะอ้วน ดื่มสุรา ประวัติครอบครัว หรือการใช้ฮอร์โมนและยาคุมกำเนิด แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยทราบว่า การสูบบุหรี่และการได้รับควันบุหรี่มือสอง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านม

 

รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวว่า องค์กรวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (International Agency for Research on Cancer – IARC) รายงานเรื่องการสูบบุหรี่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านมตั้งแต่ปี 2553 จากนั้นมีงานวิจัยออกมาอย่างต่อเนื่องที่สนับสนุนว่าการสูบบุหรี่และการได้รับควันบุหรี่มือสองเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม เช่น เมื่อปี 2558 มีการรวบรวมงานวิจัยทั้งสิ้น 75

งานวิจัยที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่กับมะเร็งเต้านม และ 31 งานวิจัยที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับควันบุหรี่มือสองกับมะเร็งเต้านม ซึ่งสรุปว่า ผู้หญิงที่สูบบุหรี่เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8-10% ส่วนผู้หญิงที่ได้รับควันบุหรี่มือสองเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น 7-30% โดยสาเหตุน่าจะมาจากสารก่อมะเร็งในควันบุหรี่ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่สรุปว่า การสูบบุหรี่เพิ่มอัตราการเสียชีวิตในคนที่เป็นมะเร็งเต้านมแล้วถึง 28% 
 

“เมื่อเร็ว ๆ นี้ วารสารวิชาการ International Journal of Epidemiology ฉบับเดือนธันวาคม 2564 มีรายงานวิจัยของประเทศนอร์เวย์ที่ติดตามกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่จำนวน 45,923 คน นานถึง 28 ปี (ระหว่างปี 2534-2561) พบผู้หญิงที่ไม่เคยสูบบุหรี่แต่มีประวัติรับควันบุหรี่มือสองจากครอบครัวในวัยเด็กเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้ที่ไม่เคยมีประวัติรับควันบุหรี่มือสอง 11% โดยเมื่อนำมาคำนวณเทียบประชากรทั้งประเทศพบว่า ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม 14 รายจะมีผู้ป่วย 1 รายเป็นมะเร็งเต้านมเพราะได้รับควันบุหรี่มือสองในวัยเด็ก เป็นการย้ำผลของการได้รับควันบุหรี่มือสองต่อการเกิดมะเร็งเต้านม” รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว

รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีผลของการสูบบุหรี่ไฟฟ้าต่อมะเร็งเต้านมยังไม่มีรายงานผลในคน แต่มีการศึกษาในหนูทดลองพบว่าเซลล์มะเร็งเต้านมในหนูที่สูดควันบุหรี่ไฟฟ้านานกว่า 4 สัปดาห์โตเร็วกว่าหนูที่สูดอากาศปกติถึง 2 เท่า และพบการกระจายของมะเร็งเต้านมไปที่ปอดในหนูที่สูดควันบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากกว่าหนูที่สูดอากาศปกติ 3 เท่า

จึงอยากเตือนประชาชนว่าการสูบบุหรี่ไม่ว่าบุหรี่ธรรมดาหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งต่อตัวเองและคนรอบข้าง โดยเฉพาะวัยรุ่นผู้หญิงที่ปัจจุบันเริ่มหันมาสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งต่อไปในอนาคต 20-30 ปีอาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งชนิดอื่น ๆ ดีที่สุดคือเลิกสูบบุหรี่ทุกประเภท หากยังเลิกไม่ได้ขออย่าสูบในบ้านหรือสถานที่สาธารณะที่มีคนจำนวนมาก

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org