กรมการแพทย์ ร่วมไฟเซอร์ เซ็นสัญญาซื้อยาแพกซ์โลวิด ใช้รักษาผู้ป่วยโควิดตามข้อบ่งชี้ 5 หมื่นราย เตรียมพร้อมก่อนสงกรานต์ ย้ำ! ข้อแตกต่างการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ และแพกซ์โลวิด หากไม่มีอาการ หรืออาการน้อย ไม่มีความเสี่ยงรักษาตามอาการได้ หรือให้ยาฟาวิพิราเวียร์ หรือฟ้าทะลายโจร
เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2565 ที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วย ตัวแทนบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย)จำกัด ผ่านระบบออนไลน์ ลงนามในสัญญาการจัดซื้อยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 50,000 คอร์สการรักษา หรือผู้ป่วย 50,000 คน โดยการทำสัญญาครั้งนี้มีผลทันที
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ด้วยโรคโควิด-19 มีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก การติดเชื้อเป็นวงกว้างและมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การพัฒนาวิธีการรักษารวมถึงการจัดหายารักษาโรค จึงมีความสำคัญและจำเป็นสำหรับผู้ที่ติดเชื้อ โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีนโยบายการจัดหายารักษาโควิด-19 ที่สำคัญ คือ การเข้าถึงยาที่มีประสิทธิผลในการรักษา โดยมีข้อมูลทางวิชาการหรือผลการศึกษาวิจัยที่มีคุณภาพเพียงพอในการสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย เพื่อพิจารณาเลือกและจัดหายาที่เหมาะสมในการนำมาใช้ในกับผู้ป่วย
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยมียาต้านไวรัสเพื่อให้การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้แก่ ยาฟาวิพิราเวียร์(Favipiravir) ยาเรมเดซิเวียร์(Remdesivi) ยาโมลนูพิราเวียร์(MoInupiravi) และยาใหม่ที่ลงนามจัดซื้อกับบริษัท ไฟเซอร์ ในวันนี้ คือ ยาแพกซ์โลวิด(Paxlovid) จากข้อมูลจากการศึกษาวิจัย 1,379 คน พบว่าช่วยลดความเสี่ยงการนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตลงได้ 88% เมื่อผู้ป่วยได้รับยาภายใน 5 วันนับตั้งแต่เริ่มมีอาการ กลุ่มที่ให้ยาแพ็กซ์โลวิดนอน รพ. เพียง 0.77% และไม่มีผู้เสียชีวิต ขณะที่ กลุ่มยาหลอกนอน รพ. หรือเสียชีวิต 6.31% โดยมีผู้เสียชีวิตในกลุ่มที่ได้ยาหลอก 13 คน
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ยาแพกซ์โลวิด น่าจะเข้าถึงไทยพร้อมกระจายช่วงต้นเดือน เม.ย.นี้ เพื่อให้มียาก่อนสงกรานต์ โดยจะกระจายไปที่ รพ.ศูนย์ในแต่ละพื้นที่และมีผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ เป็นคนบริหารจัดสรรไปในแต่ละพื้นที่ที่ต้องการใช้ยา โดยยาแพกซ์โลวิดเหมาะสำหรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางและมีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง เช่น อายุมากกว่า 60 ปี มีภาวะอ้วน เป็นเบาหวาน เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นโรดไตเรื้อรัง ภูมิต้านทานร่างกายต่ำ เป็นต้น สำหรับยาแพกซ์โลวิดที่มีประสิทธิผลในการลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักยาใน รพ. และเสียชีวิตได้อย่างมีนัยสำคัญ ทางคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้เห็นชอบให้ สธ. โดยกรมการแพทย์รับผิดชอบสัญญาการจัดหาและจัดซื้อยาจำนวน 50,000 คอร์ส เพื่อให้ผู้ป่วยโควิดได้เข้าถึงยาต้านไวรัสชนิดใหม่ และลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือการรักษาตัวในรพ.
นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ท่านนายกฯ และท่านรองนายกฯ อนุทิน ให้ความสำคัญกับการจัดซื้อยาแพกซ์โลวิดอย่างมาก เพื่อให้ยาสามารถกระจายสู่พื้นที่ได้ก่อนสงกรานต์ เพื่อลดความเสี่ยงในกลุ่มผู้สูงอายุ เราจึงขอให้ทางบริษัทกระจายยาไปอยู่ในพื้นที่ก่อนสงกรานต์ อย่างที่ทราบว่า แพ็กซ์โลวิด มีผู้ป่วยนอนรพ. 0.77% แต่กลุ่มที่ได้ยาหลอกนอนรพ. 6.31% ที่สังเกตคือ โรคไม่รุนแรง ฉะนั้น เราจึงมีเกณฑ์ให้ยาสำหรับ 50,000 คอร์สนี้ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรคจริงๆ เพื่อลดอัตราเสียชีวิต ทั้งนี้ จะมีการติดตามการใช้ยาจริงในประเทศไทย และคุยกับไฟเซอร์เป็นระยะ โดยหากยามีประสิทธิภาพ มีความจำเป็นที่ต้องสั่งเพิ่ม ก็จะมีการหารือกันต่อไป
นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ป่วยโอมิครอน ตามรายงานอาการผู้ป่วยกว่าครึ่งไม่มีอาการเลย แทบไม่ต้องกินยา ส่วนครึ่งที่มีอาการนั้น ก็จะดูความเสี่ยง เช่น อายุ โรคร่วม ประวัติวัคซีน หากฉีดครบแล้ว ไม่มีโรคร่วม แพทย์ก็จะพิจารณาเป็นรายๆ จ่ายยาฟ้าทะลายโจร ที่ตอนนี้ผู้ป่วยกว่า 20% ที่รักษาใช้ฟ้าทะลายโจร อีก 20% กว่าใช้ยาตามอาการ หรือใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ โดยข้อมูลของ ศ.พญ. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ รายงานว่าสามารถลดโอกาสเกิดอาการในผู้ป่วยได้ดี ทำให้อาการดีขึ้นได้เร็ว ดังนั้น เราก็อยากเก็บยาโมลนูพิราเวียร์และยาแพกซ์โลวิดไว้สำหรับผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ ซึ่งข้อมูลวิจัยปัจจุบันยาแพกซ์โลวิดเป็นยาเม็ดที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
ผู้สื่อข่าวถามว่า ตามข้อบ่งชี้ว่า ต้องให้ยาแพ็กซ์โลวิดแก่ผู้ป่วยที่มีอาการภายใน 5 วัน ซึ่งยังระบุว่าสามารถให้ผู้ป่วยที่ไม่ต้องนอนรพ.ด้วย รวมถึง HI หรือไม่ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า จริงๆ หากเริ่มมีอาการ จะอยู่ที่ไหนก็ได้ ทั้ง Home Isolation หรือ HI หรือ OPD หากอาการเข้าข่ายสามารถรับยาได้ อยู่ที่ไหนก็ได้ ยึดตัวอาการเป็นหลัก
เมื่อถามว่าจะมีการสื่อสารประชาชนอย่างไร เนื่องจากเวลามียาใหม่เข้ามา ก็อาจทำให้เกิดการเลือกรับยาได้ จะมีแนวทางรักษาที่ชัดเจนอย่างไร นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์รับยาแพกซ์โลวิดจะคล้ายกับโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งในแนวทางรักษาผู้ป่วยที่กรมการแพทย์ประกาศมาก่อนหน้านี้ก็มีระบุไว้ชัดเจน โดยจะจ่ายยาในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ต้องมีโรคป่วยด้วย พร้อมประวัติการฉีดวัคซีนไม่ครบหรือยังไม่ได้รับเลย
เมื่อถามถึงกรณีแพทย์จะเลือกใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ และยาแพกซ์โลวิดอย่างไร นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า มีคู่มือไกด์ไลน์ออกมา ซึ่งยาโมลนูพิราเวียร์ออกฤทธิ์คล้ายฟาวิฯ หลักการใช้ตัวใดตัวหนึ่ง ส่วนแพกซ์โลวิดออกฤทธิ์แตกต่างกัน จริงๆตามหลักการใช้ร่วมกันได้ แต่ศึกษาวิจัยไม่ได้ใช้ร่วม ดังนั้น คู่มือไกด์ไลน์จึงระบุให้ใช้ตัวใดตัวหนึ่ง ซึ่งในคู่มือที่ผ่านมามีการระบุไว้แล้วว่า ต้องอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคร่วม และเริ่มมีอาการ ถึงอาการปานกลาง เป็นต้น แต่ทั้งหมดอยู่ที่ดุลยพนิจของแพทย์ว่า จะใช้โมลนูพิราเวียร์ หรือแพกซ์โลวิด
เมื่อถามถึงผลข้างเคียงใช้ยาต้านไวรัสโมลนูพิราเวียร์และแพกซ์โลวิด ที่ผู้ป่วยต้องทราบ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับยาทั้งสองชนิดนี้ตามรายงานยังไม่พบอาการข้างเคียงรุนแรง อย่างที่เจอตาเปลี่ยนสีในฟาวิพิราเวียร์ ในยาแพกซ์โลวิดและโมลนูพิราเวียร์ก็ไม่เจอ เพราะไม่มีสารเรืองแสง แต่อาจเกิดอาการเล็กน้อย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน
ด้าน นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ช่วงบ่ายวันพรุ่งนี้ (25 มี.ค.) จะมีการประชุมสอบถามถึงการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ของรพ.ต่างๆ เพื่อให้ทราบว่าผลการใช้เป็นอย่างไร ซึ่งมีการติดตามตลอด ในส่วนของยาแพ็กซ์โลวิดก็จะมีการประชุมติดตามหลังจากมีการกระจายไปแล้วเช่นกัน
ข่าวเกี่ยวข้อง : เปิดข้อเปรียบเทียบ "ยาโควิด-19 ในไทย" พร้อมค่าใช้จ่ายยาแต่ละชนิด(ผู้ป่วยไม่ต้องจ่าย)
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 5077 views