การควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา เกิดผลกระทบมากน้อยไปตามสถานการณ์ ซึ่งแน่นอนว่าผลพวงจากมาตรการต่างๆ เกิดขึ้นกับหลายกลุ่ม หลายฝ่าย ซึ่งนอกจากการตั้งคำถามถึงกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายเพื่อจัดการกับวิกฤคิโควิด-19แล้ว เวทีสัมมนาวิชาการ ซึ่งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดร่วมกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) เมื่อเร็วๆ นี้ ยังได้ตั้งคำถามสำคัญต่อกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายอีกว่า ‘ทำอย่างไรเราจะ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ในภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุข? : การพัฒนานวัตกรรมของกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อแก้ปัญหาซับซ้อนของสังคมไทย’
คำถามเริ่มต้นของในการเปิดเวทีสนทนา คือ วิกฤติโควิด-19 ซึ่งถูกชี้นำโดยบุคลากรทางการแพทย์ อีกทั้งกระบวนการจัดการวิกฤติด้านสุขภาพที่มีลักษณะ Technical ทำให้มีการมองข้ามผลกระทบด้านอื่นๆ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ หรือไม่ ซึ่ง ศ.ดร.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการด้านสังคมวิทยามองว่า แม้วิกฤติโควิดจะเป็นเรื่องใหญ่ แต่สำหรับประเทศไทยไม่ได้เชื่อมโยงความรู้สึกความใหญ่ของเรื่องเท่าที่ควร ปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้ควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นวิวัฒนาการของความรู้ความเข้าใจ ในส่วนแรกมิติของโรค มิติของสุขภาพ ประชาชนทั่วไปไม่รู้เรื่องจึวต้องหวังพึ่งแพทย์ แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็เรียนรู้ร่วมกับแพทย์ หลายเนื่องจึงมิใช่มิติทางการแพทย์ (medicalization)
“การระบาด 2 ปีกว่าเรายังไม่ได้เอื้อให้ระบบอื่น ๆ ลืมตาอ้าปากมาพูดคุยกันเป็นเรื่องเป็นราว เรามาเจอแต่ว่ายาในแหล่งชุมชนคนเข้าไม่ถึงกัน เราเจอเหตุการณ์หลายอย่าง เช่น ถ้าไม่มีโซเชียลมีเดียสังคมก็จะไม่สะเทือนนโยบายด้วยซ้ำไป ผมจึงคิดว่าท่านที่อ้างว่าโซเชียลมีเดียทำให้เราแพ้หรือชนะเนี่ย พูดง่าย ๆ ไม่ได้ มันเรียกร้องความรู้เท่าทันยุคใหม่แล้ว ถ้าถามว่าเรียนรู้อะไร เรียนรู้ว่าเราจะเรียนรู้อย่างไร ไม่ใช่แค่เรียนรู้ว่าเราต้องชนะมันเสมอไป”
(ศ.ดร.สุริชัย หวันแก้ว)
ศ.ดร.สุริชัยกล่าวว่า กระบวนการนโยบายรวมศูนย์ จะเสนออะไรก็ให้เขียนมา ไม่ต้องนั่งถก ถกไม่สำคัญ วิธีตัดสินใจที่ไม่เอาความรู้เข้าไปร่วมถก ร่วมประชันเหตุผลกันและกันก็กลายเป็นปัญหา กระบวนการตัดสินใจในภาวะฉุกเฉินเราเรียนรู้จากการสู้รบในสงคราม เรียนรู้จากภาวะฉุกเฉินของเหตุการไฟไหม้หรือภัยพิบัติต่าง ๆ แต่เรื่องโรคโยงกับความรู้ทางการแพทย์ โยงกับผลกระทบของการจัดการ จัดการไม่ดีกระทบไปถึงเศรษฐกิจ ซึ่งต้องอยู่ทุกวัน ๆ ปัญหาด้านนี้พูดน้อยเกินไป ภาคส่วนที่ดูแลชีวิตตัวเองรายวัน ส่วนที่ต้องดูแลชีวิตที่ห่างไกลศูนย์กลางอำนาจแทบจะไม่มี
“การรับมือกับภาวะฉุกเฉิน มันเรียกร้องสติร่วมกันทั้งสังคม ไม่ใช่ปล่อยให้สติถูกกำหนดอย่างรวมศูนย์ แล้วเราจะเห็นว่าคนตัวเล็กตัวน้อยเขาต้องแก้ปัญหาของเขาด้วย การเรียนรู้จากเขาอาจเป็นตัวอย่างที่ดีกว่าการแก้ปัญหาแบบทุกอย่างต้องรวมศูนย์ แล้วก็แก้ปัญหาด้วยการบัญชาการรับมือกับภาวะฉุกเฉิน ถ้าพูดในแง่วิชาการแบบสังคมศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ ในภาวะที่ไม่แน่นอนมันเรียกร้องให้เราสนใจ ไม่ใช่แค่ออกแบบระบบ ระบบปัจจุบันก็คือรวมศูนย์ ส่งข้อมูลเข้ามาแล้วก็ตัดสินใจ ก็ไม่โปร่งใสด้วยนะบางที ผมคิดว่าความไม่โปร่งใสเป็นภาวะย้อนแย้งของความไม่เชื่อมั่นในสังคม กลายเป็นโจทย์ของความไม่ชอบธรรมในการใช้อำนาจ ภาวะฉุกเฉินในสถานการณ์โรคมาสู่ภาวะฉุกเฉินทุกด้านโดยไม่เกิดโอกาสที่สติจากการเรียนรู้ร่วมกันเกิดขึ้น อันนี้เป็นความผิดพลาดร้ายแรง ทำลายสมรรถนะของตนเอง”
ขณะที่ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ก็มีความเห็นในด่นที่กังวลต่อระบบการรวมศูนย์แก้ปัญหาที่ผ่านมาเช่นกัน โดยมองว่ากระบวนการให้ข้อสรุปต่อรัฐบาลมักตกม้าตายตอนจบ มักจะมีปัญหาเกิดขึ้น สังคมไทยมีวัฒนธรรมเรื่องของความรู้กับความเชื่อ ซึ่งประหลาด ๆ อยู่ มีแนวโน้มจะเชื่อผู้ใหญ่ในวงการต่าง ๆ วิกฤติโควิดเป็นเรื่องทางการแพทย์ก็เชื่อบุคลากรทางการแพทย์เป็นหลัก แต่ว่าในทางการแพทย์ก็มีแพทย์หลากทักษะ ในช่วงแรก ๆ ก็มีความเห็นของแพทย์ที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ สังคมก็จะงงว่าควรฟังใคร ซึ่งแพทย์หลายท่านก็มีเจตนาที่ดี แต่ประเด็นก็คือว่า 1. ไม่แน่ใจโครงสร้าง 2.ความครอบคลุมของความรู้มันเป็นอย่างไร 3.จะมีช่องส่งผ่านความรู้แบบนั้นไปที่คนใหญ่คนโต (Big Name) ซึ่งประสบการณ์ที่ผ่านมาไม่มีอะไรการันตีเลยว่าความรู้ที่มีการกลั่นกรองมาอย่างดีและการใช้ความรู้อย่างเกิดประโยชน์ในการตัดสินใจจริง ๆ ก็ยังไม่ชัด
(ดร.สมชัย จิตสุชน)
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ถูกวิกฤติโควิดกระหน่ำอย่างรุนแรง ในมุมมองของดร.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทสไทย(ธปท.) ยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ ซึ่งมีการสำรวจในช่วงแรกของการระบาดว่าคนอังกฤษให้คุณค่ากับชีวิตและสุขภาพมาก ยินยอมทำตามนโยบายที่ออกมาโดยไม่ห่วงเรื่องปากท้องมากนัก เน้นการเอาชีวิตรอดก่อน แต่เมื่อสถานการณ์ยืดยาวออกไปคนก็ให้ความสำคัญกับปากท้องมากขึ้น ในฐานะที่มีส่วนด้านนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ธปท.ก็มองแผนภาคธุรกิจด้วย มองแทนประชาชนในแง่การปรับตัว ทำให้ปากท้องดีขึ้น ถ้าได้ข้อมูลที่ดี การศึกษาที่แม่นยำ จะทำให้ต้นทุนที่ต้องเสียไปน้อยลง
“หากกำหนดนโยบายออกมาแต่ทำไม่ได้ ทำให้ความเชื่อมั่นที่อยากให้ประชาชนทำตามมาตรการลดลง ธุรกิจเองเนี่ยหลัง ๆ เขาก็ไม่เชื่อ เปิดประเทศเปิดร้านค้าได้ แต่เดี๋ยวจะปิดอีกหรือเปล่า? ร้านอาหารเวลาเขาสต็อกของต้นทุนเยอะมาก นี่เป็นบทเรียน เป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนที่ทุกท่านพูดเรื่องข้อมูล”
(ดร.ชญาวดี ชัยอนันต์)
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธปท. มองว่าข้อมูลมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดนโยบาย ซึ่งธปท.มีหน้าที่ 2 ด้าน คือประเมินกับประมาณ ประเมินคือเกิดขึ้นมาอย่างไร ประมาณคือข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ดังนั้นข้อมูลที่ต้องการมากคือจำนวนเตียงเพราะเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นความรุนแรงของปัญหา แม้จะพบแหล่งข้อมูลแล้ว แต่ก็เข้าไม่ถึงเพราะไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ อีกส่วนคือความไม่เพียงพอ เช่นมาตรการควบคุมพื้นที่ซึ่งแบ่งเป็นสีต่างๆ แต่ละสีมีการควบคุมกิจกรรมเสณาฐกิจที่แตกต่างกัน ธปท.ต้องการข้อมูลว่าแต่ละพื้นที่มีผลกระทบอย่างไร เพื่อกำหนดแนวทางการช่วยเหลือเยียวยา แม้จะหาข้อมูลมาได้ แต่เมื่อไม่มีข้อมูลเตียงไม่รู้สภาพปัญหา ก็ทำข้อเสนอนโยบายได้ไม่สุด
ฐิตินบ โกมลนิมิ ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) ให้มุมมองด้านการสื่อสารกับสังคมว่า วิกฤติโควิดเป็นเรื่องที่มีความคลุมเครือมาโดยตลอด ตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงขณะนี้เป็นการสื่อสารที่อยู่บนความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจของสังคม เมื่อนโยบายด้านสุขภาพกลายเป็นความมั่นคง คนที่ถือธงนำแทนที่จะเป็นแพทย์ กลับเป็นนายทหารที่อยู่ในศบค.หรือทุกคณะกรรมการเป็นทหารและให้ทหารมีอำนาจในการตัดสินใจ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากในสังคมไทยขณะนี้
ฐิตินบกล่าวว่า ช่วงเดือน กรกฎาคม 2563 ไทยพีบีเอสร่วมกับสื่อหลายหน่วยงานจัดเวทีพูดเรื่องการรับมือกับการระบาดระลอก 2 ซึ่งทำให้วิเคราะห์ได้ว่าหากจะเกิดจะมีพื้นที่ 15 จังหวัด กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังก็บอกชัดเจนว่ามีชุมชนแออัด แรงงานต่างด้าว สื่อสารเรื่องนี้ออกไป กระทั่งเกิดการระบาดระลอกสองในเดือนตุลาคม ทั้งที่มีข้อมูลการเตือนอยู่
ในฐานะสื่อมวลชน สิ่งที่น่ากังวลต่อกระบวนการสร้างความเข้าใจของประชาชนคือการมีช่องทางของข้อมูลข่าวสารจากภาครับเพียงช่องทางเดียว ฐิตินบมองในประเด็นนี้ว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสื่อไม่สามารถเข้าถึงการสื่อสารของกระทรวงสาธารณสุข ของกองระบาดวิทยา ทุกคนไม่พูดอะไรเลย ให้ฟังเมสเสจจากศบค.เท่านั้น ในขณะที่มีข้อสงสัย มีคำถามเกิดขึ้นมาก บางเรื่องสื่อก็ต้องหาข้อมูลจากต่างประเทศ หรืออาจจะมีแพทย์ที่อยู่นอกกระทรวงสาธารณสุขเพียงไม่กี่คนที่พอจะให้ข้อมูลได้ ลักษณะของการสื่อสารที่เกิดขึ้นจึงเป็นการสื่อสารให้เกิดความกลัว
(ฐิตินบ โกมลนิมิ)
“การสื่อสารแบบวันเมสเสจของกระทรวงสาธารณสุขก็ดี ศบค.ก็ดี เป็นการสื่อสารในลักษณะของการสร้างความกลัว ซึ่งไม่น่าเชื่อเลยว่ากรมควบคุมโรคไม่เอาบทเรียนการควบคุมโรคเอดส์มาเป็นบทเรียน ถ้าเราสื่อสารด้วยความกลัว เราจะไม่สามารถอยู่กับโรคได้ ทั้ง ๆ ที่โรคโควิดเป็นโรคที่รักษาได้ต่างจากเอดส์ที่รักษาไม่ได้ พอเราตรวจเอทีเคปุ๊บเราไม่รู้จะจัดการกับตัวเองยังไง มีความกลัวเต็มไปหมดเลย ทำให้ระบบสถานพยาบาลรับคนป่วยไม่ไหว ซึ่งมันก็เป็นผลอันยาวนานที่ระบบสุขภาพเนี่ยดึงอำนาจสุขภาพไปบริหารจัดการจนหมด พอถึงจังหวะที่อยากให้ประชาชนดูแลตัวเองบ้างเนี่ยก็ไม่สามารถคืนอำนาจไปให้กับประชาชนได้ เราจะสื่อสารเรื่องนี้ยังไงให้อำนาจในการดูแลสุขภาพกลับไปอยู่ที่ประชาชนด้วย”
- 1285 views