ปลัดสธ.เตรียมเสนอที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ 18 มี.ค.นี้ผ่อนคลายมาตรการกักตัว Test and go ตรวจ RT-PCR รวมทั้งเสนอแผน Endemic approach ระยะเวลา 4 เดือน ชี้หากสถานการณ์ควบคุมได้ ไวรัสไม่กลายพันธุ์รุนแรง เข้าสู่โรคประจำถิ่น อาจนำไปสู่การผ่อนคลายถอดหน้ากากอนามัยบางพื้นที่ เช่น สวนสาธารณะ คนป่วยยังต้องใส่แมสก์ เป็นต้น
กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณีกระทรวงสาธารณสุขเตรียมเสนอผ่อนคลายมาตรการในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ วันที่ 18 มี.ค.2565 ทั้งมาตรการการกักตัว การตรวจ RT-PCR รวมทั้งแผนเตรียมพร้อมออกสู่โรคระบาด เพื่อเข้าสู่โรคประจำถิ่น และคำถามที่ว่า ตกลงประเทศไทยจะผ่อนคลายมาตรการสวมหน้ากากอนามัยได้เมื่อไหร่ ซึ่งมีข่าวว่า อาจผ่อนคลายให้ถอดหน้ากากอนามัยได้ในบางพื้นที่ แต่ไม่ใช่เร็วๆนี้
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงการเสนอมาตรการผ่อนคลายต่อที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ ว่า ในการประชุมศบค.ชุดใหญ่มีการนัดหมายวันที่ 18 มี.ค. นี้ ซึ่ง สธ.เตรียมเสนอผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศระบบไม่กักตัว Test and go เพื่อให้เกิดความคล่องตัวทางเศรษฐกิจ จากเดิมกำหนดว่าผู้เดินทางจะต้องมีผลตรวจ RT-PCR ใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางเข้ามา เมื่อมาถึงแล้วให้ตรวจ RT-PCR ซ้ำอีกครั้งทันที
ทั้งนี้ สธ.จะมีการเสนอว่า การตรวจ RT-PCR ใน 72 ชั่วโมงก็จะไม่จำเป็นแล้ว ปรับให้มาทำครั้งที่ 1 เมื่อเดินทางเข้าถึงไทย และให้ตรวจ ATK ซ้ำอีกครั้งในวันที่ 5 ของการเดินทางมาถึง ขณะที่ เงินประกันสุขภาพผู้เดินทางจะกำหนดลดลงจาก 50,000 ดอลลาร์เหลือ 10,000 ดอลลาร์ ตรงนี้คำนวณจากค่าเฉลี่ยการรักษาพยาบาล แต่ตอนนี้โรคเบาลงแล้วจากเดิมที่เราเฉลี่ยค่ารักษา 1 ล้านบาทต่อราย ตอนนี้ก็เหลือเพียง 2 หมื่นบาทต่อราย
ส่วนเรื่องแผนปรับโควิด-19 ในช่วง Endemic approach ตามที่ สธ.ได้วางแผนไว้ เนื่องจากการจะเข้าสู่โรคประจำถิ่นจะมีผลต่อการควบคุมโรค การรักษา สังคมและกฎหมาย ดังนั้น ศบค.จะต้องรับทราบและดูแลเรื่องสังคมกับกฎหมาย ส่วนเรื่องการแพทย์ได้รับการสนับสนุนให้การแพทย์นำอยู่แล้ว โดยเราต้องพิจารณาทางสังคมและการแพทย์ให้สมดุลกัน เนื่องจากเราออกกฎหมายหลายสิบฉบับในช่วงการระบาด ฉะนั้นต้องปรับกฎหมายเข้าสู่ปกติ เช่น พรก.ฉุกเฉิน ทางรัฐบาลเตรียมการปรับเป็น พรบ.โรคติดต่อในภาวะฉุกเฉิน โดยเตรียมไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว เพื่อให้สอดรับกับแผนที่จะทำให้โควิดเป็น Post Pandemic
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า ระยะก้าวเข้าสู่โรคประจำถิ่นมีกรอบเวลา 4 เดือน แบ่งออกเป็นระยะ เรียกว่า 3 บวก 1 เราจะทำให้เกิดเป็น Post Pandemic ที่ไม่มีการระบาดใหญ่แล้ว และอยู่ในช่วงปลอดภัย ส่วนการทำให้เป็น Endemic เราอาจต้องดูการประกาศจากองค์การอนามัยโลก(WHO) ว่าจะเริ่มได้เลยหรืออย่างไร แต่ทั้งหมดต้องอยู่ในเงื่อนไขว่า ไวรัสไม่กลายพันธุ์รุนแรงเข้ามา ต้องไม่มีอะไรเข้ามาอีก โดยต้องทำแบบมีขั้นตอน ค่อยๆ ทำ ไม่ใช่ว่า 4 เดือนแล้วจะถอดแมสก์ ถอดหน้ากากอนามัยได้เลย ไม่ต้องสวมใส่อีกก้ไม่ใช่
“เราตั้งเป้าหมายว่า หากสามารถควบคุมสถานการณ์และอยู่ในการพ้นจากการระบาดใหญ่แล้ว พื้นที่แรก อย่างสวนสาธารณะจะเป็นแห่งแรกที่ไม่ต้องสวมหน้ากากเพื่อให้ชีวิตเป็นปกติ แต่ยังสนับสนุนให้คนสวมหน้ากากอยู่ โดยเฉพาะคนป่วย แต่คนทั่วไปก็จะผ่อนคลายได้บ้าง ส่วนกิจกรรมรวมกลุ่มก็อาจผ่อนคลายมากขึ้น เช่น กีฬา ฟุตบอล คอนเสิร์ต แต่ต้องมีมาตรการป้องกันคลัสเตอร์ใหญ่ๆ ” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.เปิดแผน 1 ก.ค.65 โควิดออกจากโรคระบาด เข้าสู่โรคประจำถิ่น)
เมื่อถามถึงสถานการณ์การระบาดขณะนี้ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้เป็นไปตามที่เราวางฉากทัศน์ไว้ว่าช่วงกลางเดือน มี.ค. การติดเชื้อจะเริ่มชะลอตัว แต่จะไม่ลดลงฮวบ เนื่องจากการเราใช้มาตรการคล้ายการกั้นน้ำ ที่น้ำค่อยๆ เอ่อล้นและเริ่มลดลง สำหรับสายพันธุ์โอมิครอนข้อมูลจากนักวิชาการ รพ.ศิริราช และต่างประเทศระบุว่าอยู่ในช่วงกลางๆ และกำลังจะเข้าขาลง เช่น สหรัฐฯ ก็กำลังเริ่มลดลง เนื่องจากวัคซีนเพิ่มและเชื้ออ่อนแรง รวมถึงติดเชื้อมากขึ้น ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ก็ติดเชื้อมากกว่าไทยทั้งยอดสะสมและติดเชื้อใหม่รายวัน ดังนั้น เมื่อเทียบกับต่างประเทศไทยถือว่าอยู่ในสถานการณ์ค่อนข้างดี
“ตอนนี้ดูเหมือนว่าโรคจะแรง เพราะตัวเลขจำนวนติดเชื้อ แต่เราจะดูเฉพาะตรงนี้ไม่ได้ เมื่อก่อนเรารู้โรคไม่มากจึงใช้ตัวเลขติดเชื้อ ผู้ต้องนอน รพ. ผู้เสียชีวิต แต่ตอนนี้รู้จักโรคมากขึ้น มีอาวุธพร้อมแล้ว ดังนั้น เราต้องมองมากกว่ามิติการระบาด ไม่ใช่เพียงตัวเลขติดเชื้อรายวัน แต่ต้องมองการครอบคลุมวัคซีน ระบบบริการ มองตัวเชื้อและลดลงความรุนแรงลง ซึ่งขณะนี้เราก็พยายามควบคุม และออกมาตรการเดินหน้าลดความรุนแรง ลดการเสียชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 ซึ่งการรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด อย่างบูสเตอร์โดส เป็นสิ่งสำคัญมาก” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
- 1516 views