ต้นเดือนมีนาคมยอดผู้ติดเชื้อรายวันของเกาหลีใต้อยู่ที่ 200,000 รายติดต่อกันหลายวันเนื่องจากเชื้อ Omicron ที่แพร่ระบาดได้ง่ายยังผลให้มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งนี่ไม่ใช่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเกาหลีใต้เพียงประเทศเดียวเท่านั้น แต่ยังเกิดคล้ายๆ กันในไทยที่ในช่วงเดียวกัน "ว่ากันว่า" และ "เอาเข้าจริง" มีผู้ติดเชื้อหลักแสนคนขึ้นไป
ถึงไม่ใช่สถานการณ์เฉพาะที่เกิดกับเกาหลีใต้เท่านั้น สิ่งที่ทำให้เกาหลีใต้เป็นกรณีที่โดดเด่นกว่าประเทศอื่นๆ คือ การเปลี่ยนท่าทีจากที่เคยเข้มงวดกับการควบคุมการระบาด โดยใช้การติดตามการสัมผัสกับผู้ติดเชื้ออย่างแข็งขัน การให้ความร่วมมือของประชาชนอย่างเต็มที่เพื่อควบคุมการระบาด เป็นเช่นนี้ตั้งแต่การระบาดเริ่มต้นใหม่ๆ
แต่แล้วเมื่อ Omicron เข้ามา เกาหลีใต้ก็ปล่อยตัวเองแบบ free fall เหมือนกับไม่เคยเข้มงวดมาก่อน แถมยังผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด แม้ว่การติดเชื้อจะสูงเป็นประวัติการณ์ มากกว่าช่วงใดๆ นับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19
แต่จริงๆ แล้วช่วงแรกที่ Omicron เข้ามาถึงเกาหลีใต้ รัฐบาลสั่งมาตรการควบคุมใหม่ เช่น เคอร์ฟิวเวลา 21.00 น. สำหรับร้านอาหารที่กำหนดในเดือนธันวาคม 2564 โดยมีกฎการเว้นระยะห่างทางสังคมอื่นๆ เพื่อชะลอคลื่น Omicron เมื่อเกิดครั้งแรก เคอร์ฟิวนี้ถูกขยายออกไปในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันที่เกาหลีใต้พบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่สูงเป็นประวัติการณ์
แต่หลังจากนั้นมัน "สูงเป็นประวัติการณ์" ไม่หยุดจนกระทั่งถึงหลัก 100,000 รายต่อวันซึ่งเป็นเรื่องเหลือเชื่อสำหรับประเทศที่พยายามคุมไม่ให้มีผู้ติดเชื้อเกินหลักหมื่นมาตลอด (บางช่วงแค่หลักร้อย) แต่พอถึงกลางเดือนที่ทะลุหลักแสนนั่นเอง เกาหลีใต้กลับประกาศผ่อนคลายมาตรการเคอร์ฟิวเสียอย่างนั้น จากนั้นผู้ติดเชื้อก็ทะยานขึ้นเรื่อยๆ จาก 100,000 เป็น 200,000 และรัฐบาลก็ยังเตือนเสียอีกว่าอาจจะทะลุ 300,000 รายต่อวันด้วยซ้ำ
ก่อนการมาถึงของ Omicron เกาหลีใต้ได้ชื่อว่ามีระเบียบการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพมาก เรียกว่า K-Quarantine มันเคยเป็นความภาคภูมิใจของคนในชาติว่าสามารถทำให้เกาหลีใต้ "ปราบ" การระบาดในช่วงแรกของการระบาดใหญ่ได้ โดยรวมแล้วมันก็ไม่ได้ต่างจากการกักตัวและควบคุมโรคของประเทศอื่นๆ เพียงแต่มันสะท้อนถึงความมี "วินัยจัด" ของคนเกาหลีใต้ในการช่วยกันควบคุมการระบาดและตอบสนองต่อคำสั่งของภาครัฐอย่างไม่อิดออด แม้แต่การทำในสิ่งที่ดูจะเกินกว่าเหตุอย่างเช่นประณามหรือตามล่าคนที่ละเมิดคำสั่งควบคุมโรคของรัฐเพื่อประจานให้อับอายก็มี เรื่องนี้สะท้อนถึงความมีวินัยและความเป็นสังคมที่เน้น "ความรับผิดชอบร่วมกัน" ของคนเกาหลีในแง่มุมหนึ่งด้วย แต่มันก็สะท้อนถึงความไม่ผ่อนปรนของผู้คนในสังคมต่อผู้ที่ "ทำให้ส่วนรวมเสียหาย" (1)
ประธานาธิบดี มูน แจ-อิน ของเกาหลีใต้เคยกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันครบรอบปีที่ 3 ของการเข้ารับตำแหน่งว่า “K-Quarantine ได้กลายเป็นมาตรฐานโลก ความสูงส่งของชาติและความภาคภูมิใจของชาติของเกาหลีเติบโตขึ้นกว่าที่เคย เป็นพลังของผู้คนที่ในช่วงเวลาคราวเคราะห์ได้แสดงให้เห็นถึงการอุทิศตัวของการกักกัน เจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ การมีส่วนร่วมโดยสมัครใจของอาสาสมัครจำนวนมาก และจิตวิญญาณแห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและความร่วมมือ เราได้ปกป้องแนวหน้ากักกันอย่างปลอดภัยด้วยพลังของประชาชนและชนะสงครามไวรัส เมื่อสถานการณ์ภายในประเทศเข้าสู่ขั้นเสถียรภาพ มันได้กลายเป็นชีวิตประจำวันใหม่ที่ซึ่งการกักกันและชีวิตประจำวันอยู่ร่วมกัน” (2)
ประธานาธิบดี มูน แจ-อิน มีสุนทรพจน์ในเดือนพฤษภาคม 2563 (หรือ 2020) ในขณะที่เขาแสดงความชื่นชมความสำเร็จของ K-Quarantine นั้น มันมีจุดโหว่ที่ดำมืดคือความเข้มงวดจนเกินไปทำลายชีวิตของผู้คนจำนวนหนึ่ง จนกระทั่ง พฤษภาคม 2563 นั่นเอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของเกาหลีใต้ต้องเลิกใช้ "ระบบการเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใส" ระบบนี้มีจุดประสงค์เพื่อเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงการระบาดและการแพร่กระจายที่อาจเกิดขึ้น โดยผู้ป่วยยืนยันรายใหม่จะถูกประกาศตามอายุ เพศ การเคลื่อนไหว ละแวกบ้าน และแม้กระทั่งบางครั้งนามสกุลและอาชีพ
The New York Times รายงานว่าเกาหลีใต้มีการเชื่อมโยงระบบเก็บข้อมูลประชาชนออนไลน์ในเกือบทุกด้าน แต่การเก็บข้อมูลครอบคลุมขนาดนี้ทำให้วัฒนธรรมการล่วงละเมิด/กลั่นแกล้งทางออนไลน์เติบโตขึ้นโดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า doxxing คือการขุดคุ้ยและเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นอันตราย ซึ่งการทำแบบนี้โดยพวก "เกรียนออนไน์" หรือ troll มักกล่าวกันว่าเป็นสาเหตุในการฆ่าตัวตายของดารา K-pop หลายคนที่ถูกขุดคุ้ยข้อมูลมาเผยแพร่เพื่อกลั่นแกล้งหรือทำให้อับอายในแพลนฟอร์มออนไลน์ต่างๆ (1) แม้แต่ผู้ติดเชื้อและเข้าระบบ K-Quarantine ก็พบสถานการณ์เดียวกัน เพียงแต่พวกเขาไม่ได้ถูกล้วงข้อมูลแบบ doxxing เพราะข้อมูลเกือบทั้งหมดถูกรัฐบาลออกมาแฉเอง
ระบบอันเข้มงวดของ K-Quarantine เริ่มผ่อนปรนลงไปอีก หลังจากการระบาดในพื้นที่อิแทวอน (Itaewon) ของกรุงโซล ซึ่งเป็นย่านสถานบันเทิงและมีบาร์เกย์หลายแห่ง การติดเชื้อในพื้นที่นี้นำไปสู่การ doxxing และการบุกรุกความเป็นส่วนตัวอื่นๆ ต่อผู้ติดเชื้อ (4) ซึ่งเป็นการคุกคาม 2 ด้าน เพราะในแง่หนึ่งเป็นทั้งการเปิดเผยข้อมูลของผู้ติดเชื้อและผู้ใกล้ชิดผู้ติดเชื้ออย่างโจ่งแจ้งเกินไป และในแง่หนึ่งเปิดเผยรสนิยมทางเพศของผู้ไปเที่ยวบาร์ในแถบอิแทวอน ทำให้ผู้ถูกเปิดเผยชื่อเผชิญกับการต่อต้านหรือกลั่นแกล้ง เพราะสังคมเกาหลียังไม่เปิดรับความหลากหลายทางเพศของกลุ่ม LGBTQ มากนัก กรณีนี้ทำให้ K-Quarantine ต้องสั่นคลอนลงไปอีก แต่กระนั้นก็ตามโดยรวมแล้วเกาหลีใต้ก็ยังถือว่ามีมาตรการที่รัดกุมในการควบคุมการระบาด
ด้วยความเข้มงวดของ K-Quarantine รวมถึงการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุม ทำให้การติดเชื้อในเกาหลีใต้เกือบจะเป็นเส้นกราฟที่แบนราบด้วยอัตราติดเชื้อเพียงหลักร้อยหรือไม่กี่พันในบางช่วง และไม่ต้องใช้มาตรการล็อคดาวน์จนส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ จนกระทั่งการมาถึงของ Omicron ยอดผู้ติดเชื้อรายวันของเกาหลีใต้ก็สูงถึง 8,000 รายเป็นครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2564 จึงมีการนำเอา K-Quarantine ที่เข้มงวดขึ้นกลับมาใช้อีกครั้ง
แต่มันทำอะไรเชื้อ Omicron แทบไม่ได้เพราะศักยภาพในการติดเชื้อที่เร็วและแรงของมัน ผลก็คือหลังจากเดือนธันวาคม 2564 ย่างเข้าสู่ช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 การติดเชื้อในเกาหลีใต้รุนแรงอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทุบสถิติแบบรายวันหรือรายสัปดาห์ จากหลักหลายพันเป็นครั้งแรก เป็นหลักหมื่นเป็นครั้งแรก และพบกับหลักแสนและสองแสนเป็นครั้งแรก การติดเชื้อที่หนักหน่วงนี้กระทบต่อนโยบายหนึ่งของ K-Quarantine คือ "บัตรผ่านผู้ฉีดวัคซีน" (Vaccine Pass) ซึ่งเป็นมาตรการที่ถูกประชาชนจำนวนไม่น้อยฟ้องร้องรัฐว่าใช้มาตรการไม่เป็นธรรมต่อผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน แต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ รัฐบาลต้องเลิกมาตรการนี้ไปเพราะการติดเชื้อสูงทำให้บุคคลากรไม่เพียงพอที่จะมาตรวจสอบว่าใครติดเชื้อแล้วหรือฉีดวัคซีนแล้ว
เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่พบกับการติดเชื้อหนักหน่วงเพราะ Omicron อัตราการเข้ารับการรักษาพยาบาลกลับไม่สูงนักในเกาหลีใต้ โดย ณ สัปดาห์ที่แล้ว มีอัตราการจัดหาเตียงสำหรับผู้ป่วยวิกฤตน้อยกว่าร้อยละ 40 จากตัวเลขทั่วประเทศ และผู้ป่วยโควิด-19 กำลังรับการรักษาที่บ้านมากขึ้น และการยกเลิกการติดตามการสัมผัสที่เข้มงวดและใช้กำลังคนมหาศาลของ K-Quarantine นั่นหมายความว่าพวกเขากำลังทำลายรากฐานของ K-Quarantine ลงนั่นเอง สะท้อนถึงการพาตัวเองออกจากการระบาดใหญ่มุ่งไปสู่ภาวะโรคประจำถิ่น ซึ่งทางการเกาหลีใต้ก็ประกาศเจตนารมณ์ในเรื่องนี้ด้วย (5)
แม้จะเจอหนักแบบไม่เคยเจอมาก่อน รัฐบาลเกาหลีใต้ยังผ่อนปรน K-Quarantine แบบไม่เคยมีมาก่อน ไม่ใช่เพราะต้องการเข้าสู่ภาวะโรคประจำถิ่นเท่านั้น แต่เพาะมันมีเงื่อนไขทางการเมืองเข้ามาแทรกพอดี นั่นคือการเลือกตั้งประธานาธิบดี เกาหลีใต้ต้องหาวิธีทำให้ผู้ป่วยโควิด-19 สะสมที่อาจจะมากถึงหนึ่งล้านคนในเวลานั้นสามารถลงคะแนนเสียงได้ มันเป็นความวุ่นวายที่ประจวบเหมาะกับที่เกาหลีใต้สิ้นสถานะประเทศที่มีผู้ติดเชื้อน้อยที่สุดแห่งหนึ่งกลายเป็นประเทศที่มีผู้ป่วยสูงสุดประเทศหนึ่งของโลก
แม้ว่าจะมุ่งไปสู่ภาวะโรคประจำถิ่น แต่การเลือกตั้งอาจทำให้การติดเชื้อหนักเกินกว่าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้น มาตรการที่ควบคุมการติดเชื้อที่เข้มงวดก็ยังต้องใช้กันต่อไป โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติระบุว่า มีการส่งเจ้าหน้าที่การเลือกตั้งสวมอุปกรณ์ป้องกัน รวมถึงชุดเต็มตัวและแว่นตานิรภัยไปอำนวยความสะดวกให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ติดเชื้อโควิด-19 หรือติดต่อกับผู้ติดเชื้อสามารถลงคะแนนได้ โดยจะทำการฉีดสเปรย์ฆ่าเชื้อมือและสวมถุงมือก่อนการลงคะแนนเสียง ซึ่งผู้ติดเชื้อหรืออยู่ในเขตกักกันสามารถเดินเข้าหรือนั่งแท็กซี่หรือรถพยาบาลที่สำนักงานท้องถิ่นจัดหาให้ไปยังหน่วยเลือกตั้งเพื่อลงคะแนนเสียงในคูหาที่แยกออกมาได้ โดยคนกลุ่มนี้จะได้รับการจัดสรรเวลา 1 ชั่วโมงเมื่อสิ้นสุดวันที่สองของการลงคะแนนล่วงหน้าและ 1 ชั่วโมงครึ่งในวันสุดท้ายของการลงคะแนน (6)
มาตรการเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าเกาหลีใต้จะกลับไปเข้มงวดอีก มันเป็นมาตรการเฉพาะหน้าเพื่อรักษาสิทธิ์ของผู้ป่วยเท่านั้น หากเป็นประเทศตะวันตกที่เคลื่อนตัวไปสู่ภาวะโรคประจำถิ่นแล้ว การเลือกตั้งคงไม่ต้องใช้มาตรการถึงขนาดนี้ คงจะปล่อยให้เลือกตั้งกันตามปกติหรือแม้แต่ไม่มีการสวมหน้ากากในหน่วยเลือกตั้งด้วยซ้ำ
เป็นที่น่าสังเกตว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้มีการกล่าวถึงนโยบายเกี่ยวกับการระบาดน้อยและการโจมตีรัฐบาลเรื่องการรับมือการระบาดก็ไม่ค่อยมี ผู้สมัครชิงตำแหน่งส่วนใหญ่เน้นหนักไปที่แนวทางการบริหารประเทศโดยรวมมากกว่า โดยเฉพาะนโยบายการต่างประเทศและทิศทางเศรษฐกิจมีผลต่อทัศนะของผู้คนพอสมควร ดังจะเห็นได้จากผู้ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้มีชื่อเสียงในฐานะผู้มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม และทันทีที่ชนะการเลือกตั้งก็กล่าวถึงความสัมพันธ์กับจีนและญี่ปุ่นในทันที สอดคล้องกับสถานการณ์การเมืองโลกในเวลานี้ที่โยงใยมาถึงความมั่นคงในเอเชียตะวันออกอย่างมาก ขณะที่การระบาดใหญ่ค่อยๆ คลายความวิตกในหมู่ประชาชนแล้ว อันที่จริงหนึ่งในผู้สมัครคนหนึ่งที่มีผลงานดีมากในการจัดการการระบาดในท้องถิ่น กลับไม่ได้รับเลือก ซึ่งน่าจะสะอนความคนเกาหลีใต้มุ่งไปที่วิกฤตทางการเมือง (ระหว่างประเทศ) มากกว่า
แต่ปัญหาของเกาหลีใต้คือเกาหลีใต้อยู่กับ K-Quarantine มานาน และประชาชนเคยชินกับวินัยที่เข้มงวดจนละวางไม่ได้ นี่คือโจทย์ที่รัฐบาลจะต้องแก้ไข เพราะแม้ว่ารัฐบาลจะประกาศผ่อนปรน K-Quarantine แบบ "สุดๆ" แล้ว แต่ดูเหมือนว่าประชาชนจะยังลังเลกับการปรับตัวให้เข้าสู่ภาวะโรคประจำถิ่น
พูดง่ายๆ คือ "คนเกาหลีติดกับนิวนอร์มอลของการระบาดใหญ่ยาวนานจนเกินไป" นั่นเอง
อ้างอิง
1. Sang-Hun, Choe. (19 September 2020). "In South Korea, Covid-19 Comes With Another Risk: Online Bullies". The New York Times.
2. Hwan Ji, Kim (10 May 2020). "President Moon "K-Quarantine that has become the world standard, the greatness of the people... The essence, promotion to the Korea Centers for Disease Control and Prevention". news.khan.co.kr (in Korean).
3. Robinson, Britt (22 May 2020). "K-Quarantine: The Condemnation or Resurgence of LGBTQ Rights in South Korea". The Diplomat.
4. Ji-dam, Kwon; Kee-won, Ock (14 May 2020). "S. Korea to change guidelines for information disclosure regarding COVID-19 patients". Hankyoreh.
5. Borowiec, Steven. (6 March 2022 ). "Commentary: Why is South Korea easing restrictions when COVID-19 cases are at an all-time high?". CNA.
6. "Early voting for South Korea president begins in shadow of COVID-19" (4 March 2022). Reuters/ga via CNA.
ภาพ Government of S.Korea: http://www.gyeongju.go.kr
- 3646 views