บอร์ด สปสช. เห็นชอบอัตราจ่ายชดเชยค่าบริการผู้ป่วยโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอกที่มีไม่มีภาวะเสี่ยงและแยกกักตัวที่บ้าน พร้อมมอบหมายให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการให้ร้านยาเป็นจุดให้บริการและกระจายยาฟ้าทะลายโจร และยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) อีกช่องทางหนึ่ง
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) วันที่ 7 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา ได้รับทราบการปรับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายชดเชยค่าบริการโควิด-19 ที่มีไม่มีภาวะเสี่ยงแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน (OP SELF ISOLATION: OPSI) อัตราการจ่ายดังนี้
1. ค่าบริการดูแลรักษาฯ จ่ายชดเชยในลักษณะเหมาจ่าย 1,000 บาท/ราย ซึ่งประกอบด้วย ค่าบริการให้คำแนะนำการแยกกักตัวที่บ้าน การให้ยาที่เป็นการรักษาโรคโควิด-19 รวมค่าจัดส่ง ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร หรือยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ตามแนวทางที่กรมการแพทย์กำหนด รวมถึงยาตามอาการอื่นๆ การประสานติดตามอาการเมื่อให้การดูแลครบ 48 ชั่วโมง และการจัดระบบส่งต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องส่งต่อ
2. ค่าบริการสำหรับการให้คำปรึกษาหรือการดูแลรักษาเบื้องต้นเมื่อได้รับคำปรึกษาจากผู้ป่วยโควิด-19 หลังให้การดูแลครบ 48 ชั่วโมงไปแล้ว เมื่อผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลง และหรือให้ปรึกษาอื่นๆ จ่ายชดเชยในลักษณะเหมาจ่าย 300 บาท/ราย สำหรับหน่วยบริการที่ให้การดูแลตามข้อ 1
ทั้งนี้การปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าวสืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว เมื่อปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา กรมการแพทย์ร่วมกับประธานราชวิทยาลัยสาขาต่างๆ ตลอดจนผู้แทนหน่วยบริการ จึงได้จัดประชุมหารือจัดทำแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย การดูแลรักษา การให้บริการผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอก และมอบหมายให้ สปสช.หารืออัตราจ่ายชดเชยการให้บริการร่วมกับ 4 กองทุนสุขภาพให้มีแนวทางการจ่ายชดเชยเดียวกัน
และที่ประชุมระหว่างสปสช. กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จึงได้กำหนดอัตราดังกล่าว เพื่อจัดบริการให้แก่ผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะเสี่ยงแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้แสดงความกังวลว่าการจัดบริการในลักษณะผู้ป่วยนอกอาจจะไม่สามารถครอบคลุมการให้บริการผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากได้ เพราะที่สุดแล้วก็จะมีคอขวดที่ผู้ป่วยต้องเดินทางมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลอยู่ดี และมีการเสนอให้ร้านยาต่างๆ เข้ามาช่วยเป็นจุดกระจายยาฟ้าทะลายโจร และยาฟาวิพิราเวียร์ อีกทางหนึ่งเพื่อให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงบริการให้คำปรึกษาและยามากขึ้น โดยที่ประชุมคณะกรรมการ สปสช. ได้มอบหมายให้สำนักงาน สปสช. ไปดำเนินการศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ คลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 103 views