ประธานชมรมผู้อำนวยการ รพ.สต. (ประเทศไทย) เผยแผนเตรียมความพร้อมถ่ายโอนรพ.สต. มั่นใจถึงจะถ่ายโอนไปก็ยังสามารถควบคุมโรคระบาดได้ พร้อมย้ำ! บุคลากรถ้าหากยังไม่มั่นใจให้ขอช่วยราชการก่อนสัก 1 ปี อย่าเพิ่งรีบย้ายออกจากพื้นที่ และ ขอ สธ.ออกคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนให้เสร็จทัน 1 ต.ค.65
ภายหลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง หลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ลงนามโดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ซึ่งกรณีนพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข (กมธ.สาธารณสุข) วุฒิสภา นั้นเป็นห่วงการถ่ายโอนรพ.สต.ไปอบจ.ว่า อาจยังไม่พร้อมจริงๆ อย่างการเตรียมพร้อมระบบให้ไร้รอยต่อ ยิ่งในช่วงโควิดระบาด และการสื่อสารให้ชัดเจนกรณีกรอบการจ้างงานท้องถิ่นต้องไม่เกินเงื่อน 40%
จากประเด็นนี้ Hfocus ได้รับคำตอบจาก "นายสมศักดิ์ จึงตระกูล" ประธานชมรมผู้อำนวยการ รพ.สต. (ประเทศไทย) ให้สัมภาษณ์เผยข้อมูลว่า เมื่อปลายปี '64 มี อบจ. ทั่วประเทศยื่นส่งหนังสือขอรับการประเมินความพร้อมรับถ่ายโอน รพ.สต. ต่อคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ ทั้งหมด 49 อบจ. โดยผ่านเกณฑ์การประเมินระดับดีเลิศ 45 อบจ. และผ่านเกณฑ์ในระดับดีมาก 4 อบจ. ซึ่งระดับดีมาก อบจ. สามารถรับ สอน./รพ.สต. ได้ไม่เกิน 60 แห่ง และมี รพ.สต. ถ่ายโอนไปอบจ. ในรอบแรก 1 ต.ค. 2565 (ปีงบประมาณ 2566) ข้อมูล ณ วันที่ 7 ธันวาคม 2564 รวม 3,384 แห่ง มีจำนวนบุคลากรที่สมัครใจถ่ายโอน จำนวน 22,265 คน ซึ่งเป็นทั้งข้าราชการ และลูกจ้างทุกประเภท ได้แก่ พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างเงินบำรุง ลูกจ้างเหมาบริการ
ซึ่งก่อนการถ่ายโอน ส่วนราชการกระทรวงสาธารณสุข จะต้องออกคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนให้เสร็จภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ก่อน ประกอบกับวันที่ 1-2 ตุลาคม 2565 นั้นตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์ จึงต้องถ่ายโอน ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2565
เมื่อถามถึงการเตรียมความพร้อมในการถ่ายโอน รพ.สต.อย่างไร นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของ อบจ. มีอำนาจหน้าที่เตรียมความพร้อมในเรื่องของการปรับปรุงโครงสร้างระดับกอง สธ. เพื่อให้มีกลุ่มงาน/ฝ่าย ให้สอดคล้องกับภารกิจ และปริมาณงาน จัดเตรียมบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของ สอน./รพ.สต. ถ่ายโอน รวมถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาสาธารณสุขระดับพื้นที่ (กสพ.) เพื่อประสานงานและบูรณาการทำงานกับคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ทำการประชุมจัดทำแผนพัฒนาสุขภาพ ให้ครอบคลุม 5 มิติ รวมทั้งแผนพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐาน (สสม.) แผนพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ โดยในระยะ 5 ปีแรกมีข้อยกเว้น ให้นำแผนพัฒนาสาธารณสุขของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) มาปรับปรุง และ อบจ. ประกาศใช้
ซึ่ง อบจ. ทั้ง 49 แห่ง จะทำการพิจารณาประกาศรายชื่อ สอน./รพ.สต. ที่ อบจ. ขอรับถ่ายโอน และประกาศรายชื่อบุคลากรที่สมัครใจถ่ายโอน รวมถึงบุคลากรที่ขอช่วยราชการด้วย จากนั้นก็จะได้มีการจัดเตรียมเรื่องการสรรหาบุคลากรให้ครบตามกรอบโครงสร้างอัตรากำลัง สอน./รพ.สต. ตามขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ (S M L) และจัดทำคำของบประมาณไปที่ส่วนกลาง ทั้งประเภทงบฯ อุดหนุนทั่วไปให้แก่ สอน./รพ.สต. ถ่ายโอน เป็นเงินงบประมาณสนับสนุนตามขนาด S M L จำนวน 1 ล้าน / 1.5 ล้าน / 2 ล้าน และงบฯ อุดหนุนเฉพาะกิจ อาทิ ครุภัณฑ์ และสิ่งก่อสร้าง ซึ่ง อบจ. ทั้ง 49 แห่ง ได้จัดทำคำของบประมาณตามกระบวนขั้นตอนทางวิธีงบประมาณแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสำนักงบประมาณ
นอกจากนี้ อบจ. เองยังสามารถจัดทำแผนฯ เตรียมงบประมาณสนับสนุน สอน./รพ.สต. ถ่ายโอนเพิ่มเติม โดยการบรรจุไว้ในข้อบัญญัติงบฯ รายจ่ายประจำปี 2566 เพื่อที่จะสนับสนุนการจัดระบบบริการประชาชน หรือการปรุงปรุงภาพลักษณ์ สอน./รพ.สต. ถ่ายโอน ให้สง่างาม อาทิเช่น ป้าย รั้ว ห้องน้ำ ห้องส้วม ปรับปรุงอาคารการให้บริการ นอกจากนี้ อบจ. ยังต้องปรับปรุงแผนฯ กำลังคน 3 ปี ของ อบจ. ซึ่งบางแห่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จ หรือบางแห่งอยู่ระหว่างดำเนินการ แล้วจัดเตรียมแผนฯ การสรรหาบุคลากร รับย้าย รับโอน คัดเลือก สอบคัดเลือก สอบแข่งขัน บรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการ อบจ. ลง สอน./รพ.สต. ถ่ายโอน ให้เต็มตามกรอบโครงสร้างอัตรากำลัง S M L ภายใน 3 ปี ทั้งนี้จะดำเนินการได้เมื่อได้รับการจัดสรรอัตราตำแหน่งและเงินเดือนจากสำนักงบประมาณ ตามที่บัญญัติไว้ในคู่มือแนวทางถ่ายโอนฯ
ระหว่างนี้ อบจ. หลายแห่งได้ประสาน สสจ. / สสอ. ส่วนราชการผู้แทนของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดเตรียมความพร้อม สอน./รพ.สต. ถ่ายโอน และเตรียมการพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพ ระบบ IT (โปรแกรม Jhcis / Hos XP) เพื่อการเชื่อมต่อการใช้ข้อมูลสุขภาพจากระบบฐานข้อมูลกับ สสจ. / สปสช. / สธ. / กสถ. ให้สามารถใช้ฐานข้อมูลเดียวร่วมกันได้ เป็น Big Data และยังจัดเตรียมระบบ EMS เพื่อการส่งต่อ และพัฒนาเป็นศูนย์สั่งการการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งในส่วนนี้ อบจ. จะต้องจัดเตรียมเข้าแผนฯ บรรจุในข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีของ อบจ. ต่อไป
ทั้งนี้ สำหรับในส่วนกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในระดับจังหวัดไม่ว่าจะเป็น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ(สสอ.) และ โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) นั้น จะเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการระบบสุขภาพในฐานะโรงพยาบาลแม่ข่ายคู่สัญญาหลักตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
โดย สสอ. จะเป็นพี่เลี้ยง รพ.สต. และปรับบทบาทจากผู้ให้บริการ (Provider) เป็นผู้ควบคุมกำกับ (Regulater) และโรงพยาบาลในฐานะโรงพยาบาลแม่ข่ายคู่สัญญา สปสช. จะร่วมจัดระบบบริการให้เป็นไปตามนโยบาย ทั้งการสนับสนุนคน เงิน ของ วัสดุเวชภัณฑ์ยา การจัดระบบบริการสุขภาพ ภายใต้ พรบ.ระบบหลักประกันสุขภาพ พ.ศ. 2545
ในส่วนของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) รพ.คู่สัญญา จะต้องร่วมวางแผนพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ สอน./รพ.สต. ถ่ายโอน ให้เป็นไปตาม พรบ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 รวมถึงเตรียมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว (Fammed) เพื่อป้อนระบบบริการปฐมภูมิ การจัดเตรียมคู่มือมาตรฐานการให้บริการสุขภาพ แก่ อบจ. รพ.สต. ถ่ายโอน ตลอดจนการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ อบจ. เพื่อการควบคุมกำกับการจัดระบบให้บริการเวชกรรม การแพทย์ การพยาบาล ตามกฎหมายการประกอบวิชาชีพเวชกรรม กฎหมายการประกอบโรคศิลปะ กฎหมายสถานพยาบาล กฎหมายวิชาชีพ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีหน้าที่จัดเตรียมส่งมอบภารกิจ คน เงิน ของ ทรัพย์สิน อาคาร ที่ดิน สิ่งก่อสร้าง ก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2565 ทั้งนี้ไม่รวมหนี้สิน หรือการใดที่อยู่ระหว่างฟ้องร้อง มีปัญหาในข้อกฎหมาย
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการถ่ายโอนภารกิจฯ เรื่องของงบประมาณ ด้านบุคลากรที่ถ่ายโอนนั้น จะไม่กระทบต่อภาระงบประมาณ 40% งบบุคลากร อบจ. ที่เป็นหมวดเงินเดือน และค่าตอบแทน นั่นคืองบประมาณด้านบุคลากร ทั้งเงินเดือน และค่าตอบแทนที่ติดตัวติดตำแหน่งข้าราชการ เช่น เงินประจำตำแหน่ง เงินวิชาชีพ เงินตอบแทนพิเศษ พตส. เงินตอบแทน ฉ.10 /ฉ.11 เงินตอบแทนเสี่ยงภัยชายแดนใต้ รวมทั้งเงินที่ใช้ในการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งในระดับอาวุโส ระดับชำนาญการพิเศษ หรือระดับเชี่ยวชาญ ตาม Career path ในคู่มือแนวทางถ่ายโอนฯ โดยเป็นไปตามระเบียบการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น งบฯ นี้จะตามไปด้วยและได้รับสนับสนุนจากส่วนกลาง ซึ่งโครงสร้างอัตรากำลังคนและความก้าวหน้า บุคลากรถ่ายโอนได้กำหนดไว้ในคู่มือแนวทางถ่ายโอน ให้มีตำแหน่งข้าราชการ ตามขนาด รพ.สต. S M L อัตรา 7 คน / 12 คน / 14 คน จะได้รับการสนับสนุนจากส่วนกลางให้เต็มกรอบภายในระยะเวลา 3 ปี
การบริหารภารกิจถ่ายโอน รพ.สต. ไป อบจ. ครั้งนี้ จะยึดหลักการว่า ระบบบริการต้องดีกว่าเดิม และต้องไม่กระทบต่อการให้บริการ หากมีปัญหาข้อขัดข้องก็เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่ อปท. ต้องบริหารจัดการแก้ไข หรือหากเกินอำนาจก็ต้องรายงาน กกถ. เพื่อพิจารณาต่อไป โดยทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สำนักงบฯ / สปสช. / กสธ. / กสถ. สสจ. / อบจ. ต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ตามที่กำหนดไว้ในคู่มือแนวทางถ่ายโอนฯ
เมื่อถามต่อว่า มีอะไรจะฝากถึงบุคลากรที่ยังไม่ประสงค์ถ่ายโอน ยังไม่ตัดสินใจถ่ายโอนหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ก็ฝากให้ทุกคนอ่านศึกษาทำความเข้าใจคู่มือแนวทางการถ่ายโอน และศึกษาระเบียบการบริหารบุคคลส่วนท้องถิ่นเรื่องความก้าวหน้าตำแหน่งราชการ หากตอนนี้ถ้ายังไม่มั่นใจ ก็ให้ขอช่วยราชการใน รพ.สต. แห่งเดิมที่ถ่ายโอนไปก่อนสัก 1 ปี ตามที่คู่มือกำหนดแนวทางการช่วยราชการไว้ให้ แล้วค่อยตัดสินใจ อย่าเพิ่งรีบร้อนย้ายออกจากพื้นที่ไปส่วนราชการอื่น เพราะหากตัดสินใจภายหลังจะไม่ได้สิทธิประโยชน์เกื้อกูลในการนับอายุราชการและการใช้ผลงานเดิมเพื่อการประเมินเลื่อนระดับตำแหน่ง และฝากทำความเข้าใจว่าเราเป็นข้าราชการ อยู่ที่ไหนก็เป็นข้าราชการ ที่ต้องทำงานตามนโยบายรัฐ ซึ่งครั้งนี้การถ่ายโอน รพ.สต. ไป อบจ. เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลภายใต้กฎหมายกระจายอำนาจ พรบ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 เมื่อรัฐปรับทิศทางการบริหารราชการให้มีการถ่ายโอน เราก็มีหน้าที่ในฐานะข้าราชการที่ต้องปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดไว้ในคู่มือถ่ายโอน สอน./รพ.สต. ไป อบจ.
เมื่อถามต่อว่าถ้าหากถ่ายโอนไปแล้วการทำงานโรคระบาดโควิดจะมีปัญหาหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ถึงแม้น รพ.สต. จะถ่ายโอนไปสังกัด อบจ. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ก็ยังสามารถร่วมป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขได้ ภายใต้กฎหมาย พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ถือกฎหมาย ในการออกประกาศ คำสั่งฯ มาตรการเพื่อการควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งในระดับจังหวัดก็มีคณะกรรมการโรคติดต่อ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และ นพ.สสจ. เป็นรองประธาน
นั่นคือ ผู้ว่าฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมโรค ยังสามารถใช้อำนาจตามมติคณะกรรมการควบคุมโรค ภายใต้ พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อได้ อีกทั้งการถ่ายโอน รพ.สต. ไป อบจ. ครั้งนี้ ไม่ใช่ อบจ.รับภารกิจทุกอย่างไปทำหมด แต่ต้องบริหารจัดการร่วมกันภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่ได้บัญญัติให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติไว้แล้ว
"การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไป อบจ. ครั้งนี้ เป็นการดีที่ท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ และทรัพยากรพร้อม ได้เข้ามามีส่วนร่วมดูแลในการจัดระบบสุขภาพตอบสนองประโยชน์ประชาชน และนโยบายรัฐบาลช่วยกระทรวงสาธารณสุขในการจัดระบบสุขภาพ ที่ตอบสนองต่อปัญหาในพื้นที่ระดับจังหวัด" นายสมศักดิ์ กล่าว
ข่าวเกี่ยวข้อง
"หมอเจตน์" ห่วงถ่ายโอนรพ.สต.ไปอบจ.กรณีเงื่อน 40% จ้างบุคลากรของท้องถิ่น
รวมข่าวถ่ายโอน รพ.สต. สู่ ท้องถิ่น
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 2558 views