แพทย์รามาศิริราช เตือนสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิด “ลองโควิด” (Long-Covid) สำรวจพบหลังป่วยโควิด 3 เดือน พบเป็นลองโควิดถึง 16.1%

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยงานวิจัยที่ศึกษาปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงของอาการ “ลองโควิด” หรืออาการที่ยังคงหลงเหลือหลังจากติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งพบว่า การสูบบุหรี่เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนที่ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มโอกาสจะเกิดอาการ “ลองโควิด” (Long-Covid) ได้ในภายหลัง

โดยงานวิจัยชิ้นแรกทำการศึกษาที่ประเทศบังคลาเทศ ตีพิมพ์ในวารสาร BMJ Global Health เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยทำการสำรวจผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 14,392 ราย เพื่อศึกษาติดตามอาการลองโควิด และหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง พบว่าในระยะเวลา 3 เดือนหลังติดเชื้อ มีจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้กับอาการลองโควิด 16.1% 

“อาการลองโควิดที่พบ ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย หายใจลำบาก ไอ จมูกไม่ได้กลิ่น เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ และแน่นหน้าอก ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดอาการลองโควิด คือ เพศหญิง อายุน้อย อาศัยในชนบท ภาวะทุพพลภาพ และสูบบุหรี่ ผลการศึกษานี้สอดคล้องกับงานวิจัยของประเทศอิตาลี ซึ่งผลสำรวจพบว่า เพศหญิงและการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของภาวะลองโควิด” ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวว่า 

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และนายกสมาคมอุรุเวชช์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาวะ “ลองโควิด” เป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังวิตก และกำลังมีการศึกษาติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ในประเทศไทยมีการรายงานผู้ป่วยที่เป็น “ลองโควิด” ออกเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง มีทั้งที่มีอาการเล็กน้อยจนถึงอาการรุนแรงจนเสียชีวิต งานวิจัยสองชิ้นนี้เป็นงานแรก ๆ ที่พบว่า การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของอาการ “ลองโควิด” แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะก่อนหน้านี้มีงานวิจัยออกมาจำนวนมากที่ชี้ชัดว่า คนที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงที่จะป่วยหนักหรือเสียชีวิตหากติดโควิด-19 มากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ 

“คนที่ป่วยรุนแรงจากโควิด-19 ถือเป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่จะเกิดภาวะ “ลองโควิด” อยู่แล้ว จึงอยากเตือนผู้ที่สูบบุหรี่ให้ใช้โอกาสนี้ในการเลิกสูบบุหรี่ รวมทั้งคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าไม่ควรไปเริ่มสูบ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเจ็บป่วยให้กับตัวเองโดยเฉพาะในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังกลับมาระบาดอีกครั้ง” นายกสมาคมอุรุเวชช์แห่งประเทศไทย กล่าว

อ้างอิง 
Prevalence of Long COVID symptoms in Bangladesh: a prospective Inception Cohort Study of COVID-19 survivors: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/34906986/ 
Female gender is associated with long COVID syndrome: a prospective cohort study: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/34763058/

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org