กรมควบคุมโรคเตือนลูกหลาน พาผู้สูงอายุฉีดวัคซีนโควิดด่วน! ลดโอกาสป่วยตายได้ ชี้กลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไป หากติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตเกือบ 3% ถ้าอายุ 60-69 มีโอกาสเสียชีวิต 0.6% รองลงมาอายุ 50-59 ปี โอกาสเสียชีวิต 0.2% แม้ผู้สูงวัยติดเชื้อน้อยกว่าวัยอื่น แต่เสียชีวิตมากกว่าวัยอื่นหลายเท่า
เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 4 มี.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวประเด็น : “ผู้สูงอายุฉีดวัคซีนก่อนสงกรานต์ ลูกหลานกลับบ้านสบายใจ" ว่า ข้อมูลการเฝ้าระวังระลอกมกราคม จนถึงวันที่ 4 มี.ค.2565 ขณะนี้เป็นโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเกือบทั้งหมด และมีการติดเชื้อสูงขึ้น ซึ่งประเทศอื่นๆก็เช่นกัน อย่างเกาหลีใต้ เวียดนาม มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกินวันละแสนราย โดยไทยค่าเฉลี่ย 14 วันอยู่ที่ประมาณ 2.2 หมื่นราย โดยวันนี้วันเดียวตรวจด้วย RT_PCR 23,834 ราย ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจึงส่งผลให้ผู้ป่วยอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม แต่โอมิครอน ความรุนแรงน้อยกว่าเดลตา แต่ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ป่วยที่ปอดอักเสบต้องนอนรักษาในรพ. เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นประมาณ 1.5 เท่าเมื่อเทียบกับ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนผู้ใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จากเดิมอยู่ใน รพ. จำนวน 184 ราย เมื่อวานนี้มี 337 ราย เช่นเดียวกับผู้เสียชีวิตที่ขยับเพิ่มขึ้น แม้อัตราป่วยหนักและเสียชีวิตจะน้อยกว่าปีที่แล้วที่พบสายพันธุ์เดลตา แต่ด้วยยังมีผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยงที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนจำนวนหนึ่ง ทำให้สถานการณ์มีการเพิ่มขึ้นของผู้เสียชีวิตอยู่
ทั้งนี้ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. หรือ 2 เดือนที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 24 ก.พ.2565 จากเดิมพบการติดเชื้อมากในกลุ่มวัยทำงาน และคนอายุมากขึ้น แต่ 2 เดือนที่ผ่านมาพบการติดเชื้อในเด็กมากขึ้น แม้ในกลุ่มที่มีการติดเชื้อสูง อย่างวัยทำงานอายุ 20-29 ปี คิดเป็นอัตราป่วยต่อแสนประชากรประมาณ 1.3 พันกว่าๆ รองลงมาก็อายุ 30-39 ปี แต่กลุ่มที่มาแรงคือ อายุ 10-19 ปี และอายุ 0.9 ปี ยังเป็นเด็กวัยแรง จะเห็นว่า 2 กลุ่มนี้ติดเชื้อเยอะ แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบทำให้ป่วยหนักและเสียชีวิต เนื่องจากมีอัตราป่วยตายเปอร์เซ็นต์ต่ำ แต่ปรากฎว่าเมื่อเกิดการระบาดในครัวเรือน ชุมชน ทำให้ผู้สูงอายุติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้ ขณะนี้ผู้สูงอายุ หากคิดโอกาสป่วยและติดเชื้อน้อยกว่าวัยหนุ่มสาว แต่อัตราป่วยตายเมื่อติดเชื้อสูงกว่า
"ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป หากติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตเกือบ 3% ถ้าอายุ 60-69 มีโอกาสเสียชีวิต 0.6% รองลงมาอายุ 50-59 ปี กลุ่มนี้มีโรคประจำตัวแล้ว และมีโอกาสเสียชีวิต 0.2% สรุปคือ ผู้สูงอายุติดเชื้อน้อยกว่าวัยอื่น แต่เสียชีวิตมากกว่าวัยอื่นหลายเท่า" นพ.โสภณ กล่าว
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า จากรายงานผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตวันนี้ เห็นว่า เป็นสถิติสูงสุดในช่วง 2 เดือนมีรายงานผู้เสียชีวิต 54 ราย โดย 80% เป็นอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 15% อายุน้อยกว่า 60 ปีแต่มีโรคเรื้อรัง รวมแล้ว 95% อย่างไรก็ตาม ผู้เสียชีวิตเกือบครึ่งหนึ่งไม่ได้รับวัคซีนคิดเป็น 48% หรือได้รับไม่ครบรับเพียง 1 เข็มคิดเป็น13% บางคนรับเข็ม 2 มาแต่เกิน 3 เดือน 31% บางคนรับเข็ม 2 แต่ไม่เกิน 3 เดือนคิดเป็น 6% ที่เหลือมีอีก 2% ได้รับ 3 เข็ม แน่นอนว่า วัคซีนไม่สามารถป้องกันการเสียชีวิต 100% แต่ก็ลดโอกาสไปเยอะ
สรุปข้อมูลการเสียชีวิตวันที่ 1 ม.ค.-28 ก.พ.2565 มีผู้สูงอายุเสียชีวิต 928 ราย โดยส่วนใหญ่อายุมากกว่า 60 ปีคิดเป็น 75% ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด โดยไม่มีประวัติการฉีดวัคซ๊น 60% มีประวัติรับวัคซีน 1 เข็ม 8% มีประวัติรับวัคซีน 2 เข็ม 29% และมีประวัติรับวัคซีน 3 เข็มขึ้นไป 2% ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลจากความเสี่ยงเทียบกับกลุ่มที่ได้รับวัคซีนกับไม่ได้รับวัคซีน พบว่า คนที่ไม่ได้รับวัคซีนที่เป็นผู้สูงอายุมีประมาณ 2.17 ล้านคน ซึ่งมีการเสียชีวิต 557 คน คิดเป็นอัตราเสียชีวิต 257 ต่อ 1 ล้านคนที่ไม่ได้รับวัคซีน โดยผู้สูงอายุที่รับวัคซีนจะลดการเสียชีวิตได้มาก
ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตได้รับ 1 เข็มคิดเป็นอัตราเสียชีวิต 133 ต่อล้านคน ผู้เสียชีวิตที่ได้รับวัคซ๊น 2 เข็ม คิดเป็นอัตราเสียชีวิต 43ต่อล้านคน เสียชีวิตลดลงถึง 6 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มไม่ได้รับวัคซีนเลย และถ้าหากไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยผู้เสียชีวิตรับวัคซีน 3 เข็ม โอกาสเสียชีวิตลดลงถึง 41 เท่าเมื่อเทียบกับคนไม่ได้รับวัคซีน ตัวเลข 41 เท่าใกล้เคียงกับตัวเลขของ US CDC จึงเป็นที่มาที่กระทรวงสาธารณสุขขอเน้นย้ำการรับวัคซีนในผู้สูงอายุ และหากรับวัคซีนมา 2 เข็มเกิน 3 เดือนขอให้ไปรับเข็มกระตุ้น
อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มผู้สูงอายุได้รับวัคซีนไปแล้วคิดเป็น 83% แม้จะมาก แต่ยังมีอีก 17% ยังไม่ได้รับวัคซีน ในจำนวนนี้ที่ฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 10.5 ล้านคน มีจำนวนหนึ่งได้รับวัคซีนเข็ม 2 แล้วประมาณ 9.9 ล้านคน และจำนวนนี้ได้รับเข็มกระตุ้นแล้ว 3.9 ล้านคน ดังนั้น จะมีคนรอฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอีกประมาณ 6 ล้านคน และยังมี 2.2 ล้านคนที่ยังไม่ฉีด รวมแล้วประมาณ 8 ล้านคน จึงต้องเร่งฉีดวัคซีนกลุ่มนี้
นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้ทุกหน่วยงานกำลังเร่งรัดฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุ ทั้งการค้นหาผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน มีการเชิญชวน ทำงานอย่างหนักทุกภาคส่วน เพื่อเชิญชวนผู้สูงอายุมาฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตาม สสจ.ลำปางได้ทำการสำรวจความต้องการวัคซีนเข็ม 3 ของประชาชนในพื้นที่ 8.6 หมื่นคน ยังมีส่วนหนึ่งไม่ต้องการฉีดเข็ม 3 เนื่องจากกังวล กลัวผลข้างเคียง 21.1% และคิดว่าฉีด 2 เข็มเพียงพอแล้ว ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดพบประมาณ 14% และลังเลอีก 5.8% ตรงนี้ต้องรีบสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้น
(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ. คาดโควิดรายใหม่ช่วงสงกรานต์ อาจเพิ่ม 2 เท่าเกิน 5 หมื่นรายต่อวัน หากไร้มาตรการเข้มงวด)
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 28692 views