รองนายกฯ-รมว.สธ.เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาสัปดาห์หน้า กรณี "UCEP โควิด-19 พลัส" กำหนดเกณฑ์อาการสีเหลือง-แดง รักษาฟรีทุกที่เช่นเดิม ย้ำ! ไม่มีใครเสียสิทธิ์รักษา ทุกอาการรักษาฟรี ส่วนกรณียาฟาวิพิราเวียร์ จ่ายยาทุกวันวันละ 2 ล้านเม็ด สธ.จัดบริหารจัดการให้เหมาะสม ไม่ใช่ทุกคนต้องได้ยาต้านไวรัส บางคนไม่มีอาการ การให้ยาก็ไม่ใช่ว่าดี ทั้งหมดอยู่ที่แพทย์วินิจฉัย
เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กรณีUCEPโควิด19ว่า เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2565 ที่ผ่านมา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.)ได้เสนอครม. เรื่องประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด19 (ฉบับที่ 8) ซึ่งเป็นการปรับอัตราการดูแลคนไข้ทุกสีให้สอดคล้องกับ UCEP โควิด19 พลัส ซึ่งไม่ได้เป็นการตัดรอนสิทธิใดๆทั้งสิ้น ไม่มีใครเสียสิทธิ์ใดๆ ไม่ได้เป็นการประหยัดงบประมาณ ตรงกันข้ามกลับเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการให้บริการ การจัดเตรียมสถานพยาบาล เวชภัณฑ์ที่จะมาดูแลคนติดเชื้อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด คนที่มีอาการแบบใดจะได้รับการรักษาแบบใด ก็ให้เป็นการวินิจฉัยของแพทย์ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะแย่งกันไปใช้เตียงในรพ.ที่ถูกใช้โดยคนที่ไม่ต้องเข้ารพ.
“ในเมื่อเรารู้มูลเหตุของโรค วิธีการควบคุม รักษาโรค ก็บริหารจัดการสถานพยาบาลให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้คนที่จำเป็นต้องใช้สถานพยาบาลสามารถเข้าถึงทันที และการใช้ทรัพยากรต่างๆเกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงต้องบริหารจัดการ ซึ่งทุกวันนี้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์วันละ 2 ล้านเม็ด ต้องไม่ใช่จะเอาง่ายเข้าว่า บางคนอาการไม่มี การให้ยาก็ไม่ใช่ว่าดี จึงขอให้เป็นเรื่องของแพทย์ในการวินิจฉัย เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนหรือตื่นตระหนก สธ.ก็พยายามจัดระเบียบให้เกิดประสิทธิภาพสูงสูด ไมได้เป็นการริดรอนสิทธิใคร”นายอนุทินกล่าว
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า อำนาจในการออกประกาศกรณีUCEPโควิด19 เป็นของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) โดยรมว.สาธารณสุข ไม่ต้องเข้าครม. เป็นดุลยพินิจของสธ. เพียงแต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาต้องนำเข้าครม. เนื่องจากมีการปรับหมวดงบประมาณUCEP โควิด19 พลัส เพราะว่าเป็นมาตรฐานที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ถ้าไม่นำเสนอเข้าครม.ก็จะเบิกค่าใช้จ่ายไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ประกาศให้การรักษาโควิด19เป็นการรักษาฟรีตามสิทธิ์นั้น ตนได้ลงนามไปแล้ว ส่วนจะมีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ อยู่ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.) จะพิจารณาลงประกาศ ซึ่งเมื่อวันที่ 1 มี.ค.2565 เลขาฯครม.ถามว่าประกาศได้เลยหรือไม่ ก็ได้แจ้งว่าประกาศได้ สธ.มีความพร้อม ก็อาจจะมีการพิจารณาประกาศและมีผลบังคับในวันที่ 16 มี.ค. หรือ 1 เม.ย.2565
นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า รัฐบาลพร้อมที่จัดสรรงบประมาณดูแลประชาชนที่ป่วยโควิด19อยู่แล้ว ที่สำคัญ เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2565 ในการประชุมศบค.นั้น นายกรัฐมนตรีได้ถามอาจารย์แพทย์ทุกคน เกี่ยวกับการดำเนินการเรื่องโควิด19 ว่าเห็นอย่างไร ซึ่งอาจารย์แพทย์ทุกคนเห็นว่าสิ่งที่สธ.ทำนั้น ถูกต้องแล้ว ในส่วนของพื้นที่กทม. แม้สธ.ไม่ได้มีอำนาจในการสั่งการ แต่ได้แจ้งกทม.รับทราบถึงความยินดีพร้อมสนับสนุนถ้ามีการร้องขอมาทุกรูปแบบ โดยคนไข้ที่หาเตียงอยู่และไม่ได้เข้ารพ. ก็ต้องโวยวาย แต่ต้องอธิบายว่า แพทย์จะเป็นคนตัดสินใจว่าจะได้รับการรักษาแบบใด ซึ่งบางครั้งคนอาจจะไม่ต้องการอยู่ในศูนย์ชุมชน(CI)ไม่สะดวก และอยู่ที่บ้าน(HI)ก็ไม่ได้เพราะลักษณะครอบครัว แต่เมื่อป่วยแล้วจะใช้ชีวิตปกติไม่ได้ ก็ต้องมีมาตรฐานการรักษา
“ยืนยันยาไม่มีวันขาด การให้บริการไม่มีวันขาด ให้การสนับสนุนทุกรูปแบบ ที่มีข่าวว่ายาขาดนั้น ไม่ได้ขาดแต่เป็นการบริหารจัดการระดับพื้นที่ ในแต่ละเขตสุขภาพ ยาไปถึงพื้นที่อาจจะอยู่ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) หรือรพ.จังหวัด ไม่ได้กระจายไปสำรองไว้ที่รพ.อำเภอ หรือตำบล แต่เมื่อมีการร้องขอ ก็จัดให้ได้ทันที”นายอนุทินกล่าว
นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า สำหรับแนวทางUCEP โควิด19 พลัส ตนจะนำเสนอเข้าครม.ในสัปดาห์หน้า โดยจะกำหนดให้ผู้ติดโควิด19 ที่เข้าเกณฑ์ตามนิยามอาการสีเหลืองและสีแดง สามารถเข้ารับการรักษาฟรีได้ทุกที่เช่นเดิม
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 25 views