ดีเดย์ 1 มี.ค.65 เพิ่มบริการตรวจผู้ป่วยโควิดแบบผู้ป่วยนอก หรือ OPD ส่วนการรักษาแบบ Home Isolation (HI) หรือ Community Isolation (CI) ไม่ได้ยกเลิก ยังคงเดิมแต่ขึ้นกับอาการ พร้อมแจ้งแนวทางบุคลากรทางการแพทย์แล้ว กรมการแพทย์เผยข้อแตกต่างการรักษาแบบ OPD กับ HI/CI ส่วน "หมอทวี" ย้ำการรักษาแบบโอพีดี ไม่ใช่แบบไปกลับ ออกข้างนอกไม่กักตัวไม่ได้ ยังต้องปฏิบัติกักตัวเองอย่างน้อย 7 วัน มีช่องทางติดต่อแพทย์ ประเมินอาการ 48 ชม.
เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2565 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วันที่ 1 มี.ค. สธ.ได้ปรับและเพิ่มบริการการตรวจผู้ป่วยโควิด 19 แบบผู้ป่วยนอก หรือ OPD ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานพยาบาล หรือ Home Isolation (HI) หรือ Community Isolation (CI) หากสามารถดูแลตัวเองได้ ก็จะมีการให้ยา นอกจากยาฟาวิพิราเวียร์แล้ว รายที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย อาจให้รับยาฟ้าทะลายโจร หรือยาดูแลรักษาตามอาการ ดังนั้น สธ.พยายามบริหารการรักษาให้สมดุล และเหมาะสมประชาชนมากที่สุด
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สธ.ได้เห็นชอบแนวทางระบบคัดกรองโควิด 19 เพื่อเตรียมเข้าสู่ภาวะโรคประจำถิ่น (Endemic) ซึ่งจะมีการรักษาแบบ OPD มาเสริม โดยหากมีอาการทางเดินหายใจ หรือประวัติสัมผัสเสี่ยงสูง ให้ประเมินอาการตนเอง หากเข้าข่ายสงสัยสามารถตรวจ ATK เองได้ หากผลเป็นบวก มี 2 ทาง คือ 1.โทร 1330 จะมีการประเมินความเสี่ยง ซึ่งอาจจะเพิ่ม Robot Screening ในการช่วยคัดกรอง และ 2.ทั่วประเทศสามารถเดินเข้าไปยังคลินิกทางเดินหายใจ (ARI Clinic) หรือคลินิกสงสัยผู้ติดเชื้อ (PUI) ที่มีในทุก รพ. หรือหากมีเบอร์ก็โทรประเมินได้ โดยจะมีการประเมินภาวะเสี่ยง หากมีภาวะเสี่ยง คือ กลุ่ม 608 มีโรคประจำตัว แต่อาการไม่มากให้เข้าระบบ HI/CI First ซึ่งยังมี Hotel Isolation และฮอสปิเทลด้วย หากอาการมากภาวะเสี่ยงและอาการรุนแรงจะรักษาที่โรงพยาบาล
ทั้งนี้ สำหรับความแตกต่างผู้ป่วยนอก กับ HI คือ ผู้ป่วยนอกจะมีแพทย์ติดตามอาการหลังตรวจคัดกรองภายใน 48 ชม.แต่หากมีอาการเปลี่ยนแปลงสามารถติดต่อกลับได้ทุกเวลา ไม่มีอุปกรณ์ตรวจประเมิน เช่น ปรอทวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วและไม่มีอาหารให้เหมือนอยู่ในระบบ HI และ CI หลังดำเนินการจะมีการประเมินระบบเป็นระยะ ส่วนจำนวนเตียงรพ.ขณะนี้ยังเพียงพอ แต่หากมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้น ได้มีหนังสือแจ้งไปยังรพ.เครือข่ายให้เตรียมพร้อมลดเตียงผู้ป่วย Non-Covid มารองรับผู้ป่วยโควิด 15-20%
นพ.สมศักดิ์ กล่าว่า ส่วนกรณีข้อกังวลว่าการรักษาในระบบผู้ป่วยนอก จะสามารถเคลมประกันได้หรือไม่ ได้พูดคุยกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจ ประกันภัย (คปภ.) สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งคปภ.ต้องไปดำเนินการต่อ แต่หลักๆ ต้องดูว่าประกันของผู้ป่วยครอบคลุมกรณีเป็นผู้ป่วยนอกหรือไม่ หากไม่ครอบคลุมก็ให้เข้าสู่ระบบHI เพราะ HI มีการประกาศเป็นทางการว่าเป็นผู้ป่วยใน สามารถประเมินเป็นรายๆ ได้
อย่างไรก็ตาม การระบาดโควิดในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โอมิครอน โดยมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตน้อยกว่าสายพันธุ์ที่ผ่านมา โดยข้อมูล กทม.วันที่ 25 ก.พ. จะพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ใน HI CI และเตียงระดับ 1 ซึ่งเป็นฮอสปิเทล(Hospitel) ใน รพ.เอกชน และ รพ.รัฐ คิดเป็น 95% ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงเข้าเตียงระดับ 2.1 ระดับ 2.2 และระดับ 3 รวมประมาณ 4-5% ดังนั้นส่วนใหญ่ 90 กว่า% อาการไม่มีรุนแรง
"วันนี้ (28 ก.พ.) ได้มีการประชุมร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศถึงแนวทางการดูแลแบบผู้ป่วยนอกและการแยกกักตัวเองจะทำอย่างไรบ้าง ซึ่งการดูแลแบบผู้ป่วยนอกจะใช้ในกรณีผู้ป่วยไม่มีอาการ มีอาการเล็กน้อย ที่ไม่มีความเสี่ยง ส่วนHI และCI ใช้ในกรณีอาการเล็กน้อยหรือปานกลาง และการเข้ารพ.กรณีอาการรุนแรง" อธิบดีกรมการแพทย์กล่าว
ด้าน นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากการพิจารณาจัดทำแนวทางการรักษาโรคโควิด เวอร์ชัน 26 ซึ่งจะมีแนวทางสำหรับการรักษาผู้ติดเชื้อแบบผู้ป่วยนอก ทั้งนี้ รายละเอียดการให้ยา ดังนี้ 1. ผู้ป่วยไม่มีอาการพบกว่า 90% อยากให้มีการรักษาที่บ้าน หรือแบบผู้ป่วยนอก อาจจะมีอาการคันคอ จะไม่มีการให้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากส่วนมากหายเองได้ และไม่ต้องเสี่ยงจากผลข้างเคียง เช่น เช่นคลื่นไส้ อาเจียน ตาสีฟ้า เสี่ยงดื้อยา และ ไม่แนะนำใช้ในหญิงตั่งครรภ์ โดยเฉพาะตั้งครรภ์อ่อนๆ เพราะพบว่ามีผลต่อตัวอ่อนในสัตว์ทดลอง อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้อาจจะพิจารณาให้ฟ้าทะลายโจรให้ตามดุลพินิจแพทย์ แต่ไม่ให้ในเด็ก คนท้อง ต้องไม่ป่วยโรคตับ ไม่ใช้ร่วมยาต้านไวรัสอื่น ให้นอนอยู่บ้าน
2. กรณีมีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ไม่มีโรคร่วม แพทย์เป็นคนพิจารณาว่าจะให้ฟาวิพิราเวียร์หรือไม่ หากให้ต้องหยุดกินฟ้าทะลายโจร อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบเชื้อมีอาการเกิน 5 วันแล้วการให้ยาต้านอาจจะไม่มีประโยชน์แล้ว 3. กรณีผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีไข้ 38-39 อายุ 65 ปีขึ้น มีโรคร่วม แพทย์พิจารณาแอดมิทในรพ. เพราะเสี่ยงที่โรคจะพัฒนารุนแรงขึ้น ส่วนยาที่ใช้จะมีหลายตัว ส่วนกลุ่มที่ 4 ซึ่งอาการรุนแรงนั้นอยู่ในรพ.อยู่แล้ว แพทย์จะพิจารณาการรักษาที่เหมาะสม
“ห้ามเด็ดขาดที่จะบอกว่าการรักษาแบบ OPD เป็นการรักษาไปกลับ ซึ่งไม่ใช่ เพราะคำว่าไปกลับหมายความว่าสามารถออกไปข้างนอกได้ แต่การรักษาแบบ OPD โควิดนี้ให้อยู่ที่บ้านกักตัว 7 วันเป็นอย่างน้อย ระหว่าง 7 วันนี้ต้องติดต่อกับทางการแพทย์ เพื่อให้รู้ว่าท่านอยู่จุดไหน ซึ่งส่วนใหญ่ โรคจะค่อยๆ หายเอง ดังนั้นการรักษาด้วยยาให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา” นพ.ทวี กล่าว
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :
- เปิดฉากทัศน์ “โอมิครอน” คาดอีก 2-6 สัปดาห์เริ่มทรงตัว ลดลง หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
- สธ.กระจาย "ยาฟาวิพิราเวียร์" 13 เขตสุขภาพ 1 มี.ค.นี้อีก 15 ล้านเม็ด
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 7399 views