สธ.เตรียมคลอดแผนโควิด19 ออกจาก Pandemic เข้าสู่ Endemic ไม่ใช่โรคระบาดใหญ่สู่โรคประจำถิ่น เบื้องต้นกำหนด 4 เดือน รอรายละเอียดสัปดาห์หน้า พร้อมร่วมกระทรวงมหาดไทยฉีดวัคซีนโควิดเชิงรุกกลุ่ม 608 ผู้สูงอายุ โรคเรื้อรังต้องได้วัคซีนเข็ม 3 ครอบคลุมมากที่สุด หวังลดเสียชีวิต  

เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังประชุมกระทรวงสาธารณสุข ว่า วันนี้มีการติดตามขับเคลื่อนงานต่างๆของกระทรวงฯ ส่วนกรณีที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) สั่งให้ทบทวนประเด็นโครงการยูเซปที่เกี่ยวกับโควิด19 นั้น เรื่องนี้ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นผู้นำไปทบทวน ซึ่งหลักการประชาชนไม่ได้รับผลกระทบ ยังคงได้รับการดูแลรักษาเหมือนเดิม ไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายใดๆ รักษาตามสิทธิของตัวเองอยู่แล้ว ไม่มีใครเสียสิทธิการรักษาอะไร

อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายการบริการโควิดนั้น อย่างที่ทราบมีการใช้จ่ายไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาทเฉพาะคนไทย โดย 7 หมื่นกว่าล้านบาท หรือ 74% อยู่ที่ภาครัฐ ส่วนอีกกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท หรือ 26% อยู่ที่ภาคเอกชน ซึ่งใน 2.7 หมื่นล้านบาท มี 88% อยู่ในกลุ่มอาการสีเขียว แต่ตอนนี้เราเข้าใจแล้วว่า ในการระบาดโอมิครอนกรณีคนไข้สีเขียว 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวอาการน้อยมาก ปอดอักเสบแทบไม่มี ทางการแพทย์จึงไม่ได้กำหนดว่าต้องถ่ายเอกซเรย์แล้ว   

ปลัดสธ.กล่าวอีกว่า ตอนนี้เราใช้ความรู้ในการบริหารมากขึ้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป โดยกลุ่มสีเขียวพยายามให้อยู่ระบบ HI และ CI ซึ่งตอนนี้อยู่ประมาณ 60% แต่ก็อยากให้ได้ถึง 90%  เพื่อให้โรงพยาบาลมีพื้นที่ดูแลคนไข้โรคอื่นๆได้ แต่ปัจจุบันด้วยโควิดไม่มีอาการ แต่ไปตรวจโรคเรื้อรัง ตรวจโรคอื่นทำให้เจอโควิด จึงต้องเข้ารพ. ก็มี ตรงนี้เป็นโควิดไม่รุนแรงแต่มีโรคร่วม ซึ่งพบประมาณ 10% จึงมีความจำเป็นต้องอยู่รพ. เพราะโรคร่วมก็ทำอันตรายสูงได้ การที่ให้คนไข้กลุ่มอาการสีเขียวอยู่ HI หรือ CI ไม่ใช่แค่เรื่องงบประมาณ ที่ไม่ต้องจ่ายถึง 2.7 หมื่นล้านในกลุ่มสีเขียว แต่เป็นเรื่องแนวคิด และทัศนคติเพื่อให้โรคโควิด เป็นสู่โรคประจำถิ่น เหมือนโรคหวัด บางทีอาการน้อยๆ กินยาลดไข้ นอนพักผ่อน แต่หากมีไข้สูง ก็ต้องพบแพทย์

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เมื่อวานนี้(23 ก.พ.) ได้มีการประชุมแผนออกจาก Pandemic เพื่อเข้าสู่ Endemic โดยวางแผนไว้ 4 เดือน ส่วนรายละเอียดจะออกมาในสัปดาห์หน้า โดยจะมีขั้นตอนว่า จะออกจาก Pandemic มีขั้นตอนอะไรบ้าง ซึ่งจะไม่ใช่การระบาดใหญ่แล้ว โดยตนก็สอบถามผู้เชี่ยวชาญว่า โรคโควิดจะลดความรุนแรงลงใช่หรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่า ใช่ เพราะสภาพของโรค ความรุนแรงลดลง เพียงแต่จำนวนผู้ติดเชื้อแม้จะเพิ่ม เพราะลักษณะของโรคแพร่เร็ว ทำให้เห็นตัวเลขผู้ป่วยอักเสบเพิ่ม แต่โดยสัดส่วนผู้ป่วยอักเสบ ผู้เสียชีวิตเมื่อเทียบแล้วลดลง อีกทั้ง ผู้ป่วยปอดอักเสบในโอมิครอน ปรากฎว่าอักเสบจริงแต่ไม่ต้องการออกซิเจน เพราะเมื่อไปถ่ายเอกซเรย์ปอดอักเสบในสมัยก่อนเมื่อพบก็ต้องแอดมิด

“ส่วนผู้เสียชีวิต 100% ยังพบว่าอยู่ในกลุ่ม 608 คือ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง กลุ่มน่าเป็นห่วง แต่สมัยตอนเดลตา อัลฟาระบาด กลุ่มเสียชีวิตเป็น 608 ประมาณ 50-60% ดังนั้น บ่ายวันนี้(24 ก.พ.) จะมีการประชุมเทเลคอนเฟอเร็นซ์ ซึ่งจะร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้เข้าไปค้นรายทะเบียนบ้าน เพื่อให้เข้าถึงรับบริการวัคซีน แต่จริงๆ ภาพรวม 608 ได้รับวัคซีนเข็ม 1 และเข็ม 2 ถึง 80% ส่วนเข็ม 3 ได้ประมาณ 30% ก็พยายามให้สูงที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อให้ลดเสียชีวิต” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ด้าน นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเสริมกรณีการฉีดวัคซีนโควิดในผู้สูงอายุ ว่า หากฉีดเข็ม 3 ในกลุ่มเสี่ยงได้ถึง 60-70% จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากตอนนี้ลงไปอีก 50 %

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org