การเคลื่อนย้ายของผู้คนบริเวณแนวชายแดน ทั้งแรงงานข้ามชาติ การค้าขายข้ามแดน การท่องเที่ยว และอื่นๆ มีหลายประเด็นที่ต้องจับตาและให้ความใส่ใจ สิ่งหนึ่งคือผลกระทบด้านสาธารณสุข ซึ่งเวทีประชุมวิชาการการเข้าถึงระบบสาธารณสุข “ภาคีวิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา 4 ภาค” จัดโดยศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ยกสถานการณ์ยาชายแดนประเทศขึ้นมาพูดคุยกันอย่างจริงจัง
เภสัชกร(ภก.)สุภนัย ประเสริฐสุข สำนักงานสาธารณสุข จ.หนองบัวลำภู เล่าถึงสถานการณ์ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีชายแดนติดกับประเทศลาวและกัมพูชาว่า ด้านชายแดนลาว มีชาลาวข้ามแดนเข้ามาทำงาน เกิดศูนย์รวมเล็กๆ ของกลุ่มแรงงานเรียกว่า 'ลาวทาวน์' แรงงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่มีสิทธิในการรักษาพยาบาล เมื่อเจ็บป่วยแรงงานลาวมักจะไปหาซื้อยากินเองในร้านค้าหมู่บ้านและการไปรักษาที่คลินิกพยาบาลในหมู่บ้าน จนเมื่อถึงที่สุดเท่านั้นจึงจะไปโรงพยาบาลประจำอำเภอ เมื่อแรงงานกลับไปก็จะนำยาจากฝั่งลาวหอบกลับมา จึงไม่แปลกใจที่เราจะพบยาจีน ยาต่างๆ ด้วยความตั้งใจจะนำมารักษากันเอง เมื่อกลุ่มคนมีจำนวนมากขึ้นก็เริ่มมีการข้ามเครือข่ายซื้อยามาขายให้กับแรงงานต่างๆ เหล่านี้
ในขณะที่ชายแดนกัมพูชา ภก.สุภนัย กล่าวว่า ความหลากหลายจะมีมากกว่า โดยยาที่พบจะเป็นยาชุด เมื่อเจ็บป่วยจะเข้าคลินิกหรือโรงพยาบาลเป็นส่วนใหญ่ ถ้าจะเข้าไปซื้อยาก็จะซื้อยาออริจินัลที่ค่อนข้างดี ยอมที่จะเสียเงินซื้อยารักษาตัวเอง แม้กระทั่งยอมซื้อประกันสุขภาพ ไปคลินิกหรือโรงพยาบาลเอกชน
"เรื่องยาในพื้นที่ชายแดนไม่ได้ตั้งอยู่เดี่ยวๆ มีความสัมพันธ์เรื่องสิทธิ ประกันสุขภาพ เรื่องความเหลื่อมล้ำ การจะเข้าไปแก้ไขปัญหาเรื่องยาชายแดนในพื้นที่ต่างๆ เหล่านี้เราจะใช้องค์ความรู้ ความชำนาญในหมู่บ้านต่างๆอาจจะยังไม่เพียงพอ ต้องทำความเข้าใจเรื่องสิทธิต่างๆด้วย" ภก.สุภนัยกล่าว
สถานการณ์ยาชายแดนของภาคตะวันออกเฉียงเหนืออิงอยู่กับแรงงานข้ามชาติชาวลาวเป็นหลัก แต่สำหรับพื้นที่เศรษฐกิจอย่างจ.เชียงราย ซึ่งเชื่อมโยง 4 ประเทศ คือไทย เมียนมา ลาว และจีน ภก.อิ่นแก้ว สิงห์แก้ว โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ จ.เชียงราย เล่าว่า จุดเริ่มต้นในการศึกษาเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพข้ามแดนมาจากการที่ทีมพยาบาลเยี่ยมบ้านไปเจอยาผงสเตียรอยด์ที่เป็นภาษาจีนอยู่ในบ้านของผู้ป่วย จึงส่งมาให้ตรวจสอบ โดยที่พบมากที่สุดคือยาสเตียรอยด์ชนิดกิน Dexamathasone กับ Prednisolone ซึ่งเป็นภาษาจีน ยังมียาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs พบมากคือ Piroxicam กับ ไดโคลฟีแนค นอกจากนี้เป็นกลุ่มยากระตุันความต้องการทางเพศชาย กลุ่มยาสมุนไพรที่ผสมสารสเตียรอยด์จากต่างประเทศ และกลุ่มยาสัตว์ที่ไม่สามารถระบุชื่อได้
“ที่จะเจอหลักๆ มาจาก 2 แหล่งใหญ่ๆคือ 1.นำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านลาวและเมียนมา ผ่านด่านหลักกับช่องทางขนถ่ายสินค้าที่ไม่ใช่ด่านหลัก รวมถึงนำเข้าตามช่องทางธรรมชาติ 2.มาจากภายในประเทศ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ยาบางชนิดสามารถหาซื้อได้บนแพลตฟอร์มขายของออนไลน์ชื่อดัง ซึ่งอยากฝากให้หน่วยงานอย่าง อย. คอยติดตาม ปัญหายาชายแดนบางทีไม่ได้อยู่ที่ชายแดนแต่กระจายไปทั่วแล้วถ้าเราไม่ช่วยกันเฝ้าระวังปัญหามันก็จะเยอะขึ้นเรื่อยๆ" ภก.อิ่นแก้วกล่าว
ด้าน ภก.พงษ์ศักดิ์ นาต๊ะ โรงพยาบาลเทิง จ.เชียงราย ให้ข้อมูลสะท้อนปัญหายาชายแดนว่า มีการลักลอบนำเข้าเคมีภัณฑ์ผ่านด่านชายแดนที่อ.แม่สาย จ.เชียงราย มีบางส่วนทำปลอม ตำรวจเคยเชิญเจ้าของตราสินค้ามาให้ปากคำ โดยเจ้าของสินค้าก็ไม่ได้ติดใจที่จะเอาผิดคนที่ทำปลอม ซึ่งทำให้เห็นว่ามีการเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้เข้าไปในระบบการค้าขนาดใหญ่ โดยช่องทางจำหน่ายหลักอยู่บนออนไลน์ มีลูกค้ากลุ่มเฉพาะซื้อขายสินค้าเหล่านี้ ทำให้สามารถกระจายไปสู่พื้นที่อื่นๆ
ขณะที่พื้นที่ชายแดนตะวันตก ติดกับประเทศเมียนมา นายชุมพล แสงวรรณ ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยาภาคกลาง กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหายาชายแดน จ.กาญจนบุรี ว่า แบ่งได้ 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ยาสมุนไพรสูตรโบราณ(ยาผีบอก) กับยาลักลอบจากพม่า (ไม่มีฉลากภาษาไทย) ในส่วนของยาผีบอกไม่สามารถระบุชนิดของสมุนไพรได้ ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญพันธุ์ไม้โดยตรงซึ่งค่อนข้างจะหายาก ยาชนิดนี้นิยมใช้ในกลุ่มที่เป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งอ้างสรรพคุณว่ารักษามะเร็งได้ทุกชนิดทุกระยะซึ่งค่อนข้างจะอันตรายมาก ใช้ในกลุ่มเฉพาะไม่ค่อยพบในตลาดนัด ส่วนใหญ่ใช้ในชุมชนที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลหรือ รพ.สต.
สำหรับยาที่ลักลอบนำเข้ามานั้น นายชุมพลบอกว่า มาจากเมียนมาไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่สามารถระบุวันเดือนปีที่ผลิตหรือวันหมดอายุ ไม่ทราบขนาดหรือปริมาณและข้อบ่งใช้ที่แน่นอน หาซื้อได้ตามร้านค้าขายของชำทั่วไป รวมถึงรถเร่ขายอาหารสดแห้ง ปัจจุบันพบว่ามีขายตามตลาดนัดทั่วไป ใช้มากในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ใช้แรงงานชาติพันธุ์
“ยาลักลอบนำเข้ามาจากพม่าเมื่อนำส่งตรวจกับ อย.พม่า ก็ไม่พบการขึ้นทะเบียน คาดอาจจะมีส่วนผสมของสเตียรอยด์เพราะบนซองบอกสรรพคุณแก้ปวด รักษาเก๊า และรูมาตอยส์ ใน 4 อำเภอชายแดนของ จ.กาญจนบุรี การเดินทางเข้าถึงยากลำบาก การจะเข้าไปให้ความรู้หรือนำยาส่งตรวจรู้ผลล่าช้า ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องท้าทายให้เราทำงานในปีนี้ต่อไป" นายชุมพล กล่าว
ด้าน นางจุฑา สังขชาติ กรรมการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา(กพย.) ภาคใต้ ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ ทำงานพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ติดกับชายแดนมาเลเซีย เปิดผลการสำรวจข้อมูลของเครือข่ายผู้บริโภค จำนวน 107 ครัวเรือน พบผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 113 ผลิตภัณฑ์ โดยร้อยละ 53 เป็นยาที่รักษาอาการปวดเมื่อกล้ามเนื้อหรือตามข้อต่างๆ รองลงมาคือบำรุงร่างกาย แก้วิงเวียนศีรษะ บำรุงผิวหน้า ร้อยละ 19 และรักษาสารพัดโรค ร้อยละ 14
"ร้อยละ 40 ไม่มีฉลากที่ตัวผลิตภัณฑ์ ,ร้อยละ 30 มีฉลากภาษาไทย ขณะที่ ฉลากภาษาอื่นๆ อาทิ มาเลเซีย อินโด อังกฤษ จีน อาหรับ ร้อยละ 21 และ มีเพียงร้อยละ 9 เท่านั้นที่มีภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ โดยยาร้อยละ 56 มีราคาต่ำกว่า 100 บาท" นางจุฑา กล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อสำรวจปัญหารวมถึงผลกระทบด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและด้านอื่นๆจากการใช้ยา ส่วนใหญ่ไม่ระบุข้อมูล มีเพียงร้อยละ 20 ที่ให้ข้อมูลด้านบวกว่าหายเร็ว และร้อยละ 10 ให้ข้อมูลด้านลบว่าทำให้เกิดภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไตเสื่อม
"ประเด็นยาชายแดนมีความคาบเกี่ยวกับศาสนาความเชื่อและบริบทวัฒนธรรมในพื้นที่เป็นเรื่องยากที่จะทำความเข้าใจหรือเปลี่ยนความคิดขอผู้บริโภค การส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปตรวจมีราคาค่อนข้างแพง ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้่อย่างสมเหตุสมผลซึ่งเป็นประเด็นสำคัญและเป็นปัญหาใหญ่ สุดท้ายคือการดำเนินงานช่วงโควิดระบาดทำให้การเก็บข้อมูลไม่ครบถ้วนตามกระบวนการ" ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ กล่าว
ทั้งนี้ กรรมการ กพย.ภาคใต้ มีข้อเสนอแนะว่าต้องมีกระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนเกี่ยวกับการใช้ยาอย่างสมเหตุผล หน่วยงานด้านสาธารณสุข เครือข่ายผู้บริโภค แกนนำสุขภาพ ร่วมมือกันในรูปแบบและช่องทางที่หลากหลาย พัฒนากลไกเฝ้าระวังเตือนภัยผู้บริโภค ระบบการรักษาพยาบาลปฐมภูมิและการส่งต่อ และสุดท้ายเชื่อมโยงการทำงานการจัดการสุขภาพในพื้นที่ผ่านกองทุนสุขภาพท้องถิ่น
- 1122 views