ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขฯ เผยเรื่องการถ่ายโอนไปรพ.สต. ไม่ต้องกังวลกรณีเงื่อน 40% ย้ำ! หากคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ได้เลื่อนตำแหน่งแน่นอน ส่วนอยากเปลี่ยนใจไม่ไปทำได้! แต่ต้องถ่ายโอนไปอยู่อบจ. ก่อน และทำเรื่องขอโอนย้ายกลับ หลังวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ต่อไป

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565 นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขฯ เปิดเผยกับ Hfocus เรื่องการถ่ายโอนไปรพ.สต. บุคลากรจะมีข้อจำกัดการจ้างเพิ่ม ที่ห้ามเกินงบ 40% ตามงบรายจ่ายของท้องถิ่นหรือไม่ และหากถ่ายโอนไปจะได้ c8 c9 หรือไม่ รวมถึงกรณีบุคลากรที่ยื่นความประสงค์แล้ว แต่อยากเปลี่ยนใจไม่ไปสามารถทำได้หรือไม่ มีคำตอบดังนี้

การถ่ายโอนไปรพ.สต. บุคลากรจะมีข้อจำกัดการจ้างเพิ่ม ที่ห้ามเกินงบ 40% ตามงบรายจ่ายของท้องถิ่นหรือไม่...

นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ กล่าวว่า ตามพรบ.แผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในส่วนของค่าตอบแทนบุคลากรในภารกิจถ่ายโอนรพ.สต.นั้น มีข้อยกเว้น คือ ในข้อกำหนดตามพรบ.บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นคือ 40% ไม่ให้นับรวมบุคลากรที่ถ่ายโอนไป รวมถึงบุคลากรที่อยู่ในกรอบภารกิจถ่ายโอนฯ

กรณีตัวอย่างเช่น รพ.สต. A มีบุคลากรขอถ่ายโอนไป 3 คน แต่ในกรอบมี 7 คน แล้วอีก 4 คนที่เหลือนั้นหาก อบจ. สามารถสรรหาบุคลากรตามกรอบเข้าไปบรรจุได้ทั้งหมด 7 คน เงินเดือน 7 คนนี้จะไม่นับรวมในสัดส่วน 40% หรือถ้า 3 คนที่ถ่ายโอนไปและอีก 4 คนยังหาไม่ได้ 3 คนนี้ก็ไม่นับรวมเช่นกัน ซึ่งนี่เป็นข้อกฎหมายที่เขียนไว้ในพรบ.แผนการกระจายอำนาจฯ เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลว่าจะเกิน 40% ตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งมันไม่ได้นับรวมจึงไม่มีผลต่อเรื่อง 40% ตรงนี้

กรณีถ้าหากถ่ายโอนไปจะได้ c8 c9 หรือไม่...

นายเลอพงศ์ กล่าวว่า การที่จะได้ขยับเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งต่างๆทางกระทรวงมหาดไทยได้ออกระเบียบข้อกำหนดไว้อยู่แล้วว่าจะต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง เพราะฉะนั้น ถ้าใครมีคุณสมบัติตามที่กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดไว้ก็สามารถขยับเลื่อนตำแหน่งได้ตามเกณฑ์กำหนด ซึ่งอายุราชการหรือผลงานต่างๆที่เคยทำที่อยู่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขนั้น ให้นับรวมหรือนับต่อเนื่องมาเลยหลังจากถ่ายโอนแล้ว ไม่ต้องเริ่มนับใหม่ เพราะฉะนั้น คุณสมบัติบางข้อจะเขียนไว้ อาทิ รจะต้องอยู่ c7 กี่ปี จะต้องมีผลงานอะไรบ้าง ฯลฯ ซึ่งหากคุณเข้าเกณฑ์ก็สามารถขยับเลื่อนตำแหน่งได้เลย ไม่ใช่ว่าถ่ายโอนมาแล้วจะได้เลย เพราะมันต้องขึ้นอยู่กับคุณสมบัติว่าตรงตามเกณฑ์ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดหรือไม่

สำหรับกรณีบุคลากรที่ยื่นความประสงค์แล้ว แต่อยากเปลี่ยนใจไม่ไป สามารถทำได้หรือไม่….

นายเลอพงศ์ กล่าวว่า ตามแนวทางการกระจายอำนาจฯได้กำหนดไว้ว่า การสมัครใจจะต้องยื่นความจำนงโดยการลงชื่อแสดงตน เพื่อยินยอมที่จะถ่ายโอนไป อบจ. ซึ่งเราได้กำหนดไว้ว่าให้คุณตัดสินใจภายในวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา (สำหรับคนที่จะถ่ายโอนรุ่นแรก 1 ตุลาคม 2565) ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นสำนักงบฯ ก็ไปเอาข้อมูลจาก อบจ. มาแล้วว่าใครบ้างที่สมัครใจไป เพราะฉะนั้นคนที่เซ็นชื่อในเอกสารว่ามีความประสงค์ที่จะถ่ายโอนไปในช่วงเดือนธันวาที่ผ่านมา ในขั้นตอนกระบวนการทำงานแล้วนั้นคงไม่สามารถเปลี่ยนใจได้

“ แต่กรณีเปลี่ยนใจอยากจะกลับ หากตามขั้นตอนกระบวนการแล้ว คุณจะต้องถ่ายโอนไปอยู่ อบจ. ก่อน แล้วหลังจากวันที่ 1 ตุลาคม 2565 คุณอยากจะกลับกระทรวงสาธารณสุข จึงค่อยทำเรื่องขอโอนย้ายกลับอีกที ซึ่งเป็นขั้นตอนการโอนย้ายแบบปกติของส่วนราชการทุกส่วนอยู่แล้ว” นายเลอพงศ์ กล่าว

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org