"สาธิต" ชี้ปรับโควิดพ้นยูเซป 1 มี.ค. แต่ยังรักษาฟรีกลุ่มอาการสีเขียว ส่วนอาการสีเหลืองสีแดงยังรักษาได้ทุกที่เป็น "ยูเซปพลัส" รับยังห่วงเหตุติดเชื้อเพิ่ม อยากให้สื่อสารปชช.ให้เข้าใจก่อนเริ่มใช้จริง! ส่วน สบส.เผยนิยามเบื้องต้นอาการเหลืองแดง มีระดับไหน
เมื่อวันที่ 18 ก.พ. นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธาาณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเตรียมเปิด UCEP พลัส รองรับผู้ติดเชื้อโควิดอาการสีเหลือง สีแดง ที่สามารถใช้สิทธิ UCEP รักษาทุกที่ได้ว่า การปรับให้โควิดไปรักษาตามสิทธิ โดนผู้มีอาการสีเหลืองสีแดงยังเข้าใช้ UCEP พลัส ได้นั้น เป็นหลักการที่ดี ที่จะเตรียมปรับโควิดไปสู่โรคประจำถิ่น แต่ยังกังวลว่ายังผิดเวลา ถ้าผู้ติดเชื้อไม่เพิ่มก็ไม่น่ามีปัญหา แต่ขณะนี้ผู้ติดเชื้อกำลังเพิ่มขึ้น ตรวจ RT-PCR และ ATK ก็รวมกว่า 3 หมื่นรายต่อวัน ขณะที่ความรู้สึกของประชาชนบางส่วนยังอยากเข้า รพ. ซึ่งจะทำให้ศักยภาพเตียงลดลง และเพิ่มภาระบุคลากรหน้างานในการประเมินอาการ ดังนั้น จึงยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะปรับในวันที่ 1 มี.ค. นี้ โดยอยากให้มีการสื่อสารให้เข้าใจในประชาชนตรงกันก่อน
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธาาณสุข (สธ.)
นพ.ธเรศ กรัษรัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า วันที่ 1 มี.ค. 65 สธ.จะปรับการรักษาโควิดเป็นไปตามสิทธิ โดยหลักคือ ผู้ป่วยสีเขียวเข้ารับการรักษาที่บ้านหรือชุมชนเป็นหลัก (HI/CI First) ส่วนผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงที่เราเป็นห่วง จึงยังให้เข้าสู่การรักษาด้วยสิทธิ UCEP เดิมที่ไปรักษาทุกที่ทั้ง รพ.รัฐและเอกชนได้ คือ UCEP พลัส ซึ่งการใช้สิทธิ UCEP พลัส มีทั้งกรณีที่อยู่ HI/CI แล้ว เมื่อติดตามประเมินอาการพบอาการเปลี่ยนแปลงเป็นเหลืองและแดง ซึ่งจะมี รพ.คู่สัญญาหรือคลินิกชุมชนอบอุ่นดูแล ก็จะส่งต่อเข้าสู่การรักษาใน รพ.ทันที ส่วนกรณีที่มีอาการหนักขึ้นมาฉับพลันก็สามารถใช้สิทธิเข้าไปรักษาได้ทุกที่ทันที โดยประสาน 1669 ในการส่งต่อ
เมื่อถามถึงหลักเกณฑ์นิยามผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง นพ.ธเรศกล่าวว่า นิยามผู้ป่วยสีเหลืองและแดงมีอยู่แล้ว โดยผู้ป่วยสีเหลือง คือ เริ่มมีอาการปอดอักเสบมี 2 ระดับ คือ 2.1 ที่ต้องใช้เครื่องให้ออกซิเจนแคนนูลา และ 2.2 ที่ต้องใช้ออกซิเจนไฮโฟลว์ ส่วนสีแดงคือใช้เตียงระดับ 3 ต้องนอนในไอซียู หรือต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งบุคลากรจะมีเกณฑ์ในการเประเมินอาการเพื่อนำเข้าสู่ รพ.อยู่แล้ว
"ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเรื่องของอัตราการจ่ายเงินและให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ดำเนินการปรับขั้นตอนในการประเมินกลุ่มอาการสีเหลืองสีแดง เหมือนกับ UCEP ทั่วไป ที่มีการประเมินอาการฉุกเฉิน 6 กลุ่มอาการ ถ้าหากสีเหลืองแดงก็นำเข้าสู่การรักษาเลย ซึ่งเรากังวลว่ากลุ่มเหลืองแดงจะไม่ได้รับการดูแลเลยเปิด UCEP พลัสให้" นพ.ธเรศกล่าว
เมื่อถามถึงกรณีมีประชาชนออกมาระบุว่า ติดโควิด เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน แต่ทางโรงพยาบาลแจ้งว่าเตียงเต็ม หากจะเข้ามาดูแลแต่ต้องเสียเงินเองในหลักแสนกว่าบาท นพ.ธเรศ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการปรับ โรค covid-19 จากการเป็นโรคฉุกเฉิน สถานพยาบาลจะต้องดูแลประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม อาจจะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ในการสื่อสารเนื่องจาก ขณะนี้ ศบค. ประกาศกลุ่มผู้ไม่มีอาการรักษาที่บ้านก่อน หรือ HI First ดังนั้น สิ่งที่ โรงพยาบาลจะต้องสื่อสารกับประชาชน คือ เมื่อตรวจและประเมินอาการแล้ว พบว่า สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ ก็ต้องให้คำแนะนำและชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจว่าไม่จำเป็นต้องรักษาในรพ. แต่หากประชาชนเข้าใจแล้วแต่ยังยืนยัน ที่จะเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ตรงนี้ก็จะต้องจ่ายเงินเอง เนื่องจากโรงพยาบาลเองก็ไม่สามารถเบิกค่ารักษาได้เพราะไม่ถือว่าเข้าเกณฑ์ที่จะรับการรักษาในโรงพยาบาล ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของการสื่อสาร ซึ่งตนก็ได้แจ้งให้กับสถานพยาบาลต่างๆทราบในภาพรวมแล้ว
- 38 views