สัมภาษณ์พิเศษ ประธาน กมธ.สาธารณสุข ปมถ่ายโอน รพ.สต.ไปอบจ. การกระจายอำนาจที่โยงใยเป็นเครือข่าย ย่อมส่งผลต่อระบบสาธารณสุขไม่มากก็น้อย เสนอทางออกค่อยเป็นค่อยไป ทำเมื่อพร้อมทั้งสองฝ่าย เตรียมยื่นข้อเสนออีกรอบถ่ายโอนแบบ Sandbox และประเมินทุกด้าน ทั้งความคิดเห็น ปชช. เตือนหากถ่ายโอนแล้วมีปัญหาระบบบริการอาจขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ส่วนใครส่งชื่อให้อบจ.แล้ว แต่เปลี่ยนใจ มีโอกาสตัดสินใจตอนส่งชื่อให้ สสจ.
............
นับตั้งแต่ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง หลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ประกาศเมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564 ที่ผ่านมา
โดยมีวัตถุประสงค์ในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น สอดคล้องกับ พ.ร.บ.กระจายอำนาจฯ ซึ่งกรณีจะเป็นการถ่ายโอนหน่วยบริการปฐมภูมิ คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) และสถานีอนามัยฯ ที่มีความพร้อม สู่ท้องถิ่นที่มีความพร้อม แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายโอนรพ.สต. สู่อบจ. เนื่องจากที่ผ่านมาจะเป็นการถ่ายโอนไปยัง อบต. และเทศบาล
จากประกาศดังกล่าว คณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มี "นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์" เป็นประธาน ทำหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งล่าสุด มี อบจ. ทั่วประเทศส่งหนังสือมาขอรับการถ่ายโอน ทั้งหมด 49 อบจ. ผ่านการประเมินระดับดีเลิศ 45 อบจ. และอยู่ในระดับดีมาก 4 อบจ. ส่วน รพ.สต. ถ่ายโอนไปอบจ. ในรอบแรก 1 ต.ค. 2565 (ปีงบประมาณ 2566) รวม 3,384 แห่ง รวมบุคลากรประสงค์ถ่ายโอนจำนวน 21,899 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 12,037 คน และประเภทการจ้างอื่นๆ อีก 9,862 คน โดยระหว่างนี้จะมีขั้นตอนต่างๆ เพื่อรอให้มีผลนับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 ต่อไปนั้น
ปรากฎการณ์ดังกล่าว ยังมีข้อห่วงใยต่อระบบสาธารณสุขในอนาคต เนื่องจากการบริการปฐมภูมิ ถือเป็นด่านหน้าในการส่งเสริม ป้องกัน และฟื้นฟู และยังมีเรื่องการส่งต่อการรักษาพยาบาลจากปฐมภูมิไปรพ.ระดับทุติยภูมิ...
ผู้สื่อข่าว Hfocus มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษ "นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์" ประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข (กมธ.สาธารณสุข) วุฒิสภา เปิดมุมมองข้อห่วงใยที่มีต่อระบบสาธารณสุขไทย หากมีการถ่ายโอนรพ.สต.ไปท้องถิ่นอย่างเร่งรีบ
**คำถาม : การถ่ายโอน รพ.สต. ไปท้องถิ่นจะส่งผลดีหรือผลลบ ต่อระบบสาธารณสุขไทย
คงตอบไม่ได้ว่าจะส่งผลดี หรือผลลบ แต่ขึ้นอยู่ว่า ถ่ายโอนไปอบจ. จำนวนมากหรือน้อย และรพ.สต.และอบจ.มีความพร้อมแค่ไหน รวมถึง อบจ.มีรายได้มากน้อยอย่างไร ขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบ แต่เดิมระบบสาธารณสุขจะเป็นการช่วยกัน ประเด็นที่น่าห่วง คือ การส่งต่อ เดิมระบบปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิอยู่ในระบบเดียวกัน แต่หากถ่ายโอนไปจำนวนมากก็อาจมีปัญหาระหว่างการแยกระหว่งปฐมภูมิและทุติยภูมิ แต่หากถ่ายโอนจำนวนน้อย ระบบใหญ่ก็จะช่วยได้ แต่หากถ่ายโอนไปเยอะๆทีเดียว 1 ใน 3 ระบบใหญ่จะรับไม่ได้ ก็อาจจะเกิดการตัดตอนปฐมภูมิและทุติยภูมิออกจากกัน กลายเป็นคนละสังกัด เดิมสังกัดเดียวกัน ก็ช่วยกัน แต่หากตัดตอนก็อาจมีการใช้งบประมาณมากขึ้น ประเด็นปัญหาคือ หากใช้เงินเป็นตัวตั้ง อาจมีการปฏิเสธคนไข้ เพราะจะมีเรื่องการไม่จ่าย การตามจ่าย สุดท้ายผลกระทบจะเกิดกับประชาชน
**คำถาม : ประเด็นการถ่ายโอนรพ.สต.ไปท้องถิ่น เป็นกฎหมายที่ต้องดำเนินการ หากในอนาคตถ่ายโอนไปจำนวนมากๆ หรือทั้งหมด ระบบสาธารณสุขจะเป็นอย่างไร
กรณีนี้มีการระบุว่า หากไม่ทำตามกฎหมายจะผิดมาตรา 157 แต่กฎหมายออกมาตั้งแต่ปี 2542 คนไม่ทำควรโดนหรือไม่ แล้วจะมาเร่งรัดตอนช่วงรัฐบาลสมัยนี้ อย่างเดิมไม่มีการถ่ายโอนไป อบจ. แต่กฎหมายเขียนไว้ว่า กรณีถ่ายโอน รพ.สต. ไปอบต. หรือเทศบาล หากเป็นสเกลใหญ่ หรือรพ.จังหวัดก็ถ่ายโอนไป อบจ. ได้ แต่โดยเจตนารมย์กฎหมายก็ไม่ใช่จะต้องการถ่ายโอนไปอบจ. แต่ก็ทำได้ ที่เรากังวล คือ ยังไม่ได้เตรียมพร้อม แต่อยู่ๆจะมาถ่ายโอนจำนวนมาก เราห่วงว่าจะมีผลกระทบ
**คำถาม : ปัจจุบันมี 2 ฝั่งทั้งสนับสนุนถ่ายโอนรพ.สต.ไปท้องถิ่น เพราะมองเรื่องการเติบโต ความก้าวหน้าในสายงาน แต่อีกฝั่งของ รพ.สต.กลับไม่เห็นด้วย
สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้กลายเป็นความแตกความสามัคคีของเจ้าหน้าที่ของสาธารณสุขอย่างมาก ไม่เคยมีมาก่อน เพราะมีกลุ่มคนอยากไป อีกกลุ่มไม่อยากไป สิ่งที่เราเสนอคือ ถ่ายโอนได้ แต่ค่อยเป็นค่อยไป และต้องมีการประเมินว่า ถ่ายโอนไปแล้วดีหรือไม่ หากดีจะไปทั้งหมดก็ได้ แต่ต้องเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง สิ่งใดที่ประชาชนได้รับประโยชน์ สิ่งใดที่ประชาชนพึงพอใจก็ควรทำสิ่งนั้น เพียงแต่เราไม่รู้ว่าการถ่ายโอนจำนวนมากๆ จะทำให้ระบบรวนมากน้อยแค่ไหน แต่เราคิดว่าเกิดขึ้นแน่
**คำถาม : ขณะนี้การถ่ายโอนไปท้องถิ่นอยู่ระหว่างดำเนินการแล้ว จะมีข้อเสนออย่างไร
ที่ผ่านมาเราเสนอให้ทำแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) อาจเป็นเขตละ 1 แห่ง หรือทำเป็นเฟส 1 เฟส 2 โดยหากทำแล้วดีก็ค่อยไปทั้งหมดก็ได้ การที่ไม่มีการทดลองเลย อย่างกรณีการถ่ายโอนรพ.สต.ไป อบจ. ไม่เคยมีมาก่อน เราก็กังวล เพราะที่ผ่านมา มีแต่การถ่ายโอนรพ.สต.หรือสถานีอนามัยไปอบต. หรือเทศบาล ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่ากรณีถ่ายโอนไป อบจ.จะดีหรือไม่ ส่วนที่ผ่านมากรณีถ่ายโอนไปอบต. หรือเทศบาลแม้จะมีการประเมินผล แต่ก็ไม่เป็นกิจลักษณะ มีทั้งดี และไม่ดี เพราะมีบางส่วนขอกลับคืน แต่ที่ดีแล้วก็มี ภาพรวมต้องประเมินให้ครบถ้วน เพราะจริงๆต้องประเมินความคิดเห็นประชาชนด้วย
การถ่ายโอนไปภายใต้ระบบเดิม หากค่อยๆ ก็ยังพอจะดำเนินการได้ แต่หากถ่ายโอนไปมากๆ ระบบจะรองรับไม่ไหว ที่ผ่านมาตน ทำหนังสือเปิดผนึกเสนอนายกรัฐมนตรี ขอให้ยับยั้งเรื่องนี้ เนื่องจากตอนนั้นกำหนดว่า ให้ส่งชื่อผู้ที่จะถ่ายโอนมายัง อบจ.หรือคณะอนุกรรมการภารกิจถ่ายโอนฯ มาภายในวันที่ 7 ธ.ค.2564 เพราะต้องการให้ทันปีงบประมาณ 2566
"การทำอย่างงั้น เรามองว่าเร่งเกินไป และจะเป็นปัญหาต่อระบบ ทั้งที่ไม่มีความพร้อม และจะให้ยึดลายชื่อที่ลงชื่อไว้ เราจึงมองว่าขอให้ยับยั้ง แต่ตอนหลังกระบวนการก็เดินไป ซึ่งก็ต้องรอคอนเฟิร์มจากบุคลากรที่ต้องการถ่ายโอนไปที่อบจ. แต่สุดท้ายก็ต้องขึ้นกับหนังสือยืนยันของบุคลากรที่จะถ่ายโอน โดยต้องมีลายเซ็นส่งไปที่ สสจ. และสสจ.จะรวบรวมส่งกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำเข้า อ.ก.พ.กระทรวงฯ จึงจะเป็นลายชื่อคอนเฟิร์มสุดท้ายว่า ใครจะไปบ้าง จะยึดถือชื่อจาก อบจ.เป็นไปไม่ได้"
**คำถาม : มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า บุคลากรในรพ.สต.บางแห่ง ไม่ได้สมัครใจลงชื่อถ่ายโอน
ไม่ว่าอย่างไรเสีย หากสุดท้ายได้ยินยอมลงลายชื่อไปกับทาง สสจ. ก็คือ เป็นการตัดสินใจของเขา
"ผมจะยื่นหนังสืออีกครั้งแน่นอนเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่จะทันการหรือไม่ก็อีกเรื่อง..."
สิ่งที่น่ากังวลตอนนี้ คือ สุดท้ายต้องมียอดจำนวนบุคลากรที่จะถ่ายโอน ยกตัวอย่างหากมีทั้งหมดกว่า 2 หมื่นคน ก็ต้องแยกออกมา เช่น รพ.สต.1 แห่ง มีบุคลากร 7 คน ยอมถ่ายโอนไป 4 คน จะเหลือ 3 คน อบจ.พร้อมจ้างบุคลากรมาทำหน้าที่แทนหรือไม่ และกรณีการให้บริการปฐมภูมิ ที่ต้องส่งเสริมป้องกัน รักษาฟื้นฟู ก็ต้องมาพิจารณาศักยภาพที่ อบจ.จะทำได้ยาก คือ เรื่องรักษา เดิมมีหมอรพ.ชุมชน รพ.ทั่วไปมาช่วยหมุนเวียนกันมาให้บริการ แต่หากตัดตอนไปแล้ว บุคลากรสาธารณสุขจะมาช่วยหรือไม่ เพราะคนละสังกัด
"กรณีหากจ้างบุคลากรเพิ่มไม่ได้ หรือจ้างไม่ทัน พวกเขาทำงานไม่ได้ ก็ให้บริการไม่ได้ ตรงนี้ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 55 เขียนชัดเจนว่า การบริการสาธารณสุขต้องมีประสิทธิภาพ และต้องพัฒนาให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากการบริการสาธารณสุขถอยลง ก็เท่ากับขัดรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ใหญ่กว่าพ.ร.บ.กระจายอำนาจอีก นี่คือ สิ่งที่เรากังวล" นพ.เจตน์ กล่าว
นพ.เจตน์ ยังกล่าวกับทาง Hfocus ถึงข้อห่วงใยอีกข้อว่า มีประเด็นที่ทำให้บุคลากรในรพ.สต.หลายคนเข้าใจคลาดเคลื่อน เนื่องจากมีความเข้าใจผิดว่า หากสาธารณสุขถ่ายโอนไปแล้วจะมีการเลื่อนซีขึ้น เป็นระดับซี 8 ซี 9 ตรงนี้ต้องใช้เงินของ อบจ. และการเลื่อนซี หรือได้ขึ้นตำแหน่ง ไม่ใช่ทุกคนที่ไปจะได้หมด ต้องคิดดีๆ เพราะอย่าลืมว่า งบบุคลากรของอบจ.ต้องใช้ไม่เกิน 40% ของรายจ่ายของงบประมาณประจำปี ตนเชื่อว่าส่วนใหญ่น่าจะเต็มแล้ว แต่หากถ่ายโอนไปจำนวนบุคลากรที่ถ่ายโอนไม่นับรวมตรงนี้ แต่ถ้าจ้างใหม่ต้องนับมารวม คือ ต้องไม่เกิน 40% ซึ่งเป็นกฎหมายท้องถิ่นเพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย เรื่องนี้ค่อนข้างซับซ้อน ทำให้มีทั้งแรงดัน และแรงดึง
"ผมก็เชื่อว่าการจะจ้างเพิ่มนั้น ค่อนข้างยาก ส่วนใหญ่น่าจะเต็มกรอบกฎหมายท้องถิ่นแล้ว เพราะอย่าลืมว่า งานของท้องถิ่นเยอะมาก ไม่ใช่แค่สาธารณสุข เมื่องานเยอะก็ต้องจ้างเจ้าหน้าที่ จ้างบุคลากรมาทำงานเพิ่ม เรื่องนี้ต้องพิจารณาดีๆ และต้องดูความพร้อมของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ หาก อบจ.พร้อมก็จะเป็นเรื่องดี ยิ่ง อบจ.ให้ความสำคัญสาธารณสุขยิ่งดีใหญ่ "
**คำถาม : ปัจจุบัน อบจ.งบประมาณไม่ได้มากเหมือนอดีตหรือไม่
ต้องดูว่า ประเทศมีงบประมาณอย่างไร มีรายได้ดี ประเทศร่ำรวยหรือไม่ แต่สถานการณ์โควิด รายได้ก็ลดลงอีก ภาระก็เพิ่มขึ้นอีก
**คำถาม : จากการระบาดของโควิด หน่วยบริการปฐมภูมิมีความสำคัญในฐานะด่านหน้ากับประชาชน หากถ่ายโอนไปท้องถิ่น การทำงานปฐมภูมิ โดยเฉพาะการส่งเสริมป้องกันโรคจะทำอย่างไร
บทบาทของการป้องกันโรคโควิด หรือโรคระบาดใดๆก็ตาม ต้องให้ความสำคัญกับปฐมภูมิมากที่สุด เพราะเป็นหน่วยรบหลัก ซึ่งที่ผ่านมา อสม. บุคลากรปฐมภูมิทั้งหมด ทำงานได้ดีมา เพราะหลายประเทศในโลกไม่มีอสม. แต่หากถ่ายโอนไปแล้วนั้น ก็ต้องเตรียมพร้อม ซึ่งหากทยอยทำ และประเมินผล ซึ่งต้องถามประชาชนด้วยว่า ถ่ายโอนจากสาธารณสุขไปท้องถิ่นจะโอเคหรือไม่ ต้องถามประชาชนด้วย ที่ผ่านมาไม่มี เรื่องนี้เป็นนโยบายสาธารณะ ไม่ถามประชาชนไม่ได้
"การกระจายอำนาจเป็นสิ่งที่ดี แต่การกระจายอำนาจที่เกี่ยวข้องกับคน กับการรักษาพยาบาล อันนี้ต้องคิดดีๆ เพราะนี่เป็นการถ่ายโอนที่โยงใยกันเป็นเครือข่าย ย่อมส่งผลต่อระบบ"
**คำถาม : สิ่งที่อยากฝากให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการเรื่องการถ่ายโอนรพ.สต.ไปท้องถิ่น
ประการแรก กระทรวงสาธารณสุขต้องสำรวจความพร้อม รพ.สต.ที่จะถ่ายโอน และอบจ.ที่จะรับโอน เพราะสิ่งนี้จะเกิดผลกระทบต่อประชาชน ประการต่อมา เรื่องนี้ไม่ต้องรีบ ไม่มีความจำเป็นต้องรีบ เพราะการรีบในสถานการณ์โควิด ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงขาขึ้น แต่กลับมาทำการถ่ายโอนภารกิจที่สำคัญที่สุดของการต่อสู้โควิด ตนไม่เห็นด้วย ไม่ใช่เวลาที่จะมาทำเรื่องนี้ และประการที่สาม การถ่ายโอนมากๆ 1 ใน 3 บอกไม่ได้ว่าจะทำให้ระบบเสียหายแค่ไหน ซึ่งเสียหายแน่นอน แทนที่จะค่อยๆทำ และประเมินผล อย่างรพ.สต.ที่มี 7 คน แต่ไป 2 คน อีก 5 คนไม่ไป อันนี้มีปัญหาแน่ ถือว่าไม่พร้อม ดังนั้น ควรทำแบบแซนด์บ็อกซ์ ค่อยๆทำจะช่วยให้เราประเมินได้
******************
ข่าวเกี่ยวข้อง
-"หมอเจตน์" ส่งหนังสือถึงนายกฯ ขอยับยั้งถ่ายโอน รพ.สต.
-ชมรม รพ.สต.-สมาคม อบจ. ขอเร่งรัดถ่ายโอนสาธารณสุขไปท้องถิ่น (ชมคลิป)
-อัปเดต! “เครือข่ายสาธารณสุขไทยฯ” ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอชะลอการถ่ายโอนรพ.สต. ไป อบจ.
- สธ.เปิดแผนดำเนินการผู้ประสงค์ และไม่ประสงค์ถ่ายโอนไป อบจ.
-สธ.เตรียมปรับเกลี่ยอัตรากำลังใหม่ ล่าสุดส่งหนังสือถึงผู้ว่าฯ ขอรายชื่อคนไม่ถ่ายโอนไปท้องถิ่นแล้ว
-ทบทวนสถานการณ์ถ่ายโอน รพ.สต. ไปท้องถิ่น ปี 64 สู่แนวโน้มปี 65
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 6324 views