กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์รูปแบบผู้ติดเชื้อโควิดให้เกิดความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ให้ความสำคัญกลุ่มอาการหนักและเสียชีวิต เหตุสายพันธุ์โอมิครอนติดเร็ว แต่อาการค่อนข้างน้อย ป่วยหนักและเสียชีวิตแนวโน้มคงตัว ไม่ได้เพิ่มขึ้นสูงมาก ส่วนการแจ้งเตือนภัยโควิดยังอยู่ระดับ 4
เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยากรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ทั่วโลกติดเชื้อรายใหม่ 2.4 ล้านราย สะสม 403 ล้านราย เสียชีวิต 1.1 หมื่นราย สะสม 5.79 ล้านราย แนวโน้มถือว่าลดลง สำหรับสหรัฐอเมริกาและยุโรปแม้จะเริ่มลดลง แต่ยังรายงานผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ดังนั้น หากจะเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาต้องติดตามสถานการณ์ด้วย ส่วนเอเชีย เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มีการติดเชื้อรายงานมากขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับประเทศไทยเรารายงานสถานการณ์ในรูปแบบที่ให้เกิดความรู้ความเข้าใจมากขึ้น โดยขอให้สนใจตัวเลขผู้ป่วยปอดอักเสบและการเสียชีวิตมากกว่าการติดเชื้อรายวัน เนื่องจากสายพันธุ์โอมิครอน อาการค่อนข้างน้อย โอกาสพบผู้ติดเชื้ออาการรุนแรงมีไม่มาก
โดยวันนี้ประเทศไทยรายงานผู้ป่วยปอดอักเสบ 563 ราย เพิ่มขึ้น 16 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 114 ราย เพิ่มขึ้น 3 ราย แนวโน้มยังดูสูงขึ้นไปอยู่ แต่ถ้าเทียบกับเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2564 ที่มีการติดเชื้อสูงสุดของประเทศไทย คือ 2.3 หมื่นกว่าราย ช่วงนั้นมีผู้ป่วยปอดอักเสบประมาณ 5.6 พันราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 1,111 ราย ขณะนี้เราอยู่ประมาณ 1 ใน 10 ของยอดสูงสุดเมื่อปีที่แล้ว ส่วนเสียชีวิตวันนี้รายงาน 20 ราย เป็นกลุ่มผู้สูงวัย มีโรคเรื้อรังทั้งหมด โดยมีเพียงรายเดียวที่รับบูสเตอร์โดส แต่รับเพียง 13 วัน ซึ่งอาจยังสร้างภูมิคุ้มกันไม่ทัน ดังนั้นผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตยังอยู่ในแนวโน้มคงตัว ไม่ได้เพิ่มขึ้นสูงมาก โดย 20 ราย อยู่ในเกณฑืที่ศักยภาพทางการแพทย์รองรับได้
นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า ส่วนผู้ติดเชื้อรายวันอยากให้ทราบว่า ต้องใช้วิธีการติดตามสถานการณ์รายวันแบบเฉลี่ย 7 วัน เพื่อให้เห็นภาพว่าสัปดาห์หนึ่งมีการติดเชื้อเท่าไร ซึ่งขณะนี้ผู้ติดเชื้อในประเทศอยู่ที่ 11,450 ราย แต่แนวโน้มถือว่ายังสูงขึ้นต่อเนื่อง จากการเริ่มผ่อนคลายมาตรการและมีกิจกรรมทางสังคม ไปรับประทานอาหารร่วมกัน ทำให้อาจมีโอกาสแพร่เชื้อและติดเชื้อตามกันไปได้เพิ่มขึ้น แต่หากเราดูแลตนเอง ลดปัจจัยเสี่ยงให้มากที่สุด รับวัคซีนครบและบูสเตอร์โดส ก็จะสร้างความเชื่อมั่นว่า หากติดเชื้ออาการจะไม่รุนแรง สำหรับการรักษาขณะนี้อยู่ในระบบ 105,129 ราย ถือเป็นเพียงครึ่งเดียวจากช่วงที่ติดเชื้อสูงสุดที่มีผู้รักษาในระบบ 2 แสนราย โดยพบว่าครึ่งหนึ่งอยู่ใน รพ. คือ 5 หมื่นคน และอีกครึ่งหนึ่งอยู่นอก รพ.คือแยกกักที่บ้าน HI รพ.สนาม หรือ CI รวมประมาณ 5.3 หมื่นคน และส่วนใหญ่อาการไม่มาก
"ทั้งหมดเป็นตัวเลขที่ใช้ติดตามได้ว่า สถานกาณณ์ตอนนี้ศักยภาพด้านการแพทย์ยังมีรองรับเพียงพอในผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ส่วนคนอาการไม่มากหรือไม่มีอาการ ที่เมื่อตรวจเจอเชื้อแล้วอาจพิจารณาอยู่ที่บ้านทำ HI แยกกักที่บ้าน อาจสะดวกกับตัวเองและครอบครัวมากขึ้น หากแยกกักไม่ได้อาจเข้าระบบ รพ.สนาม หรือฮอสพิเทล" นพ.จักรรัฐกล่าว
นพ.จักรรัฐกล่าวว่า ในการรายงานสถานการณ์ยังนำเสนอการแจ้งเตือนที่ยังอยู่ในระดับ 4 ขอให้งดเข้าสถานที่เสี่ยงระบบปิด งดการรวมกลุ่มคนจำนวนมากๆ ที่มีโอกาสเจอผู้ติดเชื้อมาสัมผัสเราได้ หากต้องไปสถานที่เสี่ยงให้สวมหน้ากากตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังรายงานจังหวัดที่แนวโน้มยังมีความเสี่ยงสูงและติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ได้แก่ เชียงใหม่ นครสวรรค์ นครราชสีมา ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ขอนแก่น มหาสารคาม สุรินทร์ ภูเก็ต นครศรีธรรมราช ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสารคร ฉะเชิงเทรา ระยอง ปราจีนบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี และ กทม.
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สำหรับผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานอายุ 20-29 ปี 30-39 ปี และ 40-49 ปี แต่ที่เพิ่มขึ้นช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คือกลุ่มเด็ก 0-9 ปี และวัยรุ่น 10-19 ปี มีจากหลายปัจจัย ซึ่งรายงานผู้ติดเชื้อกลุ่มเด็กช่วงวันที่ 30 ม.ค. - 5 ก.พ. จำนวน 10,832 ราย แบ่งเป็น 0-4 ปี , 5-9 ปี , 10-14 ปี และ 15-19 ปี ว่ามีการสัมผัสติดเชื้ออย่างไร พบว่า การติดเชื้อในโรงเรียนมักพบในกลุ่มอายุ 10-14 ปีและ 15-19 ปี
ส่วนการติดเชื้อในครอบครัวพบมากในทุกกลุ่มอายุ แต่จะมากในกลุ่ม 0-4 ปี และ 5-9 ปี เนื่องจากพ่อแม่ติดเชื้อมาและทำให้ลูกติดเชื้อตาม ส่วนสัมผัสผู้ติดเชื้อนอกบ้านและในชุมชน จะเป็นกลุ่มวัยรุ่น 15-19 ปีเป็นหลัก ซึ่งแต่ละกลุ่มมีกิจกรรมแตกต่างกันทำให้สาเหตุการติดเชื้อแตกต่างกัน แต่ย้ำว่ามีการติดเชื้อในบ้านจำนวนมากในทุกกลุ่มอายุเด็ก จึงเป็นประเด็นสำคัญ เพระาหากติดเชื้อในเด็กและไม่ระวังอาจไปติดผู้สูงอายุในบ้าน ทำให้มีอาการรุนแรงได้ ซึ่งกลุ่มเด็กอัตราติดเชื้อเสียชีวิตอยู่ที่ 0.01% แต่ผู้สูงอายุอัตราเสียชีวิตสูงมกา โดยเฉพาะอายุ 70 ปีขึ้นไปสูงกว่าเด็กเล็กถึง 200 เท่า
"หากมีการติดเชื้อในเด็กเล็ก ขอให้เว้นระยะห่าง ปู่ย่าตายายอย่าเพิ่งเข้าไปกอดหอมแก้มเด็ก อาจติดเชื้อและมีอาการหนักได้ โดยเฉพาะคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีนหรือบูสเตอร์โดส จึงต้องรณรงค์ให้มารับวัคซีนโดยเร็ว" นพ.จักรรัฐ กล่าว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 43 views