พญ.ลลนา ก้องธรนินทร์ ผู้แทนกลุ่ม Rabbit Crossing เข้าพบเลขาธิการแพทยสภา ยื่นหนังสือต่อแพทยสภาให้ช่วยสนับสนุนและผลักดัน โครงการ Rabbit crossing ให้ทางม้าลายปลอดภัยต่อประชาชน เพื่อตระหนักถึงความสำคัญต่อความสูญเสียของแพทย์และประชาชนบนท้องถนน
เมื่อวันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 10.00 น. ณ สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา ชั้น 12 อาคารมหิตลาธิเบศร ภายในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี แพทย์หญิงลลนา ก้องธรนินทร์ ผู้แทนกลุ่ม Rabbit Crossing แพทย์รามาธิบดี รุ่น 42 และ คณะ เข้าพบ ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา และ ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี กรรมการแพทยสภา เพื่อยื่นหนังสือต่อแพทยสภาให้ช่วยสนับสนุนและผลักดัน โครงการ Rabbit crossing ให้ทางม้าลายปลอดภัยต่อประชาชน ซึ่งเกิดขึ้นจากความสูญเสีย พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือคุณหมอกระต่าย โดยทางแพทยสภาตระหนักถึงความสำคัญต่อความสูญเสียของแพทย์และประชาชนบนท้องถนนเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ในการดำเนินงานของแพทยสภา ได้มีการประสานหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องเพื่อทำงานเชิงรุกในทันทีโดย
1. ให้จัดทำทางม้าลายปลอดภัยและสัญญาณไฟข้ามถนน ณ จุดเกิดเหตุ สถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ และขอให้ขยายไปยังหน้าโรงพยาบาล รวมทั้งทางม้าลายที่มีความเสี่ยงทั่วประเทศอยู่แล้ว
2. ได้จัดบรรยายวิชาการ “หมอชวนรู้” ให้ความรู้กับประชาชนเรื่อง “อุบัติเหตุจราจร แก้ไขได้อย่างไรในมุมมองทางการแพทย์” ไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา ทาง Facebook live แพทยสภา
3. นำข้อเสนอจากการบรรยายวิชาการดังกล่าวมาสรุปรวมกับข้อเสนอแนะของหลายฝ่ายเพื่อขับเคลื่อนต่อไป ผ่านการประชุมคณะกรรมการแพทยสภา ในวันพฤหัสบดีที่ 10 ก.พ. นี้
ทั้งนี้ในส่วนข้อเสนอของกลุ่ม Rabbit Crossing ประกอบด้วย
1. ทางม้าลายต้องปลอดภัย รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกแบบทุกทางม้าลายเป็นทางข้ามที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน เช่น ทางข้ามมีความชัดเจนเห็นได้ในระยะไกล มีป้ายเตือนล่วงหน้าที่ชัดเจนให้ผู้ขับขี่รับรู้ว่าเป็นทางข้าม หากเป็นทางที่มีคนข้ามเป็นประจำหรือเป็นสถานที่สำคัญ เช่น โรงเรียน ต้องมีสัญญาณไฟจราจรรวมถึงมีปุ่มกดเพื่อขอข้าม มีกล้องวงจรปิดในบริเวณทางข้ามที่มักมีการกระทำผิดบ่อยเพื่อบันทึกผู้กระทำความผิดและลงโทษอย่างจริงจัง เป็นต้น
2. หยุดรถให้คนข้าม รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเริ่มรณรงค์ให้ประชาชนทุกคนเข้าใจความสำคัญของการหยุดยานพาหนะให้คนข้ามทางม้าลาย ให้ประชาชนทุกคนเห็นว่าเรื่องนี้เป็นมาตรฐานที่ต้องปฏิบัติตามเป็นประจำและทำการรณรงค์ต่อเนื่องเป็นประจำและสม่ำเสมอ
3. บังคับใช้กฎหมาย กรณีผู้ขับขี่ไม่ลดความเร็วขณะขับยานพาหนะเข้าใกล้ทางม้าลาย หรือไม่หยุดยานพาหนะให้คนข้ามทางม้าลาย หน่วยงานรัฐและตำรวจต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่เดิม ลงโทษอย่างจริงจังและโดยสุจริต
4. ออกกฎหมายใหม่ แยกมาตราใหม่ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก ที่กำหนดชัดเจนว่ากรณีผู้ขับขี่ไม่ลดความเร็วยานพาหนะขณะขับเข้าใกล้ทางม้าลาย หรือกรณีไม่หยุดยานพาหนะให้คนข้ามทางม้าลายมีความผิด และมีโทษอื่นนอกเหนือจากการปรับ เช่น ตัดคะแนน บังคับให้เข้ารับการอบรม หรือพักการใช้ใบอนุญาตขับขี่ เป็นต้น
5. ปรับบทลงโทษ ออกกฎหมายเป็นมาตราใหม่ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก ที่กำหนดบทลงโทษอย่างรุนแรงกับผู้ขับขี่ที่ขับชนคนข้ามทางม้าลาย ในลักษณะคล้ายกรณีผู้ขับขี่เมาแล้วขับชนคนอื่นตามมาตรา 160 ตรี ของพระราชบัญญัติจราจรทางบก ซึ่งมีโทษสูงสุดคือจำคุก และเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
ทั้งนี้ เลขาธิการแพทยสภา ได้รับเอกสารดังกล่าวจากกลุ่ม Rabbit Crossing และคณะแพทย์รามาธิบดีรุ่น 42 พร้อมทั้งยินดีที่จะนำไปประกอบกับข้อเสนอกับหน่วยงานอื่น เพื่อเป็นข้อสรุปจากแพทยสภาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยต่อประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ จากทางม้าลายและการจราจรบนท้องถนน เพื่อลดความสูญสีย และผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิตที่จะต้องเข้าสู่ห้องอุบัติเหตุและฉุกเฉินของโรงพยาบาล ซึ่งมีมากกว่า 1,400 คน* โดยเป็นยอดสะสมตั้งแต่ต้นปี 2565 ขณะเดียวกันแพทยสภาก็ขอให้ผู้ขับขี่รถยนต์ให้ความสำคัญกับทางม้าลาย และการหยุดเมื่อมีผู้ข้ามถนน เพื่อลดอุบัติเหตุดังกล่าวด้วย
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 151 views