อบต.สองคลอง จ.ฉะเชิงเทรา ยกระดับโครงการ “เด็กไทยสายตาดีวิถีชีวิตใหม่ สิทธิประโยชน์แว่นตาสำหรับเด็กสายตาผิดปกติ” ใช้งบกองทุนสุขภาพตำบล ขยายการดูแล-คัดกรอง-ตัดแว่น ให้ประชาชนทุกวัย

เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการ สปสช. ลงพื้นที่ ต.สองคลอง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินโครงการ “เด็กไทยสายตาดีวิถีชีวิตใหม่ สิทธิประโยชน์แว่นตาสำหรับเด็กสายตาผิดปกติ” ซึ่งใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล (กปท.) สองคลอง สนับสนุนการดำเนินโครงการ

สำหรับโครงการ "แว่นตาสำหรับเด็กสายตาผิดปกติ สิทธิประโยชน์บัตรทอง ของขวัญเพื่อเด็กไทยสายตาดี" เป็นความร่วมมือระหว่าง สปสช. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่จะตรวจคัดกรองความผิดปกติของสายตาในเด็ก ป.1 ทั่วประเทศกว่า 700,000 คน รวมทั้งหากตรวจพบเด็กที่มีสายตาผิดปกติจะส่งตัวไปพบจักษุแพทย์และตัดแว่นให้ฟรี

อย่างไรก็ดี ต.สองคลอง ได้ต่อยอดจากโครงการดังกล่าว ด้วยการใช้งบประมาณจาก กปท. ในการดำเนินการตรวจคัดกรองและตัดแว่นให้กับคนในพื้นที่ โดยครอบคลุมประชาชนทุกช่วงวัย ไม่ได้จำกัดเพียงแค่เด็ก ป.1 เท่านั้น

นายสมภพ คงภิรมย์ชื่น ผู้อำนวยการกองช่าง อบต.สองคลอง รักษาราชการแทนส่วนสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ต.สองคลอง มีพื้นที่กว้าง ประชาชนอยู่ห่างไกลกัน โดยที่ผ่านมาได้รับความช่วยเหลือจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้าไปช่วยคัดกรองความผิดปกติทางการมองเห็นของประชาชนกว่า 1 หมื่นราย พร้อมทั้งเข้าสู่กระบวนการตรวจโดยจักษุแพทย์ โดยพบว่ามีผู้มีความผิดปกติทางสายตารวม 1,348 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสายตายาว 898 คน กลุ่มสายตาสั้น 433 คน และกลุ่มสายตาเอียง 17 คน

นายสมภพ กล่าวต่อว่า ปัญหาการมองเห็นและความผิดปกติทางสายตา สัมพันธ์โดยตรงกับการใช้ชีวิตและการเรียนรู้ของคนทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กนักเรียนที่ปัญหาทางสายตาจะกลายมาเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ ทาง อบต.สองคลอง จึงได้จัดทำโครงการเสนอไป กปท.สองคลอง เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยจะครอบคลุมผู้มีปัญหาทางสายตาทุกกลุ่มวัย

นพ.จเด็จ กล่าวว่า โครงการเด็กไทยสายตาดีวิถีชีวิตใหม่ สิทธิประโยชน์แว่นตาสำหรับเด็กสายตาผิดปกติ เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2565 โดยได้ประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มเด็กเล็กให้เข้ามาคัดกรองปัญหาสายตา เพราะจากการศึกษาพบว่า กลุ่มเด็กเล็กไม่สามารถสื่อสารหรือบอกได้ว่าตาของตัวเองไม่ดี ส่วนใหญ่จะสะท้อนผ่านผลการเรียนที่ต่ำกว่าปกติ ดังนั้นจึงต้องขอความร่วมจากคุณครูให้ช่วยคัดกรองเด็ก หากพบว่ามีปัญหาด้านสายตาจะมีกระบวนการส่งต่อไปให้ทางจักษุแพทย์ตรวจ และตัดแว่น

นอกจากนี้ สปสช. ยังได้จัดชุดสิทธิประโยชน์สนับสนุนค่าแว่นตาให้กับหน่วยบริการที่ตรวจวินิจฉัย วัดค่าสายตา และสั่งตัดแว่นตาให้กับเด็กที่มีสายตาผิดปกติทุกสิทธิการรักษา ซึ่งการจ่ายจะเป็นการแบบ Fee Schedule หรือการจ่ายแบบรายการ เพื่อสนับสนุนให้เด็กอายุ 3-12 ปีทุกคน ที่มีภาวะสายตาผิดปกติให้สามารถเข้าถึงแว่นตาได้ ขณะเดียวกัน สปสช. ยังสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการการจัดบริการ เช่น การจัดรถรับส่งเด็กนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือไม่สะดวกในการเดินทางเข้ามารับบริการสายตาหรือมาตัดแว่น/รับแว่น เป็นต้น

“การลงพื้นที่ในวันนี้ที่ตำบลสองคลองแสดงให้เห็นการร่วมมือกันในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และความร่วมมือของชาวบ้านในพื้นที่ ตั้งแต่กระบวนการคัดกรองที่ได้ความช่วยเหลือจาก อสม. รวมไปถึงคุณครู และชาวบ้านจากชุมชนต่างๆ ซึ่งไม่เพียงแต่ดำเนินการในกลุ่มเด็ก แต่ยังครอบคลุมไปถึงการตัดแว่นให้กลุ่มผู้สูงอายุด้วย ดังนั้นจึงเป็นแบบอย่างที่ดีของท้องถิ่นที่ร่วมมือกับ กปท.” นพ.จเด็จ กล่าว

ด้าน น.ส.วิชุดา วรรณสวัสดิ์ ครูและเจ้าหน้าที่อนามัยประจำ โรงเรียนวัดสองคลอง กล่าวว่า โครงการได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งจากประสบการณ์ตรงในฐานะครูประจำชั้นพบว่าเด็กบางคนต้องเพ่งสายตามองเวลาเรียน การแก้ปัญหาที่ทำได้คือการขยับที่นั่งของเด็ก แต่ในบางรายแม้ว่าขยับแล้วก็ยังพบว่าเด็กยังคงต้องเพ่งอยู่ ตรงนี้สะท้อนว่าตัวเด็กอาจมีปัญหาสายตา

น.ส.วิชุดา กล่าวว่า โครงการได้ให้ครูมีส่วนร่วมในการคัดกรองเด็ก ซึ่งทำให้ครูได้เห็นถึงสถานการณ์ของปัญหาและตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหาทางสายตาของเด็ก ซึ่งเด็กที่ได้รับแว่นตาจากโครงการจะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน คือมีความตั้งใจเรียนมากขึ้น เข้าร่วมกิจกรรมได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าจะนำไปสู่พัฒนาการและการเรียนรู้ที่ดียิ่งขึ้น

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org