บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) เป็นบริการที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายปีให้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชนคนไทยทุกสิทธิหลักประกันสุขภาพ ซึ่งจะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ลดอัตราการป่วย-เสียชีวิต และประหยัดงบประมาณในการรักษาพยาบาลในระยะยาวได้

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ให้ข้อมูลไว้ว่า ในปีงบประมาณ 2565 สปสช.ได้จัดหมวดงบประมาณด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้ทันสมัยและเป็นปัจจุบันมากขึ้น สำหรับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สปสช. ได้จัดหมวดหมู่สิทธิประโยชน์ออกเป็น “ตามช่วงวัย” และเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น นพ.กฤช ลี่ทองอิน ที่ปรึกษา กลุ่มภารกิจสนับสนุนการเข้าถึงบริการปฐมภูมิและการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค สปสช. ได้อธิบายเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนคนไทยทุกคนควรจะได้รับ แบ่งออกเป็น 1. สิทธิประโยชน์ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และหลังคลอด 2. กลุ่มเด็กเล็กอายุ 0-5 ปี 3. กลุ่มเด็กโตและวัยรุ่นอายุ 6-24 ปี 4. กลุ่มผู้ใหญ่อายุ 25-59 ปี และ 5. กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป

 

--- ‘หญิงตั้งครรภ์’ กับสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ ---

 

นพ.กฤช อธิบายว่า สิทธิประโยชน์เริ่มตั้งแต่คู่สามีภรรยาที่วางแผนจะมีบุตร สามารถขอรับคำปรึกษาการเตรียมความพร้อมที่จะมีบุตรได้ที่หน่วยบริการประจำที่ลงทะเบียนไว้ และขอรับยาเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิกกินก่อนการตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงพิการของทารกแต่กำเนิด เมื่อประจำเดือนขาด คลื่นไส้อาเจียนหรือแพ้ท้อง อาจซื้อชุดทดสอบการตั้งครรภ์ (Pregnancy Test) มาทดสอบเองได้ หรือไปตรวจกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือแพทย์ที่หน่วยบริการประจำหรือเครือข่ายของหน่วยบริการประจำ เช่น รพ.สต ที่ลงทะเบียนไว้ หากตั้งครรภ์จริงจะได้รับคำแนะนำให้รับบริการดูแลการตั้งครรภ์ หรือที่เรียกว่าฝากครรภ์

อย่างไรก็ดี การดูแลการตั้งครรภ์ในสิทธิประโยชน์ของบัตรทองนั้น กำหนดไว้อย่างน้อย 5 ครั้ง แต่ทว่าในปีนี้มีการขยายไปเป็น 8 ครั้ง หากมีความจำเป็นหน่วยบริการจะให้การดูแลมากกว่า 8 ครั้งได้ ทั้งนี้ สปสช.อาจขอทราบเหตุผลและหลักฐานการให้บริการจากหน่วยบริการที่ดูแลการตั้งครรภ์

นพ.กฤช อธิบายเพิ่มว่า ในการดูแลการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง แพทย์และหรือพยาบาลจะทำการซักถามประวัติอาการและอาการแสดง ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจครรภ์ รวมถึงการซักประวัติและประเมินความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ เพื่อพิจารณาให้การดูแลตามปกติหรือต้องให้การดูแลเป็นพิเศษหากมีความเสี่ยงสูงหรือพิจารณาส่งต่อไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

นอกเหนือจากการซักประวัติตรวจร่างกายแล้ว หญิงตั้งครรภ์ยังจะได้รับการตรวจปัสสาวะทุกครั้งที่เข้ารับบริการดูแลครรภ์เพื่อตรวจการติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะ ไข่ขาวและน้ำตาล ในการบริการดูแลครรภ์ครั้งแรกหรือครั้งที่สองจะมีการเจาะเลือดเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ (Lab) ที่สำคัญ ได้แก่ การตรวจนับเม็ดเลือดหรือ CBC ตรวจการติดเชื้อเอชไอวี ซิฟิลิส และตับอักเสบบี

มากไปกว่านั้นหญิงตั้งครรภ์จะได้รับการตรวจเลือดเพิ่มเติมเพื่อคัดกรองโรคธาลัสซีเมีย และภาวะดาวน์ซินโดรม รวมถึงการตรวจด้วยอัลตร้าซาวด์เพื่อยืนยันอายุครรภ์ จำนวนทารก การตรวจทั้งหมดก็เพื่อการดูแลสุขภาพมารดาและการดูแลป้องกันสุขภาพทารกในครรภ์

“การตรวจคัดกรองธาลัสซีเมีย และซิฟิลิสก็ยังให้สิทธิแก่สามีด้วย ถ้าสามีและภรรยามีผลการตรวจคัดกรองโรคธาลัสซีเมียเป็นบวกทั้งคู่ก็จะต้องตรวจยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าเป็นจริงหรือไม่ ซึ่งก็จะได้สิทธิตรวจฮีโมโกลบิน ชนิดและปริมาณของฮีโมโกลบินจะบ่งบอกว่าเป็นธาลัสซีเมียหรือไม่ หากผลออกมาแล้วพบว่ายังเป็นบวกทั้งคู่ก็แสดงว่าเป็นคู่เสี่ยงที่จะทำให้ลูกเกิดมามีแนวโน้มเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ได้แก่ “เบต้า/เบต้า เบต้า/อี หรือเป็นครรภ์น้ำจนเด็กเสียชีวิตในท้อง”

นพ.กฤช อธิบายต่อไปว่า ในกรณีที่พบว่าทารกในครรภ์มีโอกาสเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงก็มีทางเลือกให้กับมารดาได้ว่าจะยุติการตั้งครรภ์หรือไม่ โดยมีสิทธิประโยชน์ในการยุติการตั้งครรภ์รองรับ ซึ่งขั้นตอนต่อไปแพทย์ก็จะมีคำแนะนำให้ตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ด้วยการเจาะน้ำคร่ำ หรือเจาะเลือดจากสายสะดือ หรือตัดเยื่อรก เพื่อส่งตัวอย่างตรวจยืนยันต่อไป

ทว่าการที่จะยุติการตั้งครรภ์นั้นอายุครรภ์จะต้องไม่เกิน 24 สัปดาห์ เพราะหากเกิน 24 สัปดาห์ อาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์และอาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้

“การฝากครรภ์ครั้งแรก การตรวจหลายๆ อย่างจะสามารถตรวจได้ทันที ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับหน่วยบริการแต่ละแห่ง ยกเว้นการตรวจดาวน์ซินโดรม ซึ่งจะต้องรอให้มีอายุครรภ์ประมาณ 13-20 สัปดาห์ เพราะวิธีการตรวจที่ใช้เหมาะสมกับช่วงอายุครรภ์ประมาณนี้ พร้อมอาจตรวจอัลตร้าซาวด์เพื่อทราบอายุครรภ์ที่ชัดเจน ส่วนการตรวจครั้งที่ 2-3และต่อ ๆ ไป นั้นก็จะเป็นการตรวจติดตามและประเมินทั่วไป”

นพ.กฤช ระบุต่อไปว่า เมื่อมารดามีอายุครรภ์ประมาณ 30 สัปดาห์ ก็จะมีการตรวจซิฟิลิส และเอชไอวีซ้ำ เพราะเป็นไปได้ว่าอาจจะไม่เจอในการตรวจครั้งแรก หากแพทย์พบว่ามารดาเป็นซิฟิลิสก็จะรีบให้การดูแลทั้งมารดา และทารกในครรภ์ทันที และถ้าติดเชื้อเอชไอวีจะได้วางแผนดูแลป้องกันทารกที่จะคลอดออกมา

“เพราะในช่วงแรกหากตรวจภรรยาแล้วพบยังไงสามีก็ต้องเป็น ซึ่งก็จะได้รับการดูแลรักษา อย่างไรก็ดีแพทย์ก็จะประเมินทารกหลังคลอดอีกครั้ง ถ้ามีอาการหรือสงสัยแพทย์ก็จะให้การรักษาเด็กทันทีตั้งแต่แรกเกิด”

นอกจากนั้นยังมีสิทธิประโยชน์ในการดูแลสุขภาพช่องปากด้วย ในกรณีที่มารดามีหินน้ำลายก็จะได้รับการขูดหรือขัดทำความสะอาดฟันและช่องปาก จะช่วยลดภาวะเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดและเด็กมีน้ำหนักแรกเกิดน้อย

ในส่วนของสิทธิประโยชน์เรื่องยานั้น หญิงตั้งครรภ์จะได้รับยาเสริมวิตามินธาตุเหล็ก กรดโฟลิก และไอโอดีน ซึ่งอาจรวมเป็นเม็ดเดียวกันในชื่อยาไตรเฟอร์ดีน (Triferdine) มารดาจะได้รับยาดังกล่าวตั้งแต่ตั้งครรภ์ไปจนถึงหลังคลอด เนื่องจากจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเม็ดเลือดให้กับมารดา และเพิ่มสารไอโอดีนเพื่อป้องกันเด็กทารก นอกจากนั้นยังจะได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลเมื่อมารดามีอายุครรภ์เกิน 4 เดือนขึ้นไป และการฉีดวัคซีนคอตีบบาดทะยักเพื่อป้องกันบาดทะยักในเด็กแรกเกิด

“วัคซีนบาดทะยักถ้าไม่เคยฉีดมาในระยะ 10 ปี หรือไม่เคยฉีดเลยก็จะฉีดให้ 3 เข็มจนครบ หากฉีดมาบ้างแล้วเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะพิจารณาว่าควรฉีด 1-2 เข็มตามคำแนะนำการให้วัคซีน”

นพ.กฤช ระบุถึงสิทธิประโยชน์หลังคลอดว่า มารดาจะได้รับการดูแลหลังคลอดประมาณ 3 ครั้ง ครั้งแรกอยู่ที่ประมาณ 7 วัน หรือระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อดูแผล ดูน้ำคาวปลา ครั้งที่ 2 ถัดไปอีก 7-14 วัน หลังจากนั้นไม่เกิน 6 สัปดาห์จะเป็นการดูแลครั้งที่ 3 ซึ่งจะได้รับคำแนะนำในการดูแลและวางแผนครอบครัว ส่วนยาไตรเฟอร์ดีนจะได้รับไปจนถึง 6 เดือนเพื่อการให้นมบุตร

 

--- สิ่งที่เด็กเล็กได้รับ ตั้งแต่ลืมตาดูโลกจนถึงอายุ 5 ปี ---

 

นพ.กฤช อธิบายต่อไปว่า ในกลุ่มของเด็กแรกเกิดนั้น เมื่อทารกคลอดออกมาก็ได้รับการเจาะเลือดที่ส้นเท้า เพื่อส่งตรวจภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนและโรคฟินิลคีโตนูเรีย และในปีนี้จะมีการขยายสิทธิประโยชน์ใหม่สำหรับการตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรมเมตาบอลิก 40 โรคด้วยเครื่อง Tandem mass spectrometry ซึ่งปัจจุบันตรวจประมาณ 24 โรคและให้เฉพาะเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือสงสัยจากการตรวจวินิจฉัยของแพทย์

มากไปกว่านั้น จะมีการตรวจคัดกรองการได้ยินสำหรับกลุ่มเสี่ยงในทารกแรกเกิด ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่ว่ามีอาทิ เด็กที่มีประวัติคนในครอบครัวหูตึงตั้งแต่ยังเล็ก เด็กที่มีความผิดปกติของหน้าตา โครงหน้าที่ผิดปกติ รวมทั้งปากแหว่ง เพดานโหว่ โรคทางพันธุกรรม เด็กที่คลอดออกมาแล้วน้ำหนักตัวน้อยกว่า 1,500 กรัมมารดามีภาวะติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน เริม เป็นต้น

“ซึ่งจำนวนก็ไม่ค่อยเยอะจึงทำเฉพาะกับเด็กกลุ่มเสี่ยงก่อน เมื่อพบว่ามีเด็กมีความผิดปกติทางการได้ยินก็จะได้รับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม ทั้งนี้การได้ยินมีผลต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็ก”

อย่างไรก็ดี สิทธิประโยชน์ครอบคลุมการฉีดวัคซีนพื้นฐานตามโปรแกรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศที่กำหนดด้วย ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า (RV) วัคซีนฮิบ(HIB) เป็นต้น การให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่จะให้ในกลุ่มเด็กเล็กอายุ 6 เดือน – 2 ปี หากมากกว่านั้นก็จะเป็นการให้ในกลุ่มที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง

“ผู้ปกครองก็ต้องพาเด็กไปรับบริการตามสิทธิ หรือตามที่หน่วยบริการนัด อย่างเช่น วัคซีนก็ควรจะต้องไปฉีดไม่อย่างนั้นก็จะขาด แม้ขาดแล้วจะไปเริ่มต้นใหม่ก็ยังได้อยู่ โปรแกรมการฉีดที่กำหนดก็เพราะต้องการให้เกิดความสม่ำเสมอเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน”

สำหรับกลุ่มเด็กเล็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป ตามสิทธิประโยชน์ก็จะให้ยาน้ำเสริมธาตุเหล็กไปจนถึงอายุ 12 ปี เนื่องจากเด็กไทยมีภาวะซีดเป็นจำนวนมาก หากอายุมากกว่า 12 ปี ไปแล้วนั้นก็จะให้เฉพาะแค่เด็กผู้หญิงอย่างเดียว

“ซึ่งจะต้องรับบริการที่หน่วยบริการประจำ เนื่องจากยังไม่ได้เป็นรายการบริการ Fee Schedule ที่จะไปรับบริการที่หน่วยบริการใดก็ได้ ในอนาคต สปสช.อาจพิจารณาขยายช่องทาง เช่น อาจให้รับที่ร้านขายยาได้ นอกจากนี้ก็ยังมีสิทธิประโยชน์สำหรับการตรวจเลือดเพื่อคัดกรองภาวะโลหิตจางประมาณช่วงอายุ 6 เดือน–1 ปี และ 3-5 ปี การตรวจสุขภาพช่องปาก และทาหรือเคลือบฟลูออไรด์”

นพ.กฤช อธิบายต่อไปว่า เมื่อเด็กอายุ 9 เดือน 18 เดือน 30 เดือนและ 42 เดือน ตามสิทธิประโยชน์จะมีการตรวจคัดกรองพัฒนาการ เพื่อดูว่าเด็กนั้นสามารถทำอะไรหรือทำอะไรไม่ได้บ้าง พอถึงช่วงอายุ 3-12 ปี ก็จะให้สิทธิในการคัดกรองภาวะสายตาผิดปกติ หากมีสายตาหรือการมองเห็นที่ผิดปกติและจำเป็นต้องใส่แว่น เด็กก็จะได้รับแว่นตาซึ่งตรงนี้ก็จะอยู่ในสิทธิประโยชน์เช่นกัน

“เรื่องการได้ยิน เรื่องสายตาจำเป็นต่อพัฒนาการเด็ก ถ้าเด็กมองเห็นไม่ชัด เขาก็จะคิดว่าความคมชัดเหล่านั้นเป็นปกติ เด็กอาจจะไม่รู้ว่าปกติคืออะไร ฉะนั้นจึงต้องมีการคัดกรอง”

มากไปกว่านั้น เด็กบางคนอาจจะมีปัญหาที่เรียกว่าตาขี้เกียจ หมายถึงตาจะเขออกไปในด้านใดด้านหนึ่ง หากไม่ได้รับการดูแลในอนาคตตาข้างนั้นก็จะสูญเสียการมองเห็น เนื่องจากไม่ได้ถูกใช้ ซึ่งการแก้ไขในบางกรณีสามารถทำได้ด้วยการใส่แว่นตา

 

--- สิทธิประโยชน์สำหรับเด็กโต – วัยรุ่น ---

 

นพ.กฤช ระบุต่อไปถึงสิทธิประโยชน์ที่กลุ่มเด็กโตและเด็กวัยรุ่นว่า นอกจากวัคซีนป้องกันคอตีบและบาดทะยักที่จะได้รับในชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก็มีวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อเฮชพีวี (HPV) ที่จะให้ช่วงประถมศึกษาปีที่ 5 หรืออายุ 11-12 ปี โดยหน่วยบริการจะเข้าไปฉีดให้ที่สถานศึกษา เพราะการเข้าถึงเด็กทำได้ง่ายกว่า

อย่างไรก็ดี หากผู้ปกครองคนใดที่มีลูกอายุ 11-12 ปี และขาดเรียนในวันที่มีการฉีดวัคซีน ก็สามารถไปขอรับบริการที่หน่วยบริการได้

นพ.กฤช อธิบายว่า สำหรับกลุ่มวัยรุ่นมีสิทธิประโยชน์สำหรับการคัดกรองความเสี่ยงเรื่องเหล้า-บุหรี่-สารเสพติด และบริการสายด่วนเลิกบุหรี่ รวมไปถึงการประเมินเรื่องการเจริญเติบโต หรือดัชนีมวลกาย วัดความดันโลหิต และสำหรับผู้หญิงวัยรุ่นหรือเมื่อเริ่มมีประจำเดือน มีสิทธิประโยชน์ตรวจเลือดเพื่อคัดกรองภาวะโลหิตจางที่อาจจะเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ไม่มีภาวะซีด ก็มีสิทธิประโยชน์ยาเสริมธาตุเหล็ก และกรดโฟลิกให้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับเยาวชนที่แต่งงานมีครอบครัวและวางแผนจะมีบุตร ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงพิการในทารกดังได้กล่าวแล้ว บริการส่วนนี้ยังไม่ได้จ่ายเป็นรายการบริการเฉพาะหรือ fee schedule จึงต้องไปรับที่หน่วยบริการประจำที่ได้ลงทะเบียนไว้

“ช่องปากก็มีการทาฟลูออไรด์-เคลือบหลุมร่องฟัน ซึ่งเป็นการช่วยป้องกันฟันผุ ทำให้ฟันผุในระยะเริ่มแรกหายเป็นปกติได้ อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องทำความสะอาดฟันด้วยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันให้ถูกวิธี รวมถึงปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ลดอาหารหวาน จะทำให้เรามีสุขภาพช่องปากที่ดี”

นพ.กฤช อธิบายเพิ่มเติมว่า สำหรับกลุ่มวัยรุ่นอยู่ในวัยเรียนรู้ อยากท้าทาย อยากลอง อาจพลั้งเผลอตั้งครรภ์ได้ หรือที่บรรลุนิติภาวะแต่งงานแล้วแต่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ก็มีบริการทางเลือกที่เป็นสิทธิประโยชน์ที่กลุ่มวัยรุ่นจะได้รับ นั่นคือเรื่องของ “การจัดการการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม” เพื่อเป็นทางออก ซึ่งจะมีการให้คำปรึกษา แนะนำ เพื่อตัดสินใจ รวมถึงการตรวจอัลตร้าซาวด์ เพื่อเป็นตัวเลือกว่าจะตั้งครรภ์ต่อ หรือจะยุติการตั้งครรภ์

“เมื่อเกิดการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมเกิดขึ้น ซึ่งก็ต้องหาทางออกให้ เพราะถ้าไม่หาทางออกใครจะเป็นคนดูแล”

หากเลือกยุติการตั้งครรภ์ ก็มีสิทธิประโยชน์บริการยุติการตั้งครรภ์และบริการคุมกำเนิดภายหลังยุติการตั้งครรภ์ ในวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีไม่ว่าจะเป็นกรณีหลังคลอดหรือแท้งหรือสมัครใจก็จะมีสิทธิประโยชน์คุมกำเนิดกึ่งถาวรที่เป็นรายการบริการเฉพาะให้ ได้แก่ การฝังยาคุมและการใส่ห่วงอนามัย หากอายุ 20 ปีขึ้นไปก็จะให้เฉพาะหลังการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม ซึ่งสามารถเข้ารับบริการในหน่วยบริการประจำได้ แต่ทว่าหน่วยบริการที่ดูแลเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อมอาจจะยังมีน้อย ทำให้ยังไม่สะดวกในการเข้าถึงบริการ ซึ่ง สปสช.จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการขยายหน่วยบริการต่อไป

 

--- ผู้ใหญ่อายุ 25-59 ปี และกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ---

 

นพ.กฤช เล่าต่อไปว่า สำหรับสิทธิประโยชน์ในกลุ่มวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุก็จะมีความคล้ายคลึงกัน และไม่ได้แตกต่างกันมาก วัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลจะให้สิทธิผู้ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ผู้พิการภูมิต้านทานบกพร่อง อ้วน และคนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มีการตรวจคัดกรองความดัน-เบาหวาน-ไวรัสเอชพีวี และคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในอายุ 50-70 ปี รวมไปถึงการให้ความรู้เรื่องมะเร็งเต้านม โดยการเข้ารับบริการที่หน่วยบริการประจำที่ลงเบียนไว้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา และได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง

ปี 2565 มีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม คือ การตรวจคัดกรองการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม คือ ยีน BRCA1 BRCA2 ในคนที่เป็นมะเร็งเต้านม และติดตามญาติสายตรงที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมารับการตรวจคัดกรองและให้การดูแลต่อเนื่อง

“ซึ่งก็จะให้สิทธิทายาทสายตรงในการตรวจยีนกลายพันธุ์ของมะเร็งเต้านม นอกจากนั้นยังมีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA Test หรือแป็บสเมียร์ (Pap smear) สำหรับผู้หญิงที่มีอายุ 30-59 ปี ซึ่งบางส่วนก็รับทราบว่ามีการตรวจเพียงแต่อาจจะยังไม่ทั่วถึง จะให้สิทธิการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 1 ครั้งทุก 5 ปี”

มากไปกว่านั้นในปี 2565 ยังให้สิทธิประโยชน์สำหรับการตรวจคัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปากในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป และการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลังการสัมผัสเชื้อ (HIV PEP) ซึ่งกรณีหลังนี้ให้ในทุกกลุ่มวัยไม่ใช่เฉพาะวัยผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ

อย่างไรก็ดี สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป นพ.กฤช อธิบายว่า สิทธิประโยชน์จะมีความคล้ายคลึงกับกลุ่มวัยผู้ใหญ่ ซึ่งก็จะมีการตรวจคัดกรองความดัน-เบาหวาน-มะเร็งลำไส้ใหญ่สำหรับผู้ที่มีอายุ 60-70 ปี เป็นต้น

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะมีโรคประจำตัว และไปรับการดูแลที่หน่วยบริการประจำอยู่แล้ว สิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่จะเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มนี้ยังอยู่ในช่วงการรอเสนอสิทธิประโยชน์ใหม่ ๆ ขณะนี้จึงแนะนำให้ดูแลส่งเสริมสุขภาพตนเอง ด้วยการกินอาหารที่เป็นประโยชน์และเพียงพอต่อสุขภาพ การออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก เป็นต้น ทั้งนี้การกินอาหาร การออกกำลังกาย การควบคุมน้ำหนัก เป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับสุขภาพ ทุกกลุ่มวัยสามารถทำได้ เหลือเพียงการตัดสินใจที่จะเริ่มต้นทำเท่านั้นเอง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. โทร. 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ คลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso

คลิปวิดิโอ สปสช.สร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค คนไทยทุกคนครอบคลุม 5 กลุ่มวัย https://youtu.be/T193cza6zg4

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org