จากข้อมูลสร้างความเข้าใจผิดซึ่งถูกเผยแพร่ทางโลกออนไลน์ โดยระบุว่า หน้ากากอนามัยแบบผ้าไม่สามารถป้องกันโควิดสายพันธุ์โอมิครอนได้ ความเชื่อที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบอย่างแน่ชัดนี้สร้างความปั่นปวนให้กับสังคมเป็นอย่างมาก เพราะว่าหน้ากากอนามัย ณ เวลานี้ เป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญในชีวิตประจำวันสำหรับทุก ๆ คน

โดยทั่วไปแล้วหน้ากากอนามัยเมื่อใช้แล้วต้องทิ้ง ไม่สามารถนำมาใส่ซ้ำได้ เพราะอาจจะเสี่ยงติดเชื้อโรคโควิด-19 เนื่องจากเป็นแหล่งหมักหมมของเชื้อโรคหรือเชื้อไวรัส สำหรับบางคนมองว่าเป็นการสิ้นเปลือง เนื่องจากราคาหน้ากากอนามัย ณ เวลานี้ ไม่ได้ถือว่าถูกมาก ทั้งบางชนิดยังมีราคาสูง เช่น N95 KN95 KF94 หรือแม้กระทั้งหน้ากากอนามัยทางการแพทย์บางยี่ห้อ ด้วยเหตุนี้บางคนจึงเลือกใช้หน้ากากอนามัยแบบผ้า เพราะว่านำไปซักแล้วใช้ซ้ำได้

มาดูข้อเท็จจริงของข้อมูลที่ระบุว่า หน้ากากอนามัยแบบผ้าป้องกันโควิดสายพันธุ์โอมิครอนไม่ได้ นั้นจริงหรือหลอก

ข้อมูลจาก ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ โดย คุณพีรพล อนุตรโสตถิ์ ตรวจสอบกับ นายแพทย์ศุภกิจ  ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 

นายแพทย์ศุภกิจ ให้ข้อมูลว่า ข่าวที่มีการแชร์กันมีข้อมูลคลาดเคลื่อน และไม่มีความจำเป็นที่จะไม่สวมใส่หน้ากากอนามัยแบบผ้า เพราะพฤติกรรมของโอมิครอนไม่ได้แตกต่างจากสายพันธุ์อื่น ๆ ส่วนประเด็นการติดง่ายขึ้น นั่นเป็นเพราะว่าธรรมชาติของตัวเชื้อ ทางกรมวิทย์ฯ พบว่า มันไปเพิ่มจำนวนในทางเดินหายใจส่วนต้นได้มาก ทำให้มีอาการไอเยอะขึ้น ฉะนั้นถ้าหน้ากากผ้ากันเดลต้า อัลฟ่าได้เท่าไหร่  มันก็กันโอมิครอนได้เท่านั้นเช่นกัน ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ความเชื่อที่ว่าในความเป็นจริงแล้ว ไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้นั้น มักถูกพามาโดยฝอยละอองน้ำมูกน้ำลาย นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า ธรรมชาติของไวรัสโคโรนา หรือแม้กระทั่งไวรัสไข้หวัดใหญ่ พวกมันไม่ได้แยกตัวเป็นตัวเดี่ยว ๆ เข้าสู่ร่างกาย มันจะต้องมากับฝอยละออง อย่าง น้ำมูก น้ำลาย จากการไอหรือจาม ซึ่งตัวน้ำมูกน้ำลายที่ปลิวออกมา เล็กที่สุดก็เป็นระดับหลายไมครอน แต่ไม่ได้เล็กขนาดที่จะลอดรูมาได้เลย

ดังนั้น หน้ากากผ้าจึงสามารถใช้ลดความเสี่ยงที่ฝอยละอองจะเข้ามาสู่ทางเดินหายใจของเราได้

ด้านผศ.ดร.นพ.ปวิน นำธวัช อาจารย์ประจำภาควิชาระบาดวิทยาคลินิกและชีวสถิติ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่เป็นไปในทางเดียวกันว่า การใช้หน้ากากผ้าอย่างน้อยก็เป็นการป้องกันที่ดีกว่าการไม่ได้สวมใส่หน้ากากชนิดใดเลย

ด้านกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการตรวจสอบและชี้แจงว่า หน้ากากผ้ายังสามารถป้องกันสายพันธุ์โอมิครอนได้ เพราะโอมิครอนยังออกมากับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำมูก เป็นต้น เช่นกัน

ถึงกระนั้น หน้ากากผ้าที่ควรนำมาใช้ ควรจะเป็นผ้าแบบไหน?

นายแพทย์ศุภกิจ แนะนำให้ใช้หน้ากากผ้าทำมาจากผ้ามัสลิน เพราะว่าทางกรมวิทย์ฯ เคยทำการทดลอง โดยเอาผ้าหลาย ๆ ชนิดมาทดสอบดูว่าผ้าแบบไหนที่จะเหมาะสมและให้ประสิทธิภาพดี และพบว่า ผ้ามัสลิน เป็นผ้าที่น้ำหนักเบา มีเส้นใยขัดกันพอจะช่วยป้องกันฝอยละออง ได้ดีมากเลยทีเดียว ทั้งมีความใกล้เคียงหน้ากากอนามัย อาจจะด้อยกว่าเล็กน้อย แต่ว่าผ้าซักซ้ำได้เป็น 100 ครั้ง

ซึ่งทางกรมอนามัยเองก็แนะนำให้ใช้หน้ากากผ้ามัสลินเช่นกัน

ด้านประเด็น ตกลงแล้วจะต้องสวมใส่หน้ากากจำนวนกี่ชั้นถึงจะเหมาะสม ทั้งยังมีการแชร์สูตรใส่หน้ากากอย่างหลากหลายดังนี้ หน้ากากอนามัยอยู่ชั้นใน – หน้ากากผ้าอยู่ชั้นนอก กับ หน้ากากผ้าอยู่ชั้นใน – หน้ากากอนามัยอยู่ชั้นนอก 

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ โรงพยาบาลศิริราช เคยอธิบายไว้ว่า ทั้งสองสูตรนี้ยังไม่ข้อมูลพิสูจน์เปรียบเทียบอย่างแน่ชัด 

แต่ถ้าหากต้องการคำแนะนำ ก็ควรจะใส่หน้ากากอนามัยอยู่ชั้นนอก เนื่องจากมันมีตัวที่มีคุณสมบัติสะท้อนน้ำอยู่ อย่างไรก็ตามแนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานชั้นเดียวจะดีกว่ามาก เพราะเวลาที่เราพูดหรือขยับตัวการใส่หน้ากากอนามัยสองชั้นจะทำให้เกิดการเลื่อนของหน้ากากทำให้เกิดช่องว่าง ซึ่งเป็นการเปิดช่องว่างให้เชื้อเข้ามาหาเราง่ายขึ้น 

สูตรที่บอกว่าให้ใส่หน้ากากอนามัย  2 ชั้น เมื่ออ้างอิงข้อมูลอจากตอนทดสอบกับฝุ่น PM 2.5 สูตรนี้เป็นการทดลองในสภาพนิ่ง คือ เอาหน้ากากมาอุดรูที่พ่นควันออกมาแล้ววัดว่าควันผ่านออกไปอีกด้านนึงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งในความเป็นจริงต้องทดสอบในสภาพที่มีการเคลื่อนไหวกิจวัตรประจำวันของมนุษย์ร่วมด้วย ในส่วนนี้ยังไม่มีข้อมูลการศึกษา

ทั้งนี้เพื่อความสบายใจ กรมอนามัย แนะนำให้ใช้หน้ากากผ้ามัสลิน เย็บซ้อนกันอย่างน้อย 2 ชั้นขึ้นไป ตัดเย็บให้ปิดคลุมจมูกและปาก เสริมแถบลวดตรงสันจมูก สายรัดกระชับ และต้องให้มันแนบไปกับจมูก ปาก คาง กระชับกับใบหน้าตลอดเวลา หากต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันควรสวมหน้ากากผ้าทับหน้ากากอนามัย 

ด้านนายแพทย์ศุภกิจ ก็แนะนำให้นำผ้ามัสลินมาเย็บเป็นหน้ากากผ้าอย่างน้อย 2 ชั้นเป็นต้นไป โดยหลักการของหน้ากากที่ดีคือ ด้านหน้าสุดควรจะต้องป้องกันน้ำ อย่าให้น้ำซึมผ่านไปได้ ส่วนด้านในต้องก็ต้องให้สามารถดูดซับน้ำได้ด้วย

ทั้งนี้ทั้งนั้นหลายคนอาจคิดว่า งั้นก็หันไปใช้หน้ากากที่มีประสิทธิภาพกรองไวรัสได้ละเอียดกว่าอย่างหน้ากากอนามัยทางการแพทย์, N95, KM95, KF94 เพราะว่ามีชั้นกรองถึง 3 หรือ 4 ชั้น เพียงแต่ว่าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์มักจะพบปัญหาได้บ่อยในการใส่ให้แนบชิดสนิทกับรูปหน้า ซึ่งมักจะมีรูรั่วข้าง ๆ ขณะสวมใส่

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าวิธีใส่หน้ากากนั้นสำคัญมาก ไม่น้อยกว่าตัวคุณสมบัติของหน้ากาก เพราะไม่มีหน้ากากใดป้องกันได้ 100% หากยังสวมใส่ไม่ถูกต้อง ไม่ถูกวิธี และไม่สวมตลอดเวลา รวมถึงมีพฤติกรรมเสี่ยง จำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันอื่นร่วมด้วย เช่น ล้างมือ ทำความสะอาดพื้นผิวต่าง ๆ ไม่ไปอยู่ในพื้นที่แออัด อากาศไม่ถ่ายเท เลี่ยงการทานอาหารร่วมกันเป็นชุด ทานชุดใครชุดมันจะดีกว่า