วัคซีนไฟเซอร์สูตรเด็กฝาสีส้ม ถึงไทยแล้ว 3 แสนโดส พร้อมทยอยส่งต่อเนื่อง ย้ำ! ข้อแตกต่างวัคซีนสูตรเด็กและผู้ใหญ่ ป้องกันความสับสน ลักษณะ ปริมาณการฉีด เตรียมแจงรายละเอียดให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขฉีดวัคซีนในเด็กทราบทั่วประเทศ ส่วนการฉีดแบ่งเป็นโรงเรียน และโรงพยาบาลสำหรับเด็กป่วย 7 กลุ่มโรค เริ่มฉีดคิกออฟ รพ.เด็ก 31 ม.ค.นี้
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 26 ม.ค. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวแนวทางการบริหารจัดการวัคซีน covid19 กลุ่มเด็กอายุ 5 - 11 ปี ว่า สำหรับการฉีดวัคซีนกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มใหม่ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้ฉีดได้และตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข โดยวัคซีนที่นำเข้ามาครั้งนี้ เป็นสูตรสำหรับเด็กโดยเฉพาะมีลักษณะฝาสีส้ม ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย.แล้ว และขณะนี้วัคซีนล็อตแรก 300,000 โดส ส่งมาถึงประเทศไทยแล้ว ที่เหลือ จะทยอยส่งเข้ามาโดยไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) จะส่งมาทั้งหมด 3.5 ล้านโดส จากยอดทั้งหมด 10 ล้านโดสที่ทางคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณจัดซื้อแล้ว ขั้นตอนต่อไปให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจคุณภาพ จากนั้นจะส่งกระจายให้ทั่วประเทศ ซึ่งจะเริ่มฉีดวันแรกในวันที่ 31 ม.ค.นี้
“สูตรสำหรับเด็กครั้งนี้ จะแตกต่างจากผู้ใหญ่ โดยขวดสูตรผู้ใหญ่จะเป็นฝาสีม่วง สำหรับ 1 ขวดฉีด 6 คน โดย 1 คนผู้ใหญ่ใช้ปริมาณ 0.3 ซีซี ส่วนเด็กจะแตกต่างชัดเจน โดยสูตรเด็กขวดยามีฝาปิดพลาสติกสีส้ม ในตัวยาบรรจุสารเข้มข้นสำหรับกระจายตัว 1.3 ซีซีหรือมิลลิตร เวลาจะฉีดต้องเจือจางด้วยสารละลายโซเดียมคลอไรด์ 0.9% หรือผสมน้ำเกลือปราศจากเชื้อปริมาตร 1.3 มิลลิตรก่อนใช้ เมื่อรวมกันจะได้ 2.6 ซีซี โดยขวดหนึ่งจะฉีดได้ประมาณ 10 คน โดยขนาดการฉีดจะแตกต่างจากผู้ใหญ่หรือเด็กโตจะฉีดที่ 0.3 ซีซี แต่สำหรับเด็กสูตรฝาสีส้มจะฉีด 0.2 ซีซี หรือขนาดวัคซีน 10 ไมโครกรัมต่อโดส อันนี้คือข้อแตกต่างกัน” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า อีกข้อคือ สูตรเดิมต้องเก็บตู้แช่แข็งลบ 70 องศา ออกมาแล้วจะอยู่ในอุณหภูมิที่ 2-8 องศาได้ประมาณ 4 สัปดาห์ แต่ครั้งนี้เปลี่ยนสูตรใหม่เก็บได้นานขึ้น โดยเก็บได้สูงสุด 10 สัปดาห์ แต่เมื่อผสมวัคซีนแล้วต้องฉีดให้หมดภายใน 2-6 ชั่วโมง ซึ่งจะมีการย้ำบุคลากรที่ทำการฉีดวัคซีนต่อไป
ทั้งนี้ การฉีดแบ่งเป็น 2 อย่างคือ 1. ฉีดที่โรงพยาบาล และ 2. ฉีดที่โรงเรียน โดยที่โรงเรียนใช้ระบบเดิมที่กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ แต่ครั้งนี้จะมีการฉีดที่โรงพยาบาลด้วย โดยราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยได้ให้คำแนะนำว่า เด็กที่มีความเสี่ยงติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรง คือ เด็กที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ดังนี้ 1.เด็กที่มีโรคอ้วน 2.เด็กที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งโรคหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง 3.เด็กที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง 4.โรคไตวายเรื้อรัง 5.โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ 6.โรเบาหวาน และ 7.โรคทางพันธุกรรม ทั้งกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม ภาวะบกพร่องทางประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า โดยเด็กกลุ่มนี้จะมีกุมารแพทย์เป็นผู้พิจารณาดำเนินการฉีดวัคซีน ส่วนเด็กอื่นๆ นอกเหนือดังกล่าวก็ใช้การฉีดโรงพยาบาลเป็นเด็กเช่นกัน
“สำหรับกำหนดการจะมีการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 2 ครั้งห่างกัน 3 -12 สัปดาห์ ส่วนการฉีดที่โรงเรียนเป็นฐานกำหนดห่างกัน 8 สัปดาห์ ส่วนการฉีดที่โรงพยาบาลกำหนดระยะห่าง 3-12 สัปดาห์ เพื่อให้กุมารแพทย์เป็นผู้ตัดสินใจในช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการฉีดวัคซีนในเด็ก ขอย้ำว่า การฉีดเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครอง รวมทั้งคุณหมอดูแลผู้ป่วยร่วมตัดสินใจ เน้นย้ำความสมัครใจผู้ปกครองและเด็ก ไม่มีการบังคับเด็ดขาด ซึ่งที่ผ่านมานโยบายการฉีดวัคซีน ไม่ได้มีการบังคับฉีดแต่อย่างใด” นพ.โอภาส กล่าว
(ข่าวเกี่ยวข้อง : ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ชี้ฉีดวัคซีนโควิดเด็กจำเป็น แนะใช้ไฟเซอร์ มีข้อมูลรับรอง ส่วนชนิดเชื้อตายยังไม่มี)
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า ขณะที่อาการข้างเคียงจากการฉีดวีคซีนที่สามนรถพบได้คือ ไข้ หนาวสั่น ปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีด ซึ่งเมื่อเทียบกับการฉีดในเด็กโต จากข้อมูลสหรัฐอเมริกา หรือสิงคโปร์ เกิดผลข้างเคียงในเด็กเล็กค่อนข้างน้อยเพราะปริมาณที่ฉีดมีปริมาณน้อยกว่า ดังนั้นผู้ปกครองจะได้ไม่ต้องกังวลใจมากนัก
เมื่อถามว่าเพราะอะไรคำแนะนำระยะห่างการฉีดวัคซีนในเด็กครั้งนี้จึงแตกต่างจากคำแนะนำเดิม 3-4 สัปดาห์ นพ.โอภาส กล่าวว่า ปกติการฉีดวัคซีนที่มีการฉีดหลายโดส เช่น 2 โดส 3 โดสจะมีระยะห่างของการฉีดวัคซีน ในเอกสารการขึ้นทะเบียนกำหนด 3-12 สัปดาห์ แต่การกำหนดระยะห่างมีปัจจัย 2-3 อย่าง คือ ประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกัน ความปลอดภัย และสถานการณ์การระบาดของโรค ซึ่งช่วงแรกกำหนดระยะห่าง 3-4 สัปดาห์ เพราะตอนต้นปีมีการระบาดของโควิด โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอนค่อนข้างมาก แต่เวลานี้การระบาดไม่รุนแรงมากนักเมื่อดูข้อมูลทั้งหมด ปรึกษาคำแนะนำจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ จึงกำหนดว่าถ้าฉีดโรงเรียนเป็นศูนย์กลางกำหนดที่ 8 สัปดาห์ เพราะสร้างภูมิค่อนข้างดี ผลข้างเคียงน้อย ประกอบกับการระบาดไม่รุนแรง และส่วนใหญ่ฉีดเป็นกลุ่ม จึงต้องกำหนดเวลาแน่ชัด ส่วนฉีดในเด็กป่วยจะใช้โรงพยาบาลเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะมีกุมารแพทย์ทราบข้อมูลว่า เด็กคนนี้ต้องฉีดวัคซีนช้าหรือเร็วอย่างไร จึงกำหนด 3-12 สัปดาห์เพื่อให้กุมารแพทย์และผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมตัดสินใจกำหนดเวลาอย่างเหมาะสม
นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า การฉีดเด็กอายุ 5-11 ปี มีประมาณ 5 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง 9 แสนคนกระจายตามภูมิภาคต่างๆ กรณีผู้ปกครองยินยอมให้บุตรหลานเข้าฉีดแล้ว ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะมีการบริหารตามความเหมาะสมของผู้ป่วย ซึ่งมีตัวเลขอยู่แล้ว ที่สำคัญคือความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์และกุมารแพทย์เป็นผู้คัดสรรว่าเด็กแต่ละคนใครพร้อมจะฉีดวัคซีน สำหรับการเตรียมตัวฉีดวัคซีน หากเด็กที่มีโรคประจำตัวก็ให้ทานยารักษาโรคปกติ ทานอาหารและน้ำตามปกติ มาถึงโรงพยาบาลกุมารแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่ามีไข้หรือไม่ หากมีไข้ก็จะทะเลาะเรื่องการฉีด แล้วโรคประจำตัวนั้นมีอาการรุนแรงและอันตรายหรือไม่ หากมีสิ่งเหล่านี้ก็อาจจะชะลอการฉีดไปก่อนเพื่อรักษาโรคเหล่านี้ ส่วนกรณีที่สามารถฉีดได้ก็จะมีการทบทวนการยินยอมอีกครั้ง
ทั้งนี้ ในขั้นตอนการฉีดจะต้องเป็นสถานที่มิดชิด เพื่อลดความกังวลของเด็กและผู้ปกครอง หลังฉีดให้รอดูอาการ 30 นาที หลังกลับบ้านไปแล้วต้องเน้นว่า เหมือนกับทุกกลุ่มอายุคือใน 1 สัปดาห์ไม่ควรให้เด็กออกกำลังกาย รวมถึงการปีนป่ายการว่ายน้ำ กันสุขสันต์ต่างๆขอให้ผู้ปกครองช่วยดูแลตรงนี้ด้วย
"สิ่งที่กังวล คือมีอาการเฉพาะที่กับอาการทั่วไป และการเกิดอาการข้างเคียงทางด้านโรคหัวใจ ซึ่งมีจริง แต่สามารถรักษาได้ โดยจากการฉีดแล้วกว่า 7 ล้านโดสนั้นพบ 7 ราย ดังนั้นอาการข้างเคียงมีน้อยแต่เพื่อไม่ประมาท เพื่อให้ผู้ปกครองเบาใจได้มีการสร้างเครือข่ายส่งต่อดูแล ให้ผู้ปกครองสามารถรู้ว่า มีอะไรที่ต้อง "เอ๊ะ" หรือสงสัยซึ่งสถิติที่เราเจอมาส่วนใหญ่มักเกิดในเข็ม 2 แต่เพื่อไม่ประมาทขอให้สังเกตตั้งแต่เข็มแรก คือเจ็บหน้าอก หายใจเร็ว เหนื่อยง่าย ใจสั่น โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัว หากมีไข้สูง ทานอาหารไม่ได้ ขอให้รีบไปโรงพยาบาลใกล้บ้าน" นพ.อดิศัย กล่าว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 1409 views