กรมวิทย์เผยสัดส่วน “โอมิครอน” สายพันธุ์ย่อย BA.2 และ BA.1 อยู่ที่ 1 ใน 40 เศษๆ ยังไม่มาก โดยไทยพบ 14 รายจากหมื่นกว่าราย มีเสียชีวิต 1 คนจากโอมิครอน BA.2 ส่วนความรุนแรง การแพร่เร็วยังไม่ชัดว่าแตกต่างจาก BA.1 หรือไม่ ขออย่าตื่นตระหนก มีระบบเฝ้าระวังเข้มงวด ส่วนกรณีข้อกังวลชายแดน หวั่นเชื้อข้ามแดนมายังมีการติดตามต่อเนื่อง แต่ขอทุกฝ่ายช่วยกันเหตุประเด็นลักลอบยังน่ากังวล ขณะที่ชุดตรวจ ATK ยังตรวจเจอปกติ
เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 26 ม.ค.2565 ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.2 ว่า สำหรับการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิดโอมิครอน BA.2 ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ส่งข้อมูลไปยังระบบจีเสส (GISAID) มีทั้งหมด 6 ราย ส่งข้อมูลตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.2565 ล่าสุดกรมฯ ส่งไปเพิ่มอีก 8 ราย รวมเป็น 14 ราย ซึ่ง 8 รายหลังจะขึ้นปรากฎให้เห็นอีก 1-2 วัน แต่ศูนย์จีโนมรามาฯ ยังไม่ได้ปรากฎ ยืนยันว่า เราเห็น BA.2 ตั้งแต่ 2-3 สัปดาห์แล้ว เราเห็นตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. และวิเคราะห์ข้อมูลจนแน่ใจจึงซัมมิทเข้าไปในGISAID
อย่างไรก็ตาม สำหรับ 3 คำถามเวลามีพันธุ์ใหม่ คือ แพร่เร็ว รุนแรง หรือหลบภูมิคุ้มกันหรือไม่ อย่างไร ซึ่งข้อมูล ณ ปัจจุบันของ BA.2 ยังมีข้อมูลน้อยเกินไปที่จะสรุปว่า แพร่เร็วหรือไม่ เพราะยังมีน้อย หากสัดส่วนเปลี่ยน จากเดิม 2% ขึ้นเป็น 5-10% ในเวลาถัดมาก็ต้องจับตา เพราะอาจแพร่เร็วกว่า ส่วนอาการหนักจากดูข้อมูล 14 ราย พบว่า เดินทางมาจากต่างประเทศ 9 ราย ติดเชื้อในประเทศ 5 ราย โดยติดเชื้อในประเทศมี 1 รายเสียชีวิต ซึ่งเป็นคุณป้าติดเตียงที่เสียชีวิตจากโอมิครอน 2 รายแรกก่อนหน้านี้ ซึ่งรายนี้อยู่ภาคใต้ อายุมากแล้วและมีโรคประจำตัว แต่ก็ยังบอกไม่ได้ว่า BA.2 รุนแรงกว่า BA.1 หรือไม่ แต่ภาพรวมเราส่งข้อมูลกว่า 7 พันเรดคอร์ด ให้กรมการแพทย์ไปติดตามดู เบื้องต้นมีผู้เสียชีวิต 7 รายจากโอมิครอนจาก 7 พัน หรือคิดเป็น 0.1% ซึ่งอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างต่ำ แต่รายละเอียดว่า อาการหนักแค่ไหน อย่างไร จริงๆไม่มาก แต่กรมการแพทย์กำลังทำรายละเอียด รวมถึงปัจจัยการฉีดวัคซีน รายละเอียดต้องรอกรมการแพทย์
ทั้งนี้ การตรวจรหัสพันธุกรรมทุกๆสัปดาห์ ที่น่าสนใจ กรณีเดลตาที่มีพันธุ์ย่อย ที่เรียกว่าเดลตาพลัส ซึ่งมี AY ต่างๆ มีประมาณกว่า 127 ตัว โดยเคยเจอเดลตาพลัส ที่พบ K417N ซึ่งทำให้หลบวัคซีนได้มากขึ้น แต่จำนวนที่ตรวจพบก็ไม่มากมาย ไม่ได้เพิ่มจำนวน ซึ่งไม่ได้มีความน่าห่วงกังวลอะไร ส่วน AY 4.2 ที่มีการกลายพันธุ์ในบางตำแหน่งก็ไม่ได้ทำให้มีอิทธิฤทธิ์อะไร แต่เมื่อปรากฎให้เห็นเราก็เก็บข้อมูล
“ที่พบมากที่สุดของเดลตา คือ AY 85 ค่อนข้างมากในภูมิภาคนี้ โดยบ้านเราพบ 49% ทั้งนี้ AY 85 ตัวของมันเองไม่ค่อยมีอะไร แต่บางส่วนบวกด้วยตำแหน่งที่หลบวัคซีน แต่เราเจอไม่มาก แต่ท้ายที่สุดหากเดลตาถูกแทนด้วยโอมิครอน ตัวที่กลายพันธุ์ก็ไม่มีความหมาย เพราะคนติดเชื้อติดด้วยโอมิครอนหมดแล้ว จึงต้องมาติดตามโอมิครอนต่อไปแทน เราก็มีระบบตรวจจับเช่นกัน จึงอยากให้ทราบว่า เรามีกระบวนการตรวจจับการกลายพันธุ์ได้เร็วพอ” นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวสรุปว่า ขณะนี้ก็เหมือนหลายประเทศในโลกนี้ โดยเดือน ก.พ. นี้ก็จะเป็นโอมิครอนส่วนใหญ่ ป่วยง่าย แพร่เชื้อเร็ว แต่อาการรุนแรง เสียชีวิตยังน้อย แต่ขอย้ำว่า ต้องบูสเตอร์ด้วยวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง หากดูกราฟจะพบว่า คนที่มีร่างกายแข็งแรง ได้รับวัคซีน มีภูมิคุ้มกันมากพอ โอกาสเสียชีวิตจะน้อยมาก ดังนั้น กลุ่มเป้าหมายสำคัญ คนสูงอายุต้องรีบมารับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เมื่อถามว่ากรณีสายพันธุ์ย่อย BA.2 ทั่วโลกมีมากน้อยแค่ไหน และจะมีผลต่อการกลายพันธุ์หรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า จากข้อมูลในจีเสสมีการรายงานว่า BA.2 มีประมาณ 2.1 หมื่น และ BA.1 จำนวน 4.2 แสน หรือประมาณ 1ใน 40 เศษๆ แต่จะใช้สัดส่วนนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ เพราะโอมิครอนมีหลายสิบล้านทั่วโลก หากเปิดเจอแบบนี้ก็ถือว่า BA.2 ยังไม่มาก แต่บางประเทศอย่างเดนมาร์ก ที่เขารู้สึกว่า BA.2 สัดส่วนสูงขึ้น ก็ต้องจับตาดู แต่ของเราเจอ 14 รายจากหมื่นกว่าราย ซึ่งเราก็ต้องติดตามต่อไป จึงยังไม่ต้องวิตกกังวลอะไร คงไม่ได้เหนือกว่า BA.1 อย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ ส่วนการกลายพันธุ์อื่นๆ ทั่วโลกต่างช่วยกันเฝ้าระวังว่า จะมีตัวย่อยกว่านี้หรือไม่ หรือจะไปพลัสอะไรอีก
เมื่อถามกรณีมีการเฝ้าระวังเขตชายแดน โดยเฉพาะพม่า เนื่องจากยังมีการระบาดจากอินเดีย โดยทางคณบดีศิริราชระบุว่าต้องระวัง นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เรามีการเฝ้าระวังอยู่ แต่ทุกคนก็ต้องช่วยกัน เพราะการลักลอบข้ามแดนโดยไม่ผ่านอะไร อันนี้น่ากลัว จริงๆ อย่างที่เคยบอกว่า เราไม่ค่อยห่วงพวกที่มาถูกต้อง แต่ที่ลักลอบต้องเฝ้าระวัง และต้องขอความร่วมมือ โดยเฉพาะผู้นำเข้าแรงงาน ยิ่งคนนำเข้าแรงงานเถื่อนต้องระวังมากๆ
“ขอย้ำว่า สายพันธุ์ย่อยนี้ ยังตรวจด้วย ATK ได้เช่นเดิม” นพ.ศุภกิจกล่าว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 29 views