คณบดีศิริราชอัปเดตโควิด "โอมิครอน" นานาประเทศ จับตา! อินเดียยังขาขึ้น แนวโน้มระบาดเข้าไทยผ่านพม่ายังเป็นไปได้ ส่วนไทยโอมิครอน แทนเดลตาเดือนนี้ ย้ำ! คนฉีดวัคซีน 2 เข็ม ขอให้ฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ห่างกัน 3 เดือน แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดต้องฉีดทุกๆ 3-6 เดือน กรณีคนฉีดเข็ม 3 ขอให้ติดตามข้อมูล จะมีวัคซีนรุ่นสอง เว้นกลุ่มเสี่ยงจำเป็นต้องเข็ม 4
เมื่อเวลา 10.15 น. วันที่ 25 ม.ค. 2565 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล อัปเดต "สถานการณ์ของสายพันธุ์ Omicron จากทั่วโลก 2 เดือนหลังการเริ่มแพร่ระบาด" ผ่านระบบออนไลน์ช่องทางเว็บไซต์ IPTV และเฟซบุ๊กไลฟ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ว่า สถานการณ์การระบาดของโลกเมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมาพบว่า โอมิครอนมีความรุนแรงมากในพื้นที่ยุโรปและในทวีปอเมริกา โดยโอมิครอนเป็นสายพันธุ์หลักของการระบาด ขณะที่ภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทยพบเพิ่มเช่นกัน แต่ทวีปแอฟริกาเริ่มสงบลง เพราะคนไข้เพิ่ม แต่คนไข้หนัก เสียชีวิตไม่มาก
** ทั่วโลกโอมิครอนยังพุ่ง แต่อัตราเสียชีวิตลด
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ช่วงที่องค์การอนามัยโลกประกาศเจอโอมิครอน วันที่ 24 พ.ย. 2564 จากเดิมเดลตาทั่วโลกหลักแสนแตะล้าน แต่เมื่อมีโอมิครอน มีการแพร่กระจายเยอะจริงๆ ผู้ป่วยพุ่งทะลุกว่า 2-3 ล้านคนในแต่ละวันของทั่วโลก จากตัวเลขย้อนหลังประมาณ 10 วัน(เทียบตั้งแต่วันที่ 13-22 ม.ค.) แต่ตัวเลขการเสียชีวิตน่าสังเกตว่า ไม่ได้พุ่งตามการติดเชื้อ แม้จะอยู่ที่ 8-9 พันคนต่อวัน ซึ่งทุกประเทศคล้ายกัน การติดเชื้อรุนแรงป่วยเพิ่มขึ้น แต่อัตราเสียชีวิตไม่ได้ตามการติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทั่วโลกฉีดวัคซีนแล้วกว่า 9.9 พันล้านโดส ฉีดวันละ 36 ล้านโดส ประชากรทั่วโลกเกือบ 8 พันล้านคนได้รับวัคซีนแล้ว (ข้อมูลวันที่ 23 ม.ค.)
** สหรัฐแนวโน้มโควิดวิ่งขึ้น มีคนจำนวนหนึ่งไม่ฉีดวัคซีน
ยกตัวอย่างสถานการณ์สหรัฐมีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 533 ล้านโดส ประมาณ 3 ใน 4 ของประชากรได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส ประมาณ 2 ใน 3 ได้รับอย่างน้อย 2 โดส มี 1 ใน 4 ได้รับการฉีดกระตุ้น อย่างไรก็ตาม กราฟการติดเชื้อหลังโอมิครอนเข้ามา ในสหรัฐตัวเลขผู้ป่วยสูงขึ้นกว่าเวฟอื่นๆมาตลอด บางวันติดเชื้อทะลุ 1.5 ล้านคน แม้อัตราเสียชีวิตจะหลัก 2-3 พันคน แต่มีแนวโน้มจากกราฟตัวเลขจะวิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งต้องระวัง อย่างไรก็ตาม คนในสหรัฐยังมีจำนวนหนึ่งไม่ฉีดวัคซีน แม้รัฐบาลจะพยายามทุกวิถีทาง อย่างไรก็ตาม มีการตีความเรื่องการฉีดวัคซีนครบ อาจไม่ใช่ 2 เข็ม อาจต้องเพียงพอในการสร้างภูมิคุ้มกัน
สถานการณ์แคนาดา เป็นอีกประเทศที่มีการฉีดวัคซีนเยอะมาก ฉีดแล้วกว่า 75 ล้านโดสทั้งที่มีประชากรเพียงประมาณ 38 ล้านคน โดยประชากร 4 ใน 5 ฉีดอย่างน้อย 1 เข็ม และ 3 ใน 4 ฉีดอย่างน้อย 2 โดส และ 1 ใน 3 ได้รับการฉีดกระตุ้น(ไม่ใช่คำว่าเข็ม 3) ทั้งนี้ ผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค. ตัวเลขป่วยเริ่มลดลง จาก 3 หมื่นกว่าลงมาเรื่อยๆประมาณ 1.5 หมื่นในวันที่ 22 ม.ค. ส่วนผู้เสียชีวิตไม่ได้สูงขึ้นเหมือนเดิม คล้ายๆจะเป็นในช่วงขาลง
ส่วนบราซิล ในทวีปอเมริกาใต้ มีการฉีดวัคซีนแล้ว 352 ล้านโดสมีประชากร 214 ล้านคน มีการฉีดวัคซีน 2 โดส 75.9% และรับวัคซีนกระตุ้น 19.4% โดยบราซิลยังอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ผู้เสียชีวิตยังลดลงได้ แสดงว่ามาจากผลของการฉีดวัคซีน
**จับตาสหราชอาณาจักร ผ่อนคลายมาตรการ ไม่สวมหน้ากากอนามัยเหตุเชื่อฉีดวัคซีนเยอะ
ขณะที่สหราชอาณาจักร มีคนจับตากันมาก ก่อนหน้านี้มีการประกาศฟรีดอมเดย์ หรือวันประกาศอิสรภาพ ที่ไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย เพราะมองว่าฉีดวัคซีนมากพอ ก่อนหน้านั้นผู้ป่วยไม่ได้มากมาย แต่หลังจากมีโอมิครอน การติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น เคยถึงวันละแสนคน แต่ตัวเลขเสียชีวิตยังเป็นวันละ 200-300 คนทุกวัน อย่างไรก็ตาม นายกฯของสหราชอาณาจักร ประกาศมาตรการผ่อนคลายในวันที่ 27 ม.ค.นี้ เพราะมีอัตราการฉีดวัคซีนสูงมาก ฉีดไปแล้ว 137 ล้านโดสจากประชากร 68 ล้านคน ใกล้เคียงไทย และมากกว่าครึ่งหนึ่งได้รับการฉีดกระตุ้น จึงมีมาตรการผ่อนคลาย ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย นักเรียนไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย แต่ทุกคนก็ต้องจับตามองว่าจะเกิดอะไรขึ้น
ส่วนเยอรมนี หลังจากตัวเลขผู้ป่วยเริ่มลดในช่วงสถานการณ์เดลตา แต่เมื่อมีโอมิครอน เริ่มสูงขึ้น ส่วนอัตราการเสียชีวิตอยู่ตัวเลข 3 หลัก ขณะที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว 161 ล้านโดส มีประชากร 84 ล้านคน ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว 50.1%
ขณะที่ฝรั่งเศส ตัวเลขป่วย 3-4 แสนคนต่อคนที่มีการติดเชื้อใหม่ ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาป่วยน้อย แต่เมื่อเจอโอมิครอนกลับสูง ส่วนอัตราเสียชีวิตยังพบสูง ส่วนใหญ่เลข 3 หลัก แต่ฝรั่งเศสมีการฉีดวัคซีนมาก ฉีดไปแล้วราว 133 ล้านโดสมีประชากร 65 ล้านคน พบว่าครึ่งหนึ่งได้รับการฉีดกระตุ้นแล้ว แต่ยังมีคนจำนวนหนึ่งไม่ยอมฉีดวัคซีน และคนเสียชีวิตส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่ไม่ฉีดวัคซีน
** ระวัง! อินเดียยังขาขึ้น อาจแพร่ระบาดเข้าไทยผ่านทางพม่า เหมือนสมัยก่อน
ส่วนทวีปเอเชีย อย่างประเทศอินเดีย เดิมเดลตาใหม่ติดเชื้อ เสียชีวิตสูง หลังจากนั้นเริ่มสงบลง จนกระทั่งเจอโอมิครอน โดยพบผู้ป่วยวันละ 2-3 แสนคน อยู่ในช่วงขาขึ้น อัตราการเสียชีวิตอยู่ในตัวเลข 400-500 คนต่อวัน ซึ่งประชากรประเทศอินเดียมีมากกว่า 1.4 พันล้านคน มีการฉีดวัคซีนแล้ว 1.6 พันล้านโดส ได้รับวัคซีน 1 โดสอยู่ที่ 67.3% ของประชากร ได้รับวัคซีน 2 โดสที่ 49.4% และ 0.6% ได้รับเข็มกระตุ้น ดังนั้น อัตราการติดเชื้อของอินเดียจะวิ่งอยู่ระยะหนึ่ง และจะเลยยอดที่เคยติดเชื้อสมัยเดลตา
"สิ่งที่ต้องระวัง คือ การแพร่ระบาดของสายพันธุ์หนึ่งจากอินเดียผ่านมาทางพม่า มาไทยไม่เกิน 2 สัปดาห์เข้ามาประเทศไทยแล้ว ดังนั้น ต้องระวังว่า จากอินเดียเข้ามาพม่า และเข้ามาไทย ใช้เวลาไม่นาน จึงต้องระวังมากขึ้น" ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ การติดเชื้อโอมิครอนของญี่ปุ่นตัวเลขดีขึ้น แม้ป่วยยังหลักหมื่น แต่ผู้เสียชีวิตน้อยลง ส่วนใหญ่เป็นตัวเลข 2 หลัก การฉีดวัคซีนไปแล้ว 202 ล้านโดส จากประชากร 125 ล้านคน โดยฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ไปแล้ว 80.5% ของประชากร และ 79.9%ได้ 2 โดส และ 1.5% ได้รับเข็มกระตุ้น
ส่วนอิสราเอลนั้น เป็นประเทศที่มีการฉีดวัคซีนแพลตฟอร์มเดียวกัน mRNA โดยฉีดไปแล้ว 17 ล้านโดส มีประชากร 8.8 ล้านคน ฉีดกระตุ้นไปแล้วกว่า 54% อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยแม้จะหลักหมื่น แต่เสียชีวิตน้อยลงมาก
ขณะที่ออสเตรเลีย เป็นประเทศที่ถูกชื่นชมว่า ควบคุมโควิด19 ในช่วง 2 ปี ซึ่งออกมาตรการเข้ม ควบคุมได้ดี แต่เมื่อเจอโอมิครอนกลับพบการติดเชื้อหลักแสน แต่ขณะนี้เริ่มลงเหลือหลักหมื่น อาจอยู่ในช่วงขาลงได้ ต้องติดตามอีกระยะหนึ่ง โดยการฉีดวัคซีนไปแล้ว 47 ล้านโดส ในประชากร 25 ล้านคน ฉีดกระตุ้นไปแล้ว 25.1% โดยอัตราเสียชีวิตยังอยู่ในเลข 2 หลัก อย่างไรก็ตาม ยังไม่ใช่ขาลงจริงๆจังๆ ต้องติดตามต่อ
สำหรับประเทศนิวซีแลนด์ ที่ผ่านมาควบคุมโควิด-19 ได้ดี เพราะเป็นเกาะแยกออกมา มีมาตรการเข้มงวด แต่เมื่อมีโอมิครอน ก็พบผู้ป่วย แต่ประชากรน้อยประมาณ 4.8 ล้านคน ฉีดวัคซีนแล้วกว่า 8.9 ล้านคน ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น 19.9% ไม่มีคนเสียชีวิต
** คนสิงคโปร์จำนวนหนึ่งยอมจ่ายเงินฉีดวัคซีนเชื้อตาย
ส่วนประเทศสิงคโปร์ ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก ทั้งๆที่มีประชากร 5.9 ล้านคน ฉีดไปแล้ว 12 ล้านโดส ฉีดเข็มกระตุ้นแล้ว 50% โดยแม้จะมีผู้ป่วยสูงอยู่ แต่อัตราผู้เสียชีวิตเป็นศูนย์ราย บางวัน 1-3 ราย แต่การฉีดวัคซีนในสิงคโปร์เกิดปรากฎการณ์หนึ่ง โดยมีคนจำนวนหนึ่งต้องการฉีดวัคซีนเชื้อตาย ซึ่งหากใครจะฉีดเชื้อตายต้องเสียเงินเอง เขาก็ยอม
สำหรับมาเลเซีย ฉีดวัคซีนแล้ว 62 ล้านโดสจากประชากร 33 ล้านคน ฉีดเข็มกระตุ้นไปแล้ว 32.1% ซึ่งผู้ป่วยมาเลเซียอยู่ที่ 3-4 พันคนในช่วง 2 สัปดาห์ น้อยกว่าไทยตอนนี้ และเสียชีวิตเลขสองหลัก
** สรุปช่วง 2 เดือนสถานการณ์โอมิครอนในไทย คาดเดือนนี้แทนที่เดลตา
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทย การบริหารจัดการเดลตาเราจัดการได้ดี จากวันละ 2 หมื่นคนต่อวันก็เริ่มลง จากนั้นก็เจอโอมิครอน ขณะนี้ป่วยอยู่ประมาณ 7-8 พันคนต่อวันเป็นสัปดาห์แล้ว และเสียชีวิตยังตัวเลข 2 หลัก ส่วนใหญ่สิบกว่าๆ เราฉีดวัคซีนแล้ว 111 ล้านโดสจากประชากรกว่า 70 ล้านคน ฉีดเข็มกระตุ้นไปแล้ว 15.8% ซึ่งจริงๆไทยไม่ได้ด้อยกว่าคนอื่นในภาพรวมการฉีดวัคซีนโควิด19
"ในช่วง 2 เดือนหลังการประกาศสายพันธุ์โอมิครอน จากข้อมูลที่เกิดขึ้น โอมิครอนแพร่เร็วกว่าเดลตา โดยการแพร่เร็วไม่ได้สัมพันธ์กับปริมาณไวรัสในผู้ติดเชื้อ แต่มาจากคุณสมบัติของโอมิครอนเอง ส่วนความจำเป็นต้องรับการรักษาในรพ. น้อยกว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา ในไทยจึงมีการจัดระบบการรักษาในบ้าน แต่หากอาการเพิ่มขึ้นก็จะต้องนอนรพ. แต่อัตราการนอนรพ.ของโอมิครอนมีเพียง 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 2 เนื่องจากอาการรุนแรงน้อยกว่า" คณบดีศิริราช กล่าว
อย่างไรก็ตาม ความสามารถหลบจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายนั้น พบว่า โอมิครอน หลบภูมิคุ้มกันเรามากกว่าเดลตา ขณะเดียวกันเราไม่สามารถแยกอาการชัดเจนว่า แบบไหนโอมิครอนหรือเดลตา แต่แยกได้หลักๆ บ้าง คือ น้ำมูกไหล ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยตามตัว จามบ่อยและเจ็บคอ ส่วนอาการไข้สูง ไม่ได้กลิ่นหรือไม่ได้รส พบไม่บ่อยเหมือนเดลตา แต่จริงๆ อาการเหล่านี้สงสัยว่าป่วยโควิดก่อน ไม่ต้องคิดว่าสายพันธุ์อะไร ส่วนสถานการณ์ภายในเดือนนี้คาดว่าจะเป็นโอมิครอนทั้งประเทศ
ส่วนการศึกษาในสัตว์พบว่าเชื้อโอมิครอน มักติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ลงปอดมากเหมือนเดลตา ทำให้อาการไม่ค่อยรุนแรง แต่แพร่ง่าย แพร่เร็ว เพราะจามง่ายขึ้นได้ ทั้งนี้ มีการศึกษาจาก Imperial College ในกรุงลอนดอนพบว่า การจะมีภูมิฯช่วยลดการติดเชื้อ หรือติดเชื้อที่มีอาการมากจำเป็นต้องได้รับวัคซีน 3 เข็ม
** ฉีดโอมิครอน 2 เข็มต้องกระตุ้นเข็ม 3 ระยะห่าง 3 เดือน ส่วนเข็ม 4 ขอให้ติดตามข้อมูลก่อน รอวัคซีนรุ่นสอง ยกเว้นกลุ่มเสี่ยงต้องฉีด
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ดังนั้น คนฉีด 2 เข็ม ขอให้ฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ห่างกันประมาณ 3 เดือน แต่ยังไม่มีหลักฐานหรือข้อเสนอแนะว่า ให้ฉีดทุกๆ 3-6 เดือน เพราะยังต้องติดตามสถานการณ์ของไวรัสนี้ต่อไป และอีกไม่กี่เดือนจะมีวัคซีนรุ่นสองออกมาอีก ซึ่งก็ต้องพิจารณาว่ามีอะไรเพิ่มเติม ดังนั้น คนฉีดเข็ม 2 ให้ฉีดเข็ม 3 แต่คนฉีดเข็ม 3 แล้วขอให้ติดตามข้อมูลก่อน ยกเว้นกลุ่มเสี่ยงมากๆ ต้องฉีดเข็ม 4 นี่คือเหตุผลทั่วโลกมีการฉีดเข็มกระตุ้นเหมือนไทย
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า การจะชนะโอมิครอน ทั่วโลกต้องช่วยกัน พลโลกส่วนใหญ่ต้องได้รับวัคซีนให้ครบ และการหวังให้เกิดมีภูมิคุ้มกันโดยการติดเชื้อ เป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ เพราะอาจนำไปสู่อาการที่รุนแรงหรือแม้กระทั่งเสียชีวิต ที่สำคัญหากได้เชื้อเข้าไป ตัวท่านอาจไม่มีอะไร แต่ท่านอาจนำเชื้อไปติดผู้ใหญ่ที่บ้านได้ อย่าไปหวังผล การเพิ่มภูมิฯที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีน
ส่วนภาวะ Long COVID เป็นกลุ่มอาการที่พบได้หลังจากติดเชื้อ อาจพบได้เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนๆ มีมากกว่า 50 อาการที่พบ ระยะเวลาที่มีอาการที่จะถือว่าเป็นในสหราชอาณาจักรถือว่าไม่น้อยกว่า 3 เดือน แต่ในสหรัฐระบุ 4 สัปดาห์ขึ้นไป ถือว่าเป็นแล้ว แต่การได้รับการฉีดวัคซีนครบ จะช่วยลดโอกาสเกิดได้ถึง 49% ส่วนโอมิครอนหรือเดลตาจะแตกต่างอย่างไรหากเป็นลองโควิด ยังไม่มีหลักฐานตรงนี้
** ย้ำ! ยาโควิดชนิดไหนยังได้ผล ชนิดไหนไม่ได้!
ขณะที่ยาที่มีรายงานว่าได้ผลดีต่อโอมิครอนนั้น Favipiravir , Molnupiravir, Nirmatrelvir และ Remdesivir ถือว่ายังได้ผลดี ส่วนกลุ่ม Monoclonal antibody ตามรายงานของ US-FDA ยังได้ผลดีต่อโอมิครอน อยู่ แต่ยาที่มีรายงานว่าอาจไม่ได้ผล คือ Regeneron
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ผลจากการแพร่ระบาดเร็วของโอมิครอน แต่ก่อให้เกิดอาการน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ ทำให้มีโอกาสสูงที่เข้าสู่ช่วงปลายของการแพร่ระบาดของโควิด จากผลรวมของประชากรที่มีภูมิคุ้มกัน ทั้งจากการฉีดวัคซีนและหายจากการติดเชื้อ แต่อย่าไปหวังติดเชื้อเอง เพราะไม่คุ้มกัน ส่วนวิถีการใช้ชีวิตแม้จะไม่กลับมาเป็นปกติ แต่จะเป็นการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ คือ การพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เมื่อเกิดการแพร่ระบาดจากเชื้อโรคใหม่ และจะเป็นรูปแบบที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น เดิมทำงานที่สถานที่ทำงาน แต่เมื่อมีโควิดได้ทำงานที่บ้าน อาศัยเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เราดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น ล้างมือบ่อย อย่าถอยกลับไปเหมือนเดิม รักษาสิ่งดีๆเหล่านี้ไว้ ทำจนเป็นปกติรูปแบบใหม่ การรักษาทางไกลก็จะเข้ามากขึ้น เป็นต้น
** ขอบคุณภาพสไลด์จากศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 117 views