พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(ผบก.ปคบ.) พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับ ภก.ดร.สุชาติ จองประเสริฐ ผู้อำนวยการกองยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวจับกุมร้านขายยาที่ไม่ได้รับอนุญาตและได้รับอนุญาตที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระดมตรวจค้นร้านขายยาทั่วประเทศ สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 127 ราย พร้อมยึดของกลางที่เกี่ยวข้องกว่า 359 รายการ
พ.ต.อ.เนติ แถลงว่า ปคบ.ได้รับเรื่องร้องเรียน 2 ส่วนใหญ่ ส่วนแรกจากเภสัชกรที่เปิดร้านขายยาอย่างถูกต้องจ่ายยาด้วยตนเอง โดยที่จังหวัดหนึ่งร้องเรียนมาว่ามีร้านขายยาแห่งหนึ่งได้รับอนุญาตถูกต้องแต่ไม่ได้จ่ายยาโดยเภสัชกร อีกส่วนหนึ่งมีประชาชนร้องเรียนว่าซื้อยาจากร้านขายยาแต่กินแล้วรักษาไม่หาย เชื่อว่าผู้จ่ายยาไม่ใช่เภสัช ปคบ.จึงวางแผนเข้าตรวจสอบร้านขายยา เป็นครั้งแรกที่จัดระเบียบร้ายขายยาตั้งแต่ช่วงวันที่ 4-21 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งจับกุมร้านขายยา 127 ราย เป็นร้านไม่ได้รับอนุญาต 17 ราย
พ.ต.อ.เนติกล่าวว่า จากการสอบถามผู้ต้องหาพนักงานขายยาที่ไม่ใช่เภสัชกรจำนวน 119 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี 77 ราย มัธยมศึกษา 47 ราย ชั้นประถมศึกษา 3 ราย ทั้งหมดไม่มีความรู้ในวิชาชีพเภสัชกรรมแต่อย่างใด และพบของกลาง วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ยาปลอม ยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดเป็นของกลาง นำส่งพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 4 ปคบ. ดำเนินคดีตามความผิด
“เรามองไปมากกว่าการจับกุม เราตระหนักว่าร้านขายยาเป็นด่านแรกที่ประชาชนยามเจ็บป่วยเข้าถึงได้ง่ายกว่าการไปโรงพยาบาล ร้านขายยามีทั้งที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือได้รับอนุญาต แต่จ่ายยาโดยไม่ใช่เภสัชกร ดังผู้ต้องหาที่เราสำรวจมาบางรายจบมัธยม ประถม เราเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเพื่อสุขภาพของประชาชน ยามเจ็บป่วยประชาชนก็ตระหนักถึงร้านขายยาข้างบ้าน ก็อยากได้ยาที่ถูกต้องเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย ที่เราดำเนินการมา 18 วัน เราตกใจบางเคสเป็นลูกจ้างร้านขายยามา 10 ปี มีความรู้ว่าจ่ายยาอย่างไร แต่ตนเองไม่ใช่เภสัชกร ลงทุนเปิดร้านขายยา จ่ายยาเอง มีคำพูดว่ายิงยา ยารักษา 1 โรคมีหลายตัวแต่เขาจ่ายตัวที่ได้กำไรมากที่สุด ไม่ได้มองคนไข้ที่มาหาเลย ส่วนตัวยาที่จับกุมได้มีนาชุด ยาอันตรายต่างๆ” พ.ต.อ.เนติกล่าว
ด้าน ภก.ดร.สุชาติ กล่าวว่า ร้านขายยามีความใกล้ชิดชุมชนที่สุดเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพที่มีความสำคัญ แต่ไม่ใช่ว่าใครจะเปิดร้านขายยา หรือใครที่ไม่มีความรู้จะสามารถจ่ายยาได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือสุขภาพประชาชนที่มารับยา จากการจับกุมผู้ต้องหาที่จ่ายยาบางคนจบประถม มัธยม ต่อให้จบปริญญาตรี แต่หากไม่ได้จบในสาขาที่ผ่านการอบรมมาอย่างถูกต้องแล่วมาหยิบยาก็จะมาทำลายสุขภาพโดยตรงของปนระชาชน อาจทำให้แพ้ยา หรือได้รับยาปลอม
“ยาที่จับมาได้มีหลายชนิดไม่ได้ขึ้นทะเบียน ไม่รู้ว่ามาจากไหน และไม่รู้ว่าองค์ประกอบคืออะไร เภสัชกรต้องเรียนถึง 6 ปี เพื่อให้มีความรู้ ที่จะจ่ายยาได้อย่างถูกต้อง การที่มีร้านขายยาที่ไม่ได้รับอนุญาติ หรือปล่อยให้ใครก็ตามมาจ่ายยาจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน การดำเนินการที่ผ่านมาจึงมุ่งเน้นให้การบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนการคุ้มครองประชาชนเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิผล ยาที่จับกุมมาได้ มีการจัดเป็นชุดๆ แม้แต่เภสัชก็ยังบอกไม่ได้ว่าเอาอะไรมาผสมอยู่ด้วยกัน ยิ่งคนหยิบให้ไม่มีความรู้ แล้วบอกว่าน่าจะเป็นนั่น เป็นนี่ สิ่งเหล่านี้จึงต้องสร้างความตระหนักว่า เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เป็นสิทธิที่เมื่อไปซื้อยาก็ต้องได้รับการหยิบยื่นจากคนที่มีความรู้ ยังไม่รวมถึงการจ่ายยาต่างๆ เพื่อนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องในปัญหาวัยรุ่นที่พบอยู่ เราจึงดำเนินการให้มั่นใจว่า ยาต่างๆ ที่เป็นยาอันตราย หรือยาควบคุมพิเศษนั้นจะได้รับการจ่ายโดยเภสัชกรที่มีความรู้”ภก.ดร.สุชาติกล่าว
ผู้อำนวยการกองยา อย.กล่าวว่า สำหรับร้านที่ถูกดำเนินคดีเหล่านี้ อย.จะประมวลความผิดนำเสนอต่อคณะกรรมการยาและนำไปสู่การพักใช้ใบอนุญาตอย่างน้อยก็เป็นการชั่วคราวๆ ละไม่น้อยกว่า 120 วัน หรือถ้าคดีขึ้นสู่การพิจารณาในชั้นศาลก็จะพักใช้ใบอนุญาตไปเรื่อยๆ จนกว่าคดีจะสิ้นสุด ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการยาได้มีมติในการพักใช้ใบอนุญาตไป 97 ราย เพราะฉะนั้นความผิดที่เกิดขึ้นดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นขยายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ขายยาให้กับวัยรุ่นเพื่อมั่วสุม ก็เข้าข่ายมีความผิดพอที่จะพักใช้ใบอนุญาติได้ ขณะนี้ที่มักจะพบก็คือ ในการจ่ายยาที่เกิดขึ้น เภสัชกรผู้ปฏิบัติหน้าที่ไม่อยู่ หมายถึงมีบุคคลอื่นซึ่งไม่มีหน้าที่ปฏิบัติการมาจ่ายยาแทน
ดร.สุชาติกล่าวว่า ภายในปี 2565 จะครบกำหนดผ่อนผันตามกฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ. 2556 ที่ให้ร้านขายยาทุกประเภทปฏิบัติได้ตามหลักวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชน หรือ จี พี พี (Good Pharmacy Practice :GPP) ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการยกระดับคุณภาพของร้านขายยาให้มี "ระบบคุณภาพ" ตามแนวทางสากล โดยเริ่มตั้งแต่การพัฒนาที่โครงสร้างพื้นฐานด้านอาคารสถานที่และอุปกรณ์ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วตามบันไดขั้นที่หนึ่งในปี พ.ศ.2561 และ ในช่วงสิ้นปี 2565 จะเป็นการประเมินในส่วนที่เหลือทั้งหมด ของGPP ให้เกิดขึ้นในร้านยาได้อย่างสมบูรณ์ GPP
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. ได้รับการร้องเรียนจากประชาชน และได้รับการประสานงานจาก อย. ให้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ขายยานอนหลับ ขายยาชุด ขายยาแก้แพ้แก้ไอ ขายยาเขียว เหลือง และการขายยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษโดยมิใช่เภสัชกรในพื้นที่หลายจังหวัด โดยพฤติการณ์ใช้พนักงานขายยาที่ไม่ใช่เภสัชกรซึ่งขาดความรู้ความเข้าใจ ในสรรพคุณ ข้อบ่งใช้และข้อพึงระวังในการขายยา การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 และพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 ต่อมา ในช่วงระหว่างวันที่ 4 - 21 ม.ค.65 ปคบ. จึงได้จัดกำลังปูพรมตรวจสอบร้านขายยาทั่วประเทศ พบว่ามีร้านขายยากระทำความผิดกฎหมายจำนวนมาก จึงดำเนินคดีตามความผิด
1. ประมวลกฎหมายยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2564 มาตรา 94 ฐาน "ห้ามผู้ใดจำหน่าย มีไว้ครอบครองซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ ประเภท 4" มีความผิดตาม ม. 149 จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท
2. พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510
2.1 มาตรา 12 ฐาน "ขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต" ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีและปรับไม่เกิน 10,000 บาท
2.2 มาตรา 75 ทวิ ฐาน"ขายยาบรรจุเสร็จหลายขนานโดยจัดเป็นชุดในคราวเดียวกัน จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.3 มาตรา 72(4) ฐาน "ขายยาที่ไม่ขึ้นทะเบียนต่ำรับยา" ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี
หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.4 มาตรา 32 ฐาน "ขายยานตรายหรือยาควบคุมพิเศษในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ "
ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000 - 5,000 บาท
3. พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 มาตรา 28 ฐาน "เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมทำการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมหรือแสดงด้วยวิธีใด ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต" ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พล.ต.ต.อนันต์ กล่าวว่า ได้ตรวจสอบการขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ขายยานอนหลับ ขายยาชุด ขายยาแก้แพ้แก้ไอ ขายยาเขียวเหลือง และการขายยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษโดยมิใช่เภสัชกรในพื้นที่หลายจังหวัด โดยพฤติการณ์ใช้พนักงานขายยาที่ไม่ใช่เภสัชกรซึ่งขาดความรู้ความเข้าใจในสรรพคุณ ข้อบ่งใช้และข้อพึงระวังในการขายยา ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 และพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 นอกจากนี้พบวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท 4 Clorazepate ทะเบียนยา P 1A 054/2542 (ทะเบียนหมดอายุตั้งแต่ปี2005) ยาไม่มีทะเบียน เช่น P50 -ยาเขียวเหลือง ยาปลอม เช่น ยี่ห้อชิเดกร้า ยาชุด และการนำยาหมดอายุมาขายใหม่ ซึ่งจะขยายผลยาในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ยาไม่มีทะเบียน และยาปลอมที่ตรวจพบในร้านขายยา ต่อไป หากประชาชนพบเห็นร้านขายยาใดมีพฤติกรรมในการใช้พนักงานขายยาที่ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมหรือการกระทำความผิดกฎหมายในลักษณะอื่นใดสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน ปคบ. 1135 หรือ เพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค ได้ตลอดเวลา
- 8186 views