สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง เผยสถานการณ์โควิดกทม. พบบุคลากรการแพทย์-ด่านหน้าป่วย 47 ราย ติดเชื้อจากทั้งรพ.รัฐ และเอกชน โดยทั้งหมดฉีดเข็ม 3 แล้ว และบางคนฉีดเข็ม 4 แล้ว ย้ำฉีดวัคซีนติดเชื้อได้ แต่ลดความรุนแรงและเสียชีวิต ไม่มีใครอาการรุนแรง ส่วนกลุ่มสัมผัสใกล้ชิดกักตัวตามมาตรฐาน แต่ไม่ส่งผลต่อภาระงาน หรือปิดแผนก
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 13 ม.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค(คร.) แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 และมาตรการป้องกัน ควบคุมโรคในกรุงเทพมหานคร ว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,167 ราย เสียชีวิต 14 คน โดยมีผู้ป่วยอาการหนักที่ยังรักษาอยู่ในรพ. 520 คน และใส่ท่อช่วยหายใจ 110 คน
ส่วนสถานการณ์โควิด-19เขตสุขภาพที่ 13 กรุงเทพมหานคร มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 939 ราย เสียชีวิต 3 คน โดยจุดเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในกทม.พบมาก คือ 1.พื้นที่เสี่ยง /แหล่งชุมชนหมายถึงสถานที่ปิด ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารกึ่งผับ และบาร์ ที่ขออนุญาตปรับปรุงเป็นร้านอาหารปกติ ทำให้สามารถนั่งรับประทานอาหารได้ถึง 23.00 น. แม้จะจำกัดการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึง 21.00 น.ก็ตาม แต่ด้วยสภาพสถานที่ที่อากาศปิด การวางรูปแบบไม่ได้ระบายอากาศที่ดีทำให้เป็นพื้นที่เสี่ยงที่เพิ่มขึ้น รวมถึงหอพักที่มีลักษณะแออัด เช่น หอกพักนักศึกษา แฟลตตำรวจ จึงอยากเน้นย้ำให้ประชาชนเลี่ยงพื้นที่เสี้ยง ถ้าอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวขอให้ป้องกันตัวและปฏิบัติตัวตามมาตรการที่สธ.กำหนด และ 2. สัมผัสผู้ป่วยยืนยีน แนะนำให้ตรวจคัดกรองตัวเอง ถ้าป่วยให้แยกตัวเองออกจากผู้ใกล้ชิดและเข้ารับการดูแลรักษาให้เร็วที่สุด
สำหรับประวัติการได้รับวัคซีนของผู้เสียชีวิต ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.2564 – 6 ม.ค.2565 จำนวน 6,905 คน พบว่า เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือรับวัคซีนไม่ครบ 4,266 คน คิดเป็น 61.8% ได้รับวัคซีนครบโดส 940 คน คิดเป็น 13.6 % ซึ่งค่อนข้างต่ำ และไม่ระบุ 1,699 คนคิดเป็น 24.8%
ทั้งนี้ ผลการสอบสวนการระบาดในกรุงเทพฯ ที่พบมาก คือ 1.กลุ่มร้านอาหารกึ่งผับบาร์ ที่ปรับจากผับ บาร์ เป็นร้านอาหารปกติ โดยแต่ละกลุ่มพบมากกว่า 5 รายขึ้นไป โดยขณะนี้จะมีการถอนมาตรฐาน ร้านที่ได้รับการรับรองแต่ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนด หากพบการติดเชื้อซ้ำก็ต้องมีการพิจารณา อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าบางร้านพบมีการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เช่น แอร์ ในช่องระบายอากาศ ทำให้การตรวจพบลำบากมากขึ้น ทั้งนี้ ประชาชนที่พบร้านเหล่านี้ที่มีความเสี่ยงสามารถแจ้งได้ที่สำนักงานเขตและสปคม. ที่ผ่านมาก็มีร้องเรียนเข้ามาเช่นกัน
2.กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ได้รับเชื้อจากชุมชนหรือบุคคลที่ใกล้ชิด ยังไม่ใช่การรับเชื้อจากการเข้ารับบริการของผู้ป่วย โดยข้อมูลตั้งแต่ปลาย ธ.ค2564 จนถึงวันที่ 12 ม.ค.2565 พบ 47 รายทั้งรพ.รัฐ และเอกชน โดยทั้งหมดฉีดเข็ม 3 แล้ว และบางคนฉีดเข็ม 4 แล้ว และ3.กลุ่มผู้ที่มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน
ผู้สื่อข่าวถามว่าบุคลากรฉีดวัคซีนเข็ม 3 แล้วแต่ทำไมยังติดเชื้อ นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า อยากขอย้ำว่าแม้ว่าฉีดวัคซีนแล้วยังติดเชื้อได้ แต่ป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งทั้ง 47 รายไม่มีอาการรุนแรง รวมถึง ไม่มีการปิดแผนกของบุคลากรที่ติดเชื้อ ไม่น่ากังวล ทั้งนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ได้เน้นย้ำไปยังสถานพยาบาลทุกแห่งแล้วให้เพิ่มความระมัดระวังเคร่งครัด เรื่องป้องกันควบคุมโรคในสถานพยาบาลให้มากขึ้น โดยเฉพาะการคัดกรองผู้ป่วยที่มารับการรักษา
เมื่อถามว่าบุคลากรส่วนใหญ่เป็นแพทย์ หรือพยาบาล นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า รวมๆกัน ส่วนใหญ่บุคลากรด่านหน้า
เมื่อถามว่าพบในรพ.รัฐ หรือรพ.เอกชนมากกว่า นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า พบหมด ทั้งรพ.รัฐ รพ.เอกชน และโรงเรียนแพทย์
เมื่อถามว่าการติดเชื้อส่วนใหญ่มาจากการรับประทานอาหาร หรือการฉลองช่วงปีใหม่หรือไม่ นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า บุคลากรก็เหมือนประชาชนทั่วไป มีการฉลอง รับประทานอาหาร สังสรรค์กับเพื่อน เมื่อรับประทานอาหารก็ต้องถอดหน้ากาก อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ได้เน้นย้ำให้ระมัดระวังตัวเพิ่มเติม
กรณีการติดเชื้อในบุคลากร จำเป็นต้องมีการกักตัวกลุ่มสัมผัสใกล้ชิด ส่งผลต้องปิดแผนก หรือทำให้ภาระงานการบริการผู้ป่วยพื้นที่กทม.โหลดหรือไม่ นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า ไม่ถึงขนาดต้องปิดแผนกอะไร ส่วนการกักตัวก็ยังต้องมีในกลุ่มสัมผัสใกล้ชิด เสี่ยงสูง ซึ่งยังกักตัวตามมาตรฐานเดิม 14 วัน แต่ขณะนี้มีการพิจารณาอาจจะลดจำนวนการกักตัว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดโควิดในพื้นที่กทม. จำนวน 47 ราย อายุเฉลี่ย 15 ปี มากที่สุด 56 ปี น้อยที่สุด 20 ปี เป็นรพ.รัฐ 32 ราย และรพ.เอกชน 15 ราย
- 31 views