กรมการแพทย์ย้ำ! หากใครตรวจ ATK เป็นบวกติดต่อ สปสช. 1330 ประสานรักษาที่บ้าน Home Isolation(HI) และCommunity Isolation(CI) เป็นระบบการรักษาแรก ชี้ภายใน 6 ชม. มีจนท.ติดต่อกลับ ขณะที่ตจว. ล่าสุดปลัดสธ.สั่งให้ตั้งศูนย์ประสานงานเฉพาะพื้นที่รองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น หลังเข้าเวฟ 5 ของการระบาดแล้ว
เมื่อวันที่ 5 ม.ค.2565 ที่กรมการแพทย์ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมพร้อมรองรับผู้ป่วยโควิดหลังปีใหม่ ว่า ขณะนี้ได้มีการหารือร่วมกับ ดร.สันต์ ศรีอรรฆ์ธำรง อาจารย์พิเศษคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เกี่ยวกับสถานการณ์ระบาด ซึ่งพบว่าขณะนี้เข้าสู่เวฟ 5 แล้ว ซึ่งในส่วนของการรักษานั้น ขณะนี้มีเตียงรองรับจำนวน 52,300 เตียงทั่วประเทศ โดยในส่วนกทม.และปริมณฑลขณะนี้มีเตียงว่างรองรับ 25,828 เตียง ซึ่งหากเป็นไปตามกรมควบคุมโรคได้ประเมินฉากทัศน์หากมีผู้ป่วยโควิดสูงสุดถึง 3 หมื่นรายต่อวัน ทางกรมการแพทย์จะมีเตียงเพียงพอในการรักษา ขณะเดียวกันแนวทางรักษาผู้ป่วยหลังจากนี้จะเน้นย้ำไปที่ Home Isolation(HI) และCommunity Isolation(CI) เป็นการรักษาแรก แต่หากมีอาการหนักจะส่งต่อรักษายังรพ.ที่มีเตียงรองรับต่อไป
“วันนี้มีผู้ป่วยติดเชื้อในระบบกว่า 3,899 ราย และผู้ป่วยที่ตรวจ ATK อีกกว่า 3 พันราย ก็ประมาณ 7 พันราย ซึ่งมีการรายงานแยกออกมา ทั้งนี้ เรามีระบบติดตาม โดยกรณีหากตรวจ ATK เป็นบวกที่บ้านให้ติดต่อสายด่วนสปสช. 1330 เมื่อติดต่อแล้วภายใน 6 ชั่วโมงจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับเพื่อประเมินอาการ ว่า หากรักษาที่บ้านใน HI ได้ ก็รักษาที่บ้าน หากไม่ได้ให้รักษาที่ CI ซึ่งขณะนี้สำนักงานเขต กรุงเทพมหานครทุกเขตมีการจัดเตรียมไว้แล้ว พร้อมทั้งมีการจัดเตรียม CI สำหรับเด็กและแรงงานต่างด้าวได้แล้วเช่นกัน” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
“ขอย้ำว่า ในรอบนี้จะเน้นการรักษาที่บ้าน (HI) และศูนย์ดูแลในชุมชน (CI) เป็นการรักษาอันดับแรก เรียกว่า HI และ CI first และประสานเข้าระบบผ่าน 1330 ซึ่งจะดำเนินการจับคู่รพ.ให้ และประเมินอาการว่าควรอยู่ที่บ้านหรือส่งต่อรักษาในรพ. รับประกันว่าภายใน 6 ชั่วโมงจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ หากคลินิกไหนทำไม่ได้ก็จะดำเนินการถอดออกจากระบบการดูแล แต่หากอาการหนักให้โทร 1669 เพื่อรับส่งต่อรักษาในรพ. ส่วนในต่างจังหวัด แม้จะสามารถโทร 1330 ได้ แต่เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทแต่ละพื้นที่ ล่าสุด นพ.เกียรติถูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ทางจังหวัดเตรียมศูนย์ประสานงานเรื่องนี้ในแต่ละจังหวัดแล้ว ซึ่งอาจมีเบอร์ติดต่อเฉพาะของแต่ละจังหวัดเอง” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีการเตรียมพร้อม CI ในเด็ก นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า คาดการณ์ว่ารอบนี้จะเกิดการระบาดในเด็กเยอะ เพราะเด็กยังไม่ได้ฉีดวัคซีน แต่ย้ำว่าเด็กติดได้แต่อาการไม่รุนแรง หากไม่มีโรคประจำตัว ขณะนี้มีการประสานกทม.ให้มีการจัดทำเตียง CI สำหรับเด็กและครอบครัวเอาไว้ 6 โซน โซนละ 1 แห่ง แห่งละอย่างน้อย 50 เตียง และ 1 ห้องเด็กอยู่ร่วมกัน 3-4 คน มีพื้นที่ให้ทำกิจกรรมได้ พร้อมทั้งมอบสถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชราชินีในการเตรียมยาน้ำฟาวิราเวียร์สำหรับเด็กทั่วประเทศ โดยรพ.แต่ละแห่งสามารถทำได้เอง ไม่ต้องสำรอง พร้อมทั้งจัดหมอเด็กเพื่อเป็นที่ปรึกษาให้ด้วย นอกจากนี้ CI สำหรับแรงงานต่างด้าวด้วยโซนละ 1 แห่ง แห่งละประมาณ 100 เตียง
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีเพจเส้นด้าย ระบุว่ามีคนโทรหาวันละ 3 พันกว่าคน นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า จริงๆ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขทำงานร่วมกับเพจต่างๆมาตลอด อย่างเพจเส้นด้ายก็เช่นกัน ซึ่งล่าสุดเลขาธิการสปสช.ให้ข้อมูลว่า ใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีคนโทรหา 1330 จำนวน 4 พันราย เป็นคนไข้ 190 ราย ส่วนที่มีคนติดต่อไปทางเพจเส้นด้าย คาดว่ามาจากคนในชุมชนที่รู้จักมีการติดต่อโดยตรง ซึ่งขอยืนยันว่า สามารถโทรมาทาง 1330 เพื่อประสานติดต่อกับภาครัฐได้ เราเตรียมพร้อมระบบรองรับแล้ว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 46 views