กรมควบคุมโรคเผยสถานการณ์หลังปีใหม่พบป่วยโควิดเพิ่มขึ้น เหตุติดร้านอาหารกึ่งผับบาร์ โดยเฉพาะอุบลราชธานี ติด 1 ใน 3 โควิดสูง เหตุร้านอาหารไม่ปฏิบัติตามโควิดฟรีเซตติ้ง พร้อมดำเนินคดีทางกฎหมาย ขอองค์กร บริษัท พนักงานทำงาน WFH สัปดาห์แรก พร้อมตรวจ ATK หวั่นระบาดที่ทำงาน ขณะเดียวกันใครฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มก่อน 1 พ.ย. 64 ขอให้ติดต่อรับบูสเตอร์โดส เข็ม 3 ทันที

เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด-19 "โอมิครอน" หลังปีใหม่ ว่า  ผู้ติดเชื้อในไทยวันนี้ คือ 3,091 ราย มาจากต่างประเทศ 124 ราย อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่า แนวโน้มสถานการณ์ความรุนแรงของโรคเริ่มลดลง หลังมีการฉีดวัคซีนค่อนข้างมาก โดยผู้ป่วยอาการหนักหรือปอดอักเสบลงลงมาเหลือวันนี้ 555 รายจากช่วงระบาดสูงสุดถึง 1,300 คน รวมถึงผู้ใส่ท่อช่วยหายใจเหลือ 151 ราย และผู้เสียชีวิตระยะหลังแต่ละวันไม่ถึง 20 คน 

ทั้งนี้ น่าสังเกตว่า  ผู้เสียชีวิตระยะหลังพบอายุสูงมากขึ้น อย่างวันนี้มี 12 ราย พบเสียชีวิตค่าเฉลี่ยอายุ 73 ปี และหลายครั้งเกือบทั้งหมดที่เสียชีวิตเป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว ดังนั้น กลุ่มนี้ขอให้มาฉีดวัคซีน ที่กลัวอย่ากลัว เพราะข้อมูลที่ฉีดวัคซีนมามีความปลอดภัยสูง 

0 หลังปีใหม่พบติดโควิดกลุ่มก้อนร้านอาหารกึ่งผับบาร์เพิ่มขึ้น

"สถานการณ์ช่วงปีใหม่ มีกิจกรรมหลายอย่าง มีการเดินทางกลับภูมิลำเนา เฉลิมฉลองช่วงปีใหม่ ทำให้หลายพื้นที่ ยิ่งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น จากเดิมสูงสุดอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่วันนี้เป็นอีกวันที่จ.ชลบุรี มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 499 คน รวมทั้งจ.อุบลราชธานี มีรายงานติดเชื้อวันนี้ 328 คน" นพ.โอภาส กล่าว

อย่างไรก็ตาม  ที่ผ่านมาเรามีการประเมินความเสี่ยงของการแพร่ระบาดจะเกิดจากอะไร โดยเฉพาะร้านอาหารกึ่งผับบาร์ จริงๆ ผับบาร์ คาราโอเกะ ทางศบค. กระทรวงสาธารณสุข รัฐบาลไม่มีนโยบายให้เปิด แต่มีหลายร้านที่เป็นผับบาร์ คาราโอเกะ ขอเปิดเป็นร้านอาหาร แต่พอความเป็นจริง เมื่อท่านเปิดหลังคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอนุญาตให้เปิด แต่กลับเปิดเป็นผับ บาร์ ไม่ได้มีการปรับเป็นร้านอาหาร  โดยสถานที่ปิดทึบระบบหมุนเวียนไม่มี ระบายอากาศไม่ดี ที่นั่งชิดกัน ไม่เว้นระยห่าง พนักงานไม่สวมหน้ากากอนามัย 

0ย้ำ! พื้นที่ใช้กม.เอาผิดร้านอาหารกึ่งผับบาร์ไร้มาตรการโควิดฟรีเซตติ้ง ทำติดโควิดเพิ่มขึ้น

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ตนได้ลงพื้นที่ไปจ.อุบลราชธานี  ซึ่งเป็นจุดที่มีการระบาด ทำให้มีการแพร่กระจาย โดยพบว่า ร้านอาหารกึ่งผับที่ขออนุญาตเปิดเป็นร้านอาหาร ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรการ เช่น มีการจัดโต๊ะอาหารไว้ข้างนอกจริง  แต่พอดึกๆ กลับปิดม่าน จัดโต๊ะอยู่ด้านใน ไม่เว้นระยะห่าง  มีเวที เปิดเครื่องเสียง แออัด มีการส่งเสริมการขาย มีร้องเพลง เต้นรำ เหมือนผับบาร์ ซึ่งอันนี้ผิดกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินมาตรการทางกฎหมายแล้ว 

"ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการสธ.ได้เน้นย้ำคณะกรรมการโรคติดต่อทุกจังหวัดให้เข้มงวดสถานที่มีความเสี่ยง หากที่ใดไม่ปฏิบัติตามให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง และขอย้ำประชาชนว่า ร้านเหล่านี้มีความเสี่ยงสูง หากท่านติดแล้วไม่มีอาการ แต่เอาเชื้อไปติดผู้ใหญ่ พ่อแม่ ปู่ย่าตายายที่บ้านก็จะทำให้อาการหนักถึงขั้นเสียชีวิตได้  ดังนั้น ตรงไหนมีความเสี่ยงอย่าไป อย่าเห็นแก่ความสนุก แต่จะทำให้โรคระบาดไปทั่วได้" อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า จากการทำแบบจำลองฉากทัศน์การติดโควิด โดยเฉพาะโอมิครอนหลังปีใหม่นั้นหรือช่วงไตรมาส 1 ปี 2565 นั้น จะพบว่าหากไม่ทำอะไรเลยก็จะมีผู้ติดเชื้อสูงถึง 3 หมื่นรายต่อวันใน 1-2 เดือนข้างหน้า แต่หากมีมาตรการดำเนินการเข้มงวด ทั้งฉีดวัคซีน มาตรการส่วนบุคคล มาตรการองค์กร และการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอด้วย ATK ก็จะชะลอการระบาดได้ ซึ่งหวังว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อจะน้อยที่สุด จึงต้องขอความร่วมมือช่วยกัน

 
เมื่อถามว่าขณะนี้มีรายงานร้านอาหารกึ่งผับบาร์ทำผิดแล้วกี่แห่ง และมีการลงโทษไปแล้วกี่แห่ง นพ.โอภาส กล่าวว่า พบลักษณะดังกล่าวหลายๆ จังหวัดตอนนี้มอบหมายให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) รวบรวมข้อมูล โดยผู้ว่าฯ ดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเข้มงวด ตามนโยบายนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข

0 ปี 65 หวังโควิดเป็นโรคประจำถิ่น แต่ต้องอาศัย 3 ปัจจัย

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า โควิดระบาดผ่านมา 2 ปีเราเรียนรู้อะไรบ้าง ช่วง 2563 โรคนี้เป็นโรคอุบัติใหม่ มีจีนเป็นต้นแบบควบคุมโรคแบบล็อกดาวน์ มีจำกัดการเดินทาง ขณะนั้นประชาชนพร้อมในร่วมมือสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง แต่ตอนนั้นยังไม่มีวัคซีน ต่อมาปี 2564 เชื้อมีการกลายพันธุ์จากอู่ฮั่น เป็นอัลฟา เดลตา มีการแพร่ระบาดทั่วดลก ตอนนั้นเราพบว่าจะจำกัดให้โรคเป็นศูนย์ไม่ได้ เพราะมีระบาดทั่วโลก จึงเน้นความสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ เริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยว และมีการฉีดวัคซีนได้ 104 ล้านโดส จัดหาวัคซีนได้ 120 ล้านโดสมากกว่าแผน

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า  ในปี 2565 สิ่งที่เราคาดหวังเชิงวิชาการ คือ ต้องปรับระบบเตรียมพร้อมให้กลายเป็นโรคประจำถิ่น เพื่อให้ใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่การจะเป็นโรคประจำถิ่น ต้องมีปัจจัย 3 อย่าง ประการแรก คือ  เชื้อโรคต้องอยู่กับคนเราอย่างสมดุล ด้วยการต้องอ่อนแรงลง ไม่ทำให้คนป่วยหนักเสียชีวิต แต่จะแพร่กระจายได้มากขึ้น ซึ่งตรงกับสายพันธุ์โอมิครอน  ประการสอง จะอยู่กับเชื้อโรคได้ เราต้องมีภูมิต้านทาน คือ การฉีดวัคซีน โดยปี 2565 จะเน้นฉีดเข้มกระตุ้น ทั้งเข็ม 3 และ 4 ขณะนี้สธ.เตรียมวัคซีนให้ประชาชนแล้ว และประการที่สาม การจัดการสิ่งแวดล้อมลดความเสี่ยง การรักษาดีขึ้น มียามากขึ้น มีความรู้ในการต่อสู้มากขึ้น ทั้งหมดเราเตรียมพร้อมไว้แล้ว และเราคาดหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากประชาชน เพื่อให้โรคกลายเป็นโรคประจำถิ่น 

อธิบดีฯ กล่าวอีกว่า  หลังปีใหม่มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อ เพิ่มขึ้น แต่อาการหนัก ผู้เสียชีวิตลดลง โดยการระบาดกลุ่มก้อนมีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะร้านอาหารกึ่งผับบาร์ หลายแห่งไม่ปฏิบัติตามมาตรการโควิดฟรีเซตติ้ง ต้องเน้นจังหวัดบังคับใช้กฎหมาย 

0 หลังปีใหม่ขอองค์กร บริษัท พนักงานทำงาน WFH สัปดาห์แรก พร้อมตรวจ ATK หวั่นระบาดที่ทำงาน

"ส่วนประชาชนที่กลับจากต่างจังหวัดให้เฝ้าสังเกตอาการ อย่างน้อย 14 วัน และขอให้ทำงานที่บ้าน Work From Home ในสัปดาห์แรกพร้อมตรวจ ATK อย่างน้อย 2 ครั้งห่างกัน 3 วัน ก่อนกลับเข้าทำงาน หากพบว่าผลตรวจเป็นบวก โทร 1330 สปสช. ลงทะเบียนรักษาที่บ้าน หรือ Home Isolation หรือติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้าน ส่วนผู้ประกอบการ มีมาตรการ WFH เฝ้าระวังอาการป่วย ตรวจคัดกรองพนักงานก่อนเข้าทำงาน ส่วนโรงงานขอให้ดำเนินการภายใต้รูปแบบบับเบิลแอนด์ซิล" นพ.โอภาส กล่าว

พร้อมย้ำว่า  สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มก่อนวันที่ 1 พ.ย.2564 ให้ไปรับการฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดสเข็ม 3 สถานพยาบาลใกล้บ้าน ส่วนบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า รวมถึงประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ฉีดเข็ม 3 แล้วเกิน 3 เดือนให้ฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดสอีก 1 เข็มได้

 

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : อัปเดต! โอมิครอนสะสม 2,062 รายครบทุกเขตสุขภาพ พร้อมติดตามสายพันธุ์ลูกหลาน Omicron)

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org