กรมวิทย์เผยสถานการณ์โอมิครอนกลายพันธุ์ " B.1.640.1  และB.1.640.2" ยังไม่มีข้อมูลน่าวิตก ส่วนไทยติดตามใกล้ชิด เผยข้อมูลศึกษาผลบวกโอมิครอนทำภูมิคุ้มกันสูงสู้เดลตาได้ แต่ต้องเป็นกลุ่มฉีดวัคซีนโควิด   

เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  จัดการแถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 และสายพันธุ์โอมิครอน  โดยนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์   กล่าวว่า ขณะนี้มีกระแสข่าวระบุว่าไม่ได้หยุดแค่โอมิครอน มีสายพันธุ์อื่นๆมาอีก แต่จริงๆไม่ใช่อันใหม่ โดยเดิมเรามีสายพันธุ์โควิดที่น่าห่วงกังวล 4 สายพันธุ์ คือ   อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา จากนั้นก็มีสายพันธุ์ที่เรียกว่าน่าสนใจ และมีสายพันธุ์ VUM หรือ Variants Under Monitoring  ซึ่งขณะนั้นมี 2 ตัว โดยตัวหนึ่งมาก่อน คือ  B.1.640  แต่เงียบหายไป ถัดมาก็เป็น B.1.1529 คือโอมิครอน จึงมีการขยับชั้นเป็น VOCs โดยองค์การอนามัยโลกภายในเวลาอันรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม   ล่าสุดสายพันธุ์  B.1.640  มีการกลายพันธุ์ออกไปเป็นลูกหลาน คือ  B.1.640.1 เป็นของเดิมที่เคยเกิดเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา  และB.1.640.2  ซึ่งอันหลังเจอในฝรั่งเศส โดยต้นทางมาจากคองโก เจอประมาณ 400 ราย ซึ่งพบการกลายพันธุ์ของสไปรก์โปรตีน ชนิด SNPs 14 ตำแหน่ง การขาดหายไปอีก 9 ตำแหน่ง โดยเฉพาะบางคนบอกว่าพบ N501Y และ E484Q ซึ่ง 2 ตัวนี้อาจหลบวัคซีนได้ แต่ขอย้ำว่า ไม่ต้องตกใจ เพราะการพบกรณีดังกล่าวเจอได้หลายตัว ทั้งเบตา แกมมา หรือแม้กระทั่วโอมิครอน โดยในระบบการเฝ้าระวังของโลกมีการติดตาม และทำให้ทราบว่ามีการกลายพันธุ์ออกมา จึงต้องจับตากันต่อไป สำหรับไทยก็เฝ้าระวังอยู่ว่า จะมีการพบสายพันธุ์ลักษณะนี้หรือไม่อย่างไร

นอกจากนี้ ยังพบการศึกษาในแอฟริกาใต้ พบว่า ถ้าคนติดโอมิครอนแล้ว เกิดภูมิคุ้มกันขึ้น โดยเจาะเลือด 14 วันหลังติดเชื้อโอมิครอน เปรียบเทียบทั้งคนฉีดวัคซีนและไม่ฉีด เพื่อดูภูมิคุ้มกันที่ขึ้นมาว่า จัดการกับโอมิครอน และเดลตาได้แค่ไหน ทั้งนี้ พบว่า คนเหล่านี้ที่ติดโอมิครอนภูมิคุ้มกันจะสูงขึ้นเฉลี่ย 14-15 เท่า ซึ่งเป็นกลไกธรรมชาติ โดยหากติดเชื้อโอมิครอนซ้ำ ภูมิฯก็จะจัดการได้ ขณะเดียวกันยังมีข้อสังเกตสำคัญว่า เมื่อติดเชื้อแล้วปรากฎว่าภูมิฯที่สูงขึ้นยังป้องกันเดลตาได้ประมาณ 4 เท่ากว่าๆ แต่ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกราย 

"สรุป คือ คนที่ฉีดวัคซีนหรือแม้กระทั่งไม่ฉีด เมื่อติดเชื้อโอมิครอนหลังจากนั้น 14 วัน จะมีภูมิคุ้มกันป้องกันเดลตาได้ด้วย เรื่องนี้น่าสนใจ โดยกรมวิทย์จะรวบรวมคนติดเชื้อในไทย และเมื่อครบ 2 สัปดาห์จะนำเลือดมาตรวจว่า จัดการกับเชื้อเดลตาได้มากน้อยแค่ไหน หากจริงตามนี้ก็หมายความว่า การติดเชื้อโอมิครอนอาจไม่ได้มีผลร้ายอย่างเดียว แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนให้ไปรับเชื้อ ต้องแปลความดีๆ อันนี้คือ ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์" นพ.ศุภกิจ กล่าว

สำหรับการติดตามผู้ติดเชื้อโอมิครอนตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2564 -  3 ม.ค.2565 พบ 2,062 ราย โดยเมื่อวาน(2 ม.ค.) พบ 282 ราย ครบถ้วนทุกเขตสุขภาพ อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้ตรวจคอนเฟิร์มด้วยการตรวจจีโนมทั้งตัวทุกราย เพราะตรวจเบื้องต้นไม่เคยผิด แต่จะเป็นการสุ่มตรวจคอนเฟิร์มแทน โดยจำนวนที่พบสะสม 2,062 ราย ส่วนใหญ่หายดีแล้ว และที่รักษาตัวก็อยู่ในรพ. ไม่ได้ออกมาภายนอก 

ทั้งนี้ จำนวนการติดเชื้อสะสม 2,062 ราย  อาทิ กรุงเทพมหานคร 585 ราย  โดยติดในประเทศ 7 ราย ส่วนกาฬสินธุ์ มี 233 ราย ในจำนวนนี้ติดเชื้อในประเทศ 231 ราย ร้อยเอ็ด 180 รายติดในประเทศทั้งหมด 180 ราย ภูเก็ต 175 ราย ติดในประเทศ 17 ราย ชลบุรี 162 ราย เป็นการติดในประเทศ 70 ราย และสมุทรปราการ 106 ราย ติดในประเทศ 28 ราย โดยทั้งหมดติดเชื้อไป 54 จังหวัดแล้ว

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า โอมิครอน จะเริ่มส่งผลให้จำนวนการติดเชื้อในภาพรวมของประเทศมากขึ้น  แต่ยังไม่ส่งผลต่อจำนวนการเสียชีวิต เพราะคนเสียชีวิตวันนี้อาจติดเชื้อมาจาก 2 สัปดาห์ที่แล้ว และขอให้เข้าใจตรงกันว่า  การติดเชื้อโควิดวันนี้ 70-80% ยังเป็นเดลตา ซึ่งยังมีผลทำให้ป่วยหนักและเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่ม 608 คนสูงอายุ คนมีโรคประจำตัว นอกจากนี้ ต้องเรียนว่า เราจะไม่ได้ตรวจสายพันธุ์ทุกเคส แต่จะมีการใช้ระบบเฝ้าระวังปกติตามเกณฑ์เพื่อประเมินสถานการณ์ และอาจไม่ต้องอัปเดตทุกวัน รวมทั้งจากข้อมูลการศึกษาผู้ติดเชื้อบางส่วนจากโอมิครอน อาจทำให้ภูมิคุ้มกันสามารถสู้เดลตาได้ แต่จะขึ้นสูงในกลุ่มฉีดวัคซีน 

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : ร้านอาหารกึ่งผับบาร์ทำโควิดเพิ่ม!  ขอปชช. WFH สัปดาห์แรกและตรวจ ATK ทุก 3 วัน 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org