“อนุทิน” ขยายนโยบาย 30 บาททุกที่ครอบคลุมทั่วประเทศ มอบเป็นของขวัญปีใหม่ ตั้งแต่ 1 ม.ค.2565 ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองสามารถเข้ารักษาในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ โดยที่หน่วยบริการจะไม่มีการเรียกให้กลับไปรับใบส่งตัวมาเหมือนในอดีตที่เคยเป็นปัญหากับพี่น้องประชาชน ด้าน สปสช.เตรียมความพร้อมขยายนโยบายสู่ทั่วประเทศ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การยกระดับบัตรทองเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ตนได้มอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ โดยเน้นใน 4 บริการ ได้แก่ 1. ประชาชนที่เจ็บป่วยไปรับบริการกับหมอประจำครอบครัว ในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ หรือ 30 บาทรักษาทุกที่ 2. ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว 3. โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ และ 4. ย้ายหน่วยบริการ ได้สิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน
ในส่วนของการยกระดับบัตรทอง 30 บาท ให้เป็น 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งนำร่องในบางพื้นที่เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา และในปี 2565 นี้ จะมีการขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 เป็นต้นไป หากประชาชนอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ใช่หน่วยบริการประจำที่ลงทะเบียนไว้ แล้วเกิดการเจ็บป่วยที่ไม่ใช่กรณีป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารับบริการในระบบบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ โดยที่หน่วยบริการจะไม่มีการเรียกให้กลับไปรับใบส่งตัวมาเหมือนในอดีต ที่เคยเป็นปัญหากับพี่น้องประชาชน
“การยกระดับนโยบายนี้ เพราะเราเชื่อว่าประชาชนที่เจ็บป่วยอาจมีความจำเป็นต้องเข้ารับบริการในพื้นที่นอกหน่วยบริการที่ตัวเองลงทะเบียนไว้ ซึ่งที่ผ่านมาอาจต้องถูกเรียกให้กลับไปรับใบส่งตัวมาอีกครั้ง อันเป็นความทุกข์ของประชาชน ดังนั้นผมจึงได้ประกาศแนวทางนี้ให้เป็นนโยบาย และเป็นของขวัญปีใหม่ 2565 แก่พี่น้องประชาชน” นายอนุทินกล่าวและว่า ที่ผ่านมา จากการดำเนินงานนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่นำร่องในบางพื้นที่ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เริ่มใช้แนวทางนี้พบว่าเป็นประโยชน์กับประชาชนจริง ช่วยลดขั้นตอนยุ่งยาก ทำให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองเข้าถึงการรักษาได้เพิ่มขึ้น
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช.ในฐานะที่มีบทบาทในการสนับสนุนด้านงบประมาณ ก็ได้รับนโยบายนี้มาพร้อมจัดระบบงบประมาณเพื่อสนับสนุนให้เกิดกลไกดังกล่าว หลักการของนโยบายนี้คือ ประชาชนยังคงเข้ารับบริการที่หน่วยบริการประจำที่ลงทะเบียนและหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่าย แต่กรณีมีความจำเป็นหรือเหตุสมควรสามารถเข้ารับบริการปฐมภูมิที่หน่วยบริการปฐมภูมินอกเครือข่ายได้ โดยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 หน่วยบริการทุกแห่งที่ให้บริการประชาชนในลักษณะนี้ จะไม่ต้องให้ประชาชนกลับไปรับใบส่งตัว หรือมีการเรียกเก็บเงินจากประชาชน แต่ให้มาเรียกเก็บเงินจาก สปสช. ซึ่งได้จัดเตรียมงบประมาณเอาไว้แล้วต่างหาก เพื่อจัดสรรให้ตามที่โรงพยาบาลเรียกเก็บ ในราคาที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่ยอมรับได้ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่
“จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ และยืนยันว่าไม่จำเป็นที่จะต้องกลับไปรับใบส่งตัวอีก เพราะในอดีตโรงพยาบาลอาจมีความเข้าใจว่าต้องให้คนไข้กลับไปรับใบส่งตัวเพื่อที่จะมาเบิกเงินได้ แต่เรายกเลิกระบบนี้แล้ว ดังนั้นต่อไปนี้หน่วยบริการสามารถเบิกเงินเข้ามากับ สปสช. ได้ทันทีตามรายการที่เรียกเก็บ ซึ่งขณะนี้มีรายการที่เบิกได้จำนวนกว่า 1 พันรายการ และหากรายการใดที่ยังอาจมีไม่ครบถ้วน ทาง สปสช.ก็ยินดีที่จะจ่ายให้ตามที่โรงพยาบาลเรียก เพื่อให้ความสะดวกกับประชาชน และลดความกังวลของโรงพยาบาล ว่าท่านจะได้รับการจ่ายอย่างแน่นอน และเป็นการจ่ายในระดับราคาที่พึงพอใจ” นพ.จเด็จ กล่าว
ทั้งนี้ บริการสุขภาพปฐมภูมิ คือ บริการสุขภาพด่านแรกของระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งมีบทบาทในการดูแลสุขภาพประชาชนในท้องถิ่นโดยเน้นการป้องกันไม่ให้ป่วย หากเจ็บป่วยจะได้รับการดูแลรักษาเบื้องต้น (และครอบคลุมในกรณีที่จำเป็นจะต้องส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลที่รักษาโรคซับซ้อนมากขึ้น) ทั้งนี้รวมถึงบริการฟื้นฟูสุขภาพด้วย
ตัวอย่างหน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น สถานีอนามัย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.), หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล, ศูนย์สุขภาพชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุข รวมถึง คลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นต้น
- 336 views