ทบทวนสถานการณ์ถ่ายโอน รพ.สต. ไปท้องถิ่น ปี 64 สู่แนวโน้มปี 65

ความพยายามในการถ่ายโอนโรงพยาบาลสุขภาพตำบล ถือว่าดำเนินไปอย่างล่าช้า จนมาเป็นรูปเป็นร่างเมื่อไม่นานมานี้ โดยราชกิจจานุเบกษา ประกาศหลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 19 ต.ค.64 ที่ผ่านมา

จนหลาย ๆ คนเกิดการตั้งคำถามและมีข้อสงสัยในหลายประเด็น อย่างเช่น ท้องถิ่นขนาดเล็ก อย่าง อบต. พร้อมแค่ไหนกับการดูแลประชาชนด้านสาธารณสุข? , ถ้าหากตัดสินใจถ่ายโอนไปแล้ว มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง ?

ทั้งนี้ สรุปล่าสุด มี อบจ. ทั่วประเทศส่งหนังสือมาขอรับการถ่ายโอน ทั้งหมด 49 อบจ. โดยผ่านการประเมินระดับดีเลิศ 45 อบจ. และอยู่ในระดับดีมาก 4 อบจ. และมีรพ.สต. ถ่ายโอนไปอบจ. ในรอบแรก 1 ต.ค. 2565 (ปีงบประมาณ 2566) รวม 3,384 แห่ง มีจำนวนข้าราชการที่ประสงค์ขอถ่ายโอน 12,037 คน จำนวนพนักงานกระทรวงสาธารณสุขและลูกจ้างขอถ่ายโอน 9,862 คน รวมบุคลากรประสงค์ถ่ายโอน 21,899 คน

หลังจากหลายคนยังคงติดตามสถานการณ์นี้อย่างต่อเนื่อง Hfocus ได้มีโอกาสสอบถามข้อมูล นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกี่ยวกับการดำเนินงานต่างๆ โดยให้ข้อมูลว่า เนื่องจากในแผนการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งในแผนที่ 1 ได้เขียนไว้ว่า ภารกิจถ่ายโอนรพ.สต. นั้น สธ.จะต้องถ่ายโอนภารกิจนี้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่เมื่อปี 2542 - 2551 ไม่มีการถ่ายโอนรพ.สต. แห่งใดเลย ดังนั้น ปี 2551 คณะกรรมการกระจายอำนาจฯ จึงได้ยกประเด็นนี้มาเร่งรัดให้มีการถ่ายโอน โดยมอบให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการ และเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาถ่ายโอนรพ.สต. ไปยัง อบจ. และเทศบาล

จากปี พ.ศ. 2551-2561 ผลปรากฏว่า ข้อมูลที่ทางคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ได้รับว่า รพ.สต. ถ่ายโอนไปยัง อบจ. และเทศบาล มีประมาณ 50 แห่งเท่านั้น จึงทำให้คณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ยกประเด็นนี้เข้าสู่อนุกรรมการฯ พิจารณาอีกครั้ง ว่าไปศึกษาดูว่าเกิดปัญหาหรืออุปสรรคอะไร ทำไมถึงมีการถ่ายโอนน้อย ทั้งที่ รพ.สต. ทั่วประเทศมีประมาณ 9,700 กว่าแห่ง ทำไมมีตัวเลขโอนไปแค่ 50 แห่ง

“ดังนั้นแล้ว คณะอนุบริหารแผนการกระจายอำนาจฯ จึงรับเรื่องนี้มาศึกษาข้อมูล และได้แต่งตั้งคณะทำงาน โดยให้ผม “นายเลอพงษ์ ลิ้มรัตน์”      เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ ในการยกร่าง วิธีการขั้นตอน รวมถึงเกณฑ์ชี้วัด ในการที่จะให้  รพ.สต. ถ่ายโอนไปยัง อบจ. สุดท้ายหลังจากคณะกรรมการฯ ได้ดำเนินงานแล้ว ได้สรุปเป็นรูปเล่มที่ชัดเจน จากการร่วมมือของคณะทำงาน  ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น กระทรวงสาธารณสุข องค์การส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่น  หรือผู้แทนจาก รพ.สต. รวมถึงนักวิชาการด้วย” นายเลอพงศ์ กล่าว

ส่วนจากที่เคยมีกรณี บุคลากรมีความคิดเห็นหรือเห็นต่างอย่างไรนั้น....

เรื่องนี้ นักข่าว Hfocus ยังได้มีโอกาสสอบถามข้อมูล “ริซกี สาร๊ะ” เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) โดยได้ใหข้อมูลว่า กรณีรพ.สต.หลายแห่งในบางจังหวัดที่ไม่สมัครใจถ่ายโอน และไม่ได้ส่งชื่อหรือใบสมัครแต่อย่างไร แต่กลับมีรายชื่อปรากฏที่ อบจ. และไปขอยกเลิกไม่ได้ จึงได้มีการแจ้งข้อมูลเข้ามาว่าต้องทำอย่างไรต่อไป ในเบื้องต้นแนวทางนี้สอดคล้องกับที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาชี้แจงว่า กรณีไม่สมัครใจในการถ่ายโอนภารกิจให้ส่งข้อมูลยืนยันว่าไม่ถ่ายโอนไปที่กระทรวงสาธารณสุขได้เลย

จากข้อมูลที่ร้องทุกข์มา พบว่า บางรพ สต. ได้รับข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ถูกต้อง หรือสื่อสารเกินจริง จากแกนนำรพ.สตในจังหวัด ที่กระตุ้น เร่งรัด โทรติดตามให้ทุกรพ.สต.ส่งชื่อถ่ายโอนโดยเร็ว เช่น มีการแจ้งว่าถ้าไม่ถ่ายโอนในปีนี้ปีหน้าก็ต้องไปทั้งหมด หรือมีข้อมูลว่าอบจ. สามารถชี้หรือเลือกได้ว่าจะเอา รพ.สต. ไหนก็ได้ และในบางพื้นที่ก็แจ้งว่าพรบ.กระจายอำนาจฯ บังคับให้ทุกที่ต้องไปทั้งหมด ถ้าไม่ไปอาจจะตกงานหรือต้องย้ายที่อยู่ใหม่ เป็นต้น

สำหรับตัวอย่างของการสื่อสารเกินจริง ของแกนนำรพ.สต ในบางจังหวัด ซึ่งจากข้อมูล แทบไม่น่าเชื่อ ว่าระดับแกนนำชมมรพ.สต.บางคน ในบางจังหวัดจะสื่อสารแบบนี้ เช่น " ตอนนี้รพ.สต.เป็นทรัพย์สินของอบจ.ไปแล้ว แม้จะไม่ได้สมัครใจ หรือส่งรายชื่อขอถ่ายโอนก็ตาม" "บางที่ ก็ถูกหลอกว่า ไม่สมัครปีนี้ ปีหน้าก็ต้องไปหมด เพราะอบจ.ชี้ได้ว่าจะเอารพ.สต.ไหน สมัครปีนี้ไปเลยดีกว่า" "บางจังหวัด แกนนำชมรมรพ.สต. ใช้วิธีรวบชื่อทุกรพ.สต. ส่งอบจ. แทน ผอ.รพ.สต.ที่ไม่สมัครใจถ่ายโอน"

ซึ่งตนถือว่า เป็นการกระทำทีเลวร้ายมาก ที่สื่อสารเชิงบังคับแบบนี้ ทำให้บางคนที่ไม่สมัครใจต้องยอมส่งชื่อถ่ายโอนไป ยิ่งคนที่ทำ เป็นหมออนามัยด้วยกันเอง ยิ่งไม่น่าทำแบบนี้เลย เมื่อเกิดปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขเองอาจจะต้องมีชุดข้อมูลสำหรับคนที่ไม่สมัครใจไป เพราะจากกระแสตอนนี้ กลายเป็นว่าคนที่สมัครใจไปหากต้องการถอนชื่อจะถอนได้แต่ตัว แต่ รพ.สต. ไปอยู่กับอบจ. แล้ว กลายเป็นว่าเจ้าตัวต้องไปหาที่ใหม่ ผมจึงมองว่าถ้าคนทั้งรพ.สต. ที่ไม่สมัครใจไปนั้นก็ควรจะกลับมาอยู่รพ.สต เดิมกับกระทรวงสาธารณสุขได้ เพราะกระบวนการถ่ายโอนยังไม่เกิดขึ้น

สำหรับกระบวนการดำเนินงานในขั้นตอนต่อไปจะเป็นอย่างไรบ้าง ?

เรื่องนี้ นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ กล่าวว่า หลังจากการจัดทำคำของบประมาณฯ ได้แล้วเสร็จนั้น ซึ่งตามปฏิทินงบประมาณจะต้องจัดทำให้แล้วเสร็จภายใน 14 มกราคม 2565 ทั้งนี้ช่วงระหว่าง เดือนมกราคม - 2 ตุลาคม 2565 จะต้องมีการสำรวจว่ามีทรัพย์สิน คุรุภัณฑ์ ฯลฯ ที่ สธ. ต้องมอบให้กับ อบจ. จากนั้นทำการบันทึกการส่งมอบทรัพย์สินก่อนวันที่ 2 ตุลาคม 2565

และสำหรับในรอบปีถัดไป ที่เหลือ อบจ. อยู่ประมาณ 27 แห่ง นั้นมีสิทธิ์ขอรับการถ่ายโอนในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งให้เริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม 2565 โดยอบจ. จะต้องส่งคำขอให้กับคณะอนุกรรมการกระจายอำนาจฯ อีกครั้ง ซึ่งเราได้ตั้งเป้าหมายว่า รพ.สต. ทั้งหมดประมาณ 9,700 แห่ง คาดว่าน่าจะมีการถ่ายโอนไปยัง อบจ. ทั้งหมดภายใน 3-5 ปี

อย่างไรก็ตาม หากมีความคลื่อนไหว รวมถึงกระบวนการการดำเนินงานเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร และจะเป็นไปตามแผนดำเนินงานหรือมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่นั้นคงต้องติดตามต่อไป

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org