กรมควบคุมโรคเผย กาฬสินธุ์ คลัสเตอร์ใหญ่เป็นซูเปอร์สเปรดเดร์ แพร่ไปหลายจังหวัดรวมติด "โอไมครอน" 248 ราย ชี้แหล่งกระจายเชื้อคือ ร้านอาหารที่ปรับจากบาร์เหล้า อากาศไม่ถ่ายเท ชี้เป็นอุทาหรณ์ให้ระวังตัว ยิ่งเทศกาลปีใหม่ยิ่งต้องระวัง ร้านไหนไม่มีมาตรการ ไม่ปลอดภัยก็อย่าอยู่ ให้ไปร้านที่ปลอดภัยแทน
เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงคลัสเตอร์โอไมครอนในประเทศไทย ว่า จํานวนผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่พบในประเทศ 2 ใน 3 เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ อีก 1 ส่วนเป็นผู้สัมผัส โดยวันนี้จะยกมา 2 คลัสเตอร์ที่ประชาชนให้ความสนใจ ได้แก่ คลัสเตอร์ จ.กาฬสินธุ์ ติดเชื้อใน 11 อำเภอ รวม 248 ราย ที่เป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์(Super spreader) แพร่ไปอุดรธานี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด หนองบัวลำภู สกลนคร ลำพูน อุบลราชธานี พิษณุโลก ลำปางและเพชรบูรณ์
"จากกรณีนี้เป็นผู้ป่วยเดินทางมาจากต่างประเทศ และเดินทางไปสถานบันเทิงที่จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งได้เดินทางไปหลายแห่ง แต่จุดที่เป็นปัญหาภายในร้าน เช่น Bar K(ชื่อสมมติ) เนื่องจาก ศบค.ยังไม่ให้เปิดผับบาร์คาราโอเกะ ทางร้านจึงปรับเป็นร้านอาหาร แต่วิธีจัดการระบบระบายอากาศยังเหมือนเดิม ฉะนั้น ความเสี่ยงลดลงไม่มาก" นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวว่า ยกตัวอย่างร้านที่ผู้ติดเชื้อเดินทางไปใน Bar S ที่ไม่พบผู้ติดเชื้อในร้านเลย แต่ Bar K เป็นจุดกระจายเชื้อไปแทบทั้งภาคอีสานและบางจังหวัดในภาคเหนือ ซึ่งจุดแตกต่างของ 2 ร้านนี้คือ Bar S มี 10 โต๊ะให้บริการลูกค้าสูงสุด 40 คน พนักงาน 9 คน โดยวันที่ผู้ติดเชื้อเดินทางไปมีลูกค้าเพียง 10% ใช้บริการเพียง 3 ชั่วโมง ซึ่งต่างจาก Bar K มี 15 โต๊ะให้บริการลูกค้าสูงสุด 80 คน แต่มีการเสริมโต๊ะ พนักงาน 9 คน นักดนตรี 6 คน ซึ่งลูกค้าในวันนั้นมีประมาณ 90% และอยู่กันนาน เนื่องจากมีดนตรี และสิ่งที่ตามมาคือการดื่มแอลกอฮอล์
ขณะที่ สิ่งแวดล้อม Bar S จัดอุปกรณ์ส่วนบุคคล ไม่มีกิจกรรมส่งเสริมการขายและให้ดื่มแอลกอฮอล์ได้ถึง 23:00 น. และวันนั้นไม่มีแสดงดนตรี ส่วน Bar K มีกิจกรรมส่งเสริมการขาย มีการนั่งดริ้งเชียร์แขกเชียร์ลูกค้า นั่งดื่มกันจนถึงเที่ยงคืน มีแสดงดนตรีสด ทำให้คนอยู่ในร้านนานขึ้นก็เพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น รวมถึงระบบระบายอากาศไม่ค่อยดีด้วย
"อีกประการคือพนักงานในร้าน Bar S ฉีดวัคซีนและตรวจ ATK ทุกคน ทุกสัปดาห์ เจ้าของกำกับเอง ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดี ส่วน Bar K ฉีดวัคซีนทุกคนแต่ไม่มีการตรวจ ATK และไม่มีการคัดกรองผ่าน Thai save Thai และลูกค้าเข้าไปถึง 90% ถือว่าไม่มีมาตรการ DMHTT พนักงานทานอาหารร่วมกัน ที่พักระบายอากาศไม่ดี และเวลาป่วยก็ไม่หยุดงาน ซึ่งนี่เป็นการสอบสวนเบื้องต้น อาจจะมีการคาดเคลื่อนแต่โดยหลักใหญ่ใจความก็ประมาณนี้ ว่า มีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม พนักงาน จนถึงลูกค้า ซึ่งอยากฝากเป็นอุทาหรณ์ปีใหม่ ว่าถ้าไปร้านไหนดูไม่ปลอดภัยก็อย่าอยู่ ให้ไปร้านที่ปลอดภัยจะดีกว่า" นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า อีกคลัสเตอร์นักศึกษามหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.64 พบผู้ติดเชื้อ 52 รายเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมีประวัติรับประทานอาหาร ดื่มสุราร่วมกันในร้านอาหารคล้ายผับร้าน A(ชื่อสมมติ) ในกทม. ระหว่างวันที่ 8-14 ธ.ค. ขอเสียงคล้ายกันกับคลัสเตอร์ข้างต้น คือ ห้องปรับอากาศถ่ายเทไม่ดี ซึ่งหลังจากเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้เก็บสิ่งส่งตรวจ พบเชื้อในเครื่องปรับอากาศ แสดงให้เห็นว่าเป็นอีกจุดหนึ่งที่มีความสำคัญ
"พบว่าหลายร้านไม่ได้ดำเนินการตามมาตรการ Covid-19 free setting อยู่กันค่อนข้างแออัด ระบบระบายอากาศไม่ดี จึงต้องยกตัวอย่างมาเป็นเครื่องเตือนใจให้ทุกคนระมัดระวัง" นพ.โอภาส กล่าว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 18 views