"หมอยง" แนะฉีดวัคซีนโควิดในเด็ก ใช้สูตรไขว้ "ซิโนแวค+ไฟเซอร์" ลดเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่ไทยยังไม่อนุญาตฉีดซิโนแวคในเด็ก พร้อมเผยผลศึกษาฉีด mRNA เข็มแรกผลข้างเคียงน้อย เข็มต่อมาเพิ่มขึ้น เสี่ยงต่อมน้ำเหลืองโต เผยข้อควรระวังในสตรีหลังฉีด อย่าทำแมมโมแกรมเป็นเวลา  1 เดือนอาจมาจากต่อมน้ำเหลือง ทำตรวจได้ผลผิดได้
 

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 28 ธ.ค.2564 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  บรรยายเกี่ยวกับการศึกษาวัคซีนป้องกันโควิดเข็ม 3 และการฉีดวัคซีนในเด็ก  ว่า   จากการศึกษาของทางศูนย์ฯ และองค์การอนามัยโลกได้มีการเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับการสลับผลศึกษาการสลับวัคซีนของทางศูนย์  อย่งไรก็ตาม การใช้สูตรสลับหากใช้ prime-boost  กรณีการใช้ซิโนแวค และตามด้วยวัคซีนชนิด mRNA   จะดีมากในกรณีที่เป็นเด็ก  เนื่องจากเราทราบแล้วว่า การฉีดวัคซีนmRNA เข็มที่ 2 จะมีอาการข้างเคียงมากกว่าเข็มแรก 

"ดังนั้น ในเด็กถ้าใช้ prime-boost  คือ ฉีดซิโนแวค และตามด้วย mRNA จะลดอาการข้างเคียงในเด็ก โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ ซึ่งข้อมูลนี้ได้เผยแพร่ใน medRXiv ก่อน โดยวารสารวัคซีนกำลังพิจารณา" ศ.นพ.ยงกล่าว 

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า มีคำถามว่าการฉีดกี่โดสจึงจะเพียงพอ จากการศึกษา 4 โดส พบว่า ซิโนแวค 2 โดส แอสตร้าฯ 1 และไฟเซอร์ 1 ภูมิฯ ก็ไม่ได้ขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบ 3 เข็ม โดยผลการศึกษาการห่างระหว่างเข็ม 3 และ 4 ที่อยู่ใกล้กันไม่ได้มีผลอะไรมาก ดังนั้น ใครจะฉีดโดส 4 และใกล้กับโดส 3 ถือว่าไม่จำเป็น จะเสี่ยงเกิดอาการข้างเคียงแทน

(ข่าวเกี่ยวข้อง : "หมอยง" เผย "โอไมครอน" ระบาดเร็วแทนที่เดลตา 1-2 เดือนจากนี้)

เมื่อถามว่าซิโนแวคกับไฟเซอร์ มีการศึกษาในเด็กอายุ 5-11 ปีแล้วหรือไม่ ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ข้อมูลของเราเป็นการศึกษาคนอายุประมาณ  20 ปี เหนือวัยรุ่นไปนิดหนึ่งประมาณ 60 คนที่ฉีดซิโนแวคและไฟเซอร์ โดยพบภูมิฯที่เกิดขึ้น เทียบเท่าไฟเซอร์ 2 เข็ม ซึ่งเป็นทางออกที่ดีของเด็กที่จะป้องกันไม่ให้ฉีด mRna 2 เข็ม เพราะmRNA เข็ม 2 ผลข้างเคียงจะมากกว่าเข็มแรก และเข็ม 3 มากกว่าเข็ม 2 โดยตอนนี้เริ่มมีการบอกว่า เสี่ยงเกิดต่อมน้ำเหลืองโตมากกว่า และในสตรีหลังฉีดไม่ควรทำแมมโมแกรมเป็นเวลา 1 เดือน เพราะอาจเกิดต่อมน้ำเหลือง และหากไปตรวจจะทำให้เข้าใจผิดได้ 

"ดังนั้น การศึกษาในเด็กยังไม่มี เพราะยังไม่ได้รับการอนุญาตให้ฉีดวิธีนี้ในเด็ก คือ ซิโนแวค  มีเพียงข้อมูลวัยรุ่นตอนปลาย ที่พบว่า ซิโนแวค+ไฟเซอร์ มีภูมิฯเท่ากับไฟเซอร์กับไฟเซอร์" ศ.นพ.ยง กล่าว

เมื่อถามว่าเพราะอะไรภูมิคุ้มกันจึงลงเร็ว ศ.นพ.ยง กล่าวว่า เป็นธรรมชาติ เพราะหากภูมิฯขึ้นสูงแล้วไม่ลง เราจะมีเลือดที่ข้นมาก อย่างไรก็ตาม โรคโควิด-19 เป็นโรคฟักตัวสั้นแค่ 2-3 วัน โอไมครอนเท่าที่เห็นก็ประมาณนี้ ดังนั้น เวลา 2-3 วันการระดมแอนติบอดีจะมาป้องกันย่อมไม่ทัน ไม่เหมือนไวรัสตับอักเสบเอ ใช้เวลา 4 สัปดาห์ระยะฟักตัว ไวรัสตับอักเสบบีใช้ระยะฟักตัว 1-6 เดือน   ดังนั้น หากเวลายิ่งนาน ภูมิคุ้มกันก็จะขึ้นทัน แต่เมื่อระยะเวลาฟักตัวสั้นจำเป็นต้องมีการกระตุ้น

เมื่อถามว่าขณะนี้สามารถบอกได้หรือยังว่า โควิดจะเป็นโรคหวัด ศ.นพ.ยง กล่าวว่า โรคอะไรก็แล้วแต่ ถ้าหากเสียชีวิตเกิน 1% จะบอกว่าไม่รุนแรงไม่ได้ แม้ของไทยจะไม่ถึง 1% โดยอยู่ที่ 0.9%  ซึ่งก็ยังบอกว่าไม่รุนแรงไม่ได้ และจำนวนผู้ป่วยยังมีอยู่ 

ภาพโดย x3 จาก Pixabay 

เมื่อถามว่า การกระตุ้นเข็ม 4 ควรทำเมื่อไหร่ หรือต้องฉีดกลุ่มเสี่ยงก่อน ศ.นพ.ยง กล่าวว่า เท่าที่ติดตามมาบอกได้ว่า ซิโนแวค ซิโนแวค บวกกับแอสตร้าฯ เข้าเดือนที่ 3 และเดือนที่ 4 ภูมิฯ เริ่มตก ซึ่งเดิมที ถ้าไม่มีโอไมครอนก็ควรกระตุ้น 6 เดือน แต่ตอนนี้โอไมครอนมา หากเรารอไปถึง 6 เดือน กลุ่มเสี่ยงบุคลากรการแพทย์หรือด่านหน้า หากรอไปถึง 6 เดือนติดแน่นอน ดังนั้น ใครก็ตามฉีดเข็ม 3 แล้วขอให้กลุ่มเสี่ยง คือ บุคลากรการแพทย์ และด่านหน้ามาฉีดเข็ม 4 ก่อน อย่างไรก็ตาม ส่วนคนที่ฉีดซิโนแวค ซิโนแวค และแอสตร้าฯ จะตามด้วยแอสตร้าฯเข็ม 4 หรือไม่ ตนมองว่าได้หมดทุกตัว ยกเว้นซิโนแวค เพราะกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ หรือไฟเซอร์ได้หมด แต่mRNA ได้ภูมิฯที่สูงกว่า

 "ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ทำมาสกัดสายพันธุ์โอไมครอน เพราะเพิ่งเกิดขึ้น และองค์การอนามัยโลกเพิ่มประกาศเป็นสายพันธุ์ต้องจับตามองเมื่อเดือน พ.ย. เพียง 1 เดือนจึงยังไม่มีออกมา" ศ.นพ.ยง กล่าว

เมื่อถามว่า ผู้สูงอายุฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ 2 เข็ม ควรกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ หรือ mRNA ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ผู้สูงอายุถือเป็นกลุ่มเสี่ยง บุคลากรทางการแพทย์ก็เป็นกลุ่มเสี่ยง จึงจำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้ออกคำแนะนำว่า หากกระตุ้นและต้องการภูมิสูงก็ให้เป็น mRNA แต่หลายคนกลัว และขอฉีดเป็นทริปเบิลเอ ซึ่งหากถามส่วนตัวก็ตอบว่า กระตุ้นได้เช่นกัน เพียงแต่ทริปเบิลเอภูมิคุ้มกันจะไม่สูงเท่า mRNA 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org