1. แนวโน้มเรื่องการระบาด
การระบาดของโรคโควิด-19 ยังมีอะไรให้เซอร์ไพรส์ได้อีกในช่วงปลายปี 2564 จากการเกิดขึ้นของโอไมครอน มันทำให้โลกประมาทไม่ได้หรือคาดหวังเร็วเกินไปว่าการระบาดใหญ่จะจบลงในปี 2564 หรือ 2565 (หรืออย่างน้อยหลังการเกิดขึ้นของเดลต้า) การคาดการณ์เรื่องการระบาดใหญ่จึงแตกต่างกันไปตามกรอบวิธีคิดและข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญ บริษัทยา และสื่อต่างๆ เพราะข้อมูลเกี่ยวกับโอไมครอนยังไม่เพียงพอ ตัวอย่างเช่น รัฐบาลสหราชอาณาจักรยังละล้าละลังที่จะใช้มาตรการที่เด็ดขาดในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เพราะยังไม่มีข้อมูลที่ฟันธงได้เรื่องโอมิครอน
ดังนั้น ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างการวิเคราะห์ของ McKinsey & Company บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการซึ่งให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการเชิงกลยุทธ์แก่องค์กร รัฐบาล และองค์กรอื่นๆ มีการปรับข้อมูลแนวโน้มการระบาด ยา และวัคซีนในปีหน้าตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมหลังการเกิดขึ้นของโอมิครอน ซึ่งต่างจากหน่วยงานอื่นๆ ที่ยังไม่กล้าตัดสินใจวิเคราะห์แนวโน้มของปี 2565 หรือวิเคราะห์แต่เนิ่นๆ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนก่อนการเกิดขึ้นของโอมิครอน (เช่น The Economist) ทำให้การวิเคราะห์เหล่านั้นเกือบจะเป็นโมฆะเลยก็ว่าได้
McKinsey & Company ได้ทำแบบจำลองคาดการณ์จากข้อมูลเรื่องโอไมครอนเท่าที่มีอยู่ในช่วงกลางเดือนธันวาคม โดยตั้งสมมติฐานว่าเมื่อเทียบกับเดลต้า โอมิครอนมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อมากกว่า แสดงการหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันมากกว่า และรุนแรงน้อยกว่าโดยเฉลี่ย ดังนั้น อัตราการรักษาตัวในโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกาอาจสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 6 เดือนข้างหน้า (นับจากธันวาคม 2564 - พฤษภาคม 2565)
จากสมติฐานนี้ ยังแยกย่อยสถานการณ์จำลองออกไปได้อีก 2 สถานการณ์ คือ "ในสถานการณ์ในแง่ร้าย" จำนวนการรักษาในโรงพยาบาลสูงสุดอาจเพิ่มขึ้นอย่างมากใน 6 เดือนข้างหน้ามากกว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (คือมิถุนายน - ธันวาคม 2564 ช่วงที่เดลต้าระบาดหนัก) ในขณะที่ "ในสถานการณ์ในแง่ดี" จำนวนผู้ติดเชื้่อในปีหน้าจะสูงขึ้น แต่ใกล้เคียงกับที่เห็นในครึ่งหลังในปี 2564
แม้จะมีการเกิดขึ้นของโอไมครอน McKinsey & Company ก็ยังชี้ว่าประเทศต่างๆ กำลังเปลี่ยนไปใช้การจัดการโควิด-19 ให้เป็นโรคประจำถิ่น (endemic disease) โดยระบุว่า "เมื่อเวลาผ่านไป โลกอาจเข้าสู่สถานะการป้องกันโรคในระยะยาว เช่นเดียวกับที่พบในไข้หวัดใหญ่ โดยให้วัคซีนกระตุ้นทุกปีหรือปีละสองครั้ง ในระยะสั้น การรณรงค์ฉีดวัคซีนกระตุ้นแบบเร่งรัดน่าจะเป็นหนึ่งในวิธีป้องกันที่ดีที่สุดต่อการระบาดของโรคที่เกิดจากเชื้อโอมิครอน"
ด้วยการระบาดที่ก้ำกึ่งระหว่างการเกิดขึ้นของเชื้อกลายพันธุ์ใหม่อย่างโอไมครอนและการใช้นโยบายเปลี่ยนผ่านโดยทำโควิด-19 ให้เป็นโรคประจำถิ่น จะทำให้สังคม (โดเยฉพาะประเทศตะวันตก) มีการถกเถียงกันกันมากขึ้นในเรื่องมาตรการจัดการกับการระบาด McKinsey & Company ชี้ว่าแม้กระทั่งก่อนการเกิดขึ้นของโอไมครอน ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาจนถึงเดือนธันวาคม มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องของการตอบสนองสาธารณะต่อโควิด-19 เช่น คำสั่งภาคบังคับให้ฉีดวัคซีน การใช้หนังสือเดินทางวัคซีน ข้อกำหนดในการตรวจเชื้อภาคบังคับ การถกเถียงกันเรื่องควรจะเลิกสวมหน้ากากได้หรือไม่ และข้อจำกัดในการชุมนุม
"สังคมต่างๆ กำลังพยายามหาฉันทามติใหม่ผ่านการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยที่บางแห่งยังคงรักษาข้อจำกัดด้านสาธารณสุขให้น้อยที่สุดเมื่อเผชิญกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น และบางองค์กรก็รื้อฟื้นสถานะมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น" (1)
2. การระบาดจะสิ้นสุดลงเมื่อใด?
แม้ว่าการระบาดของโอมิครอนจะเพิ่งเริ่มต้นขึ้นและจะทำให้สถานการณ์ช่วง 5 - 6 เดือนแรกของปี 2565 เสี่ยงที่จะมีการระบาดหนัก แต่เมื่อถึงปลายเดือนธันวาคม เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็กล่าวเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ว่า “ปี 2022 (พ.ศ. 2565) จะต้องเป็นจุดสิ้นสุดของการระบาดใหญ่ของ COVID-19” และกล่าวว่าเขาเชื่อว่าการระบาดใหญ่จะสิ้นสุดในปีหน้าเพราะในสถานการณ์ 2 ปีนี้ทำให้ “เรารู้จักไวรัสเป็นอย่างดีและเรามีเครื่องมือทั้งหมด [เพื่อต่อสู้กับมัน]” (2)
ถึงแม้เกเบรเยซุสจะเชื่อมั่นแบบนี้ เขายังมีข้อแม้ในความเชื่อของเขาด้วย เขากล่าวว่าการคาดการณ์ของ WHO แสดงให้เห็นว่าวัคซีนมีจำนวนควรเพียงพอสำหรับโครงการฉีดวัคซีนให้กับประชากรผู้ใหญ่ทั่วโลกทั้งหมด และเพื่อฉีดกระตุ้นให้ "ประชากรที่มีความเสี่ยงสูง" ภายในไตรมาสแรกของปี 2565 แต่
ปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไขคือ "การนำเครื่องมือทั้งหมดไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ" และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "การดูแลความเท่าเทียม" เขาเตือนว่า
“ถ้าเราไม่ฉีดวัคซีนไปทั่วโลก ผมไม่คิดว่าเราจะยุติการแพร่ระบาดนี้ได้”
เกเบรเยซุสพูดถึงเรื่อง "การดูแลความเท่าเทียม" นั่นคือความขัดแย้งระหว่างประเทศที่มีกำลังในการได้มาซึ่งวัคซีนจำนวนมากในการฉีดกระตุ้นให้ประชาชนผู้ใหญ่ทั้งหมด ไม่ใช่ "ประชากรที่มีความเสี่ยงสูง" อย่างที่เขากล่าว การฉีดกระตุ้นให้ประชากรผู้ใหญ่ทั้งหมด จะทำให้วัคซีนเข้าไม่ถึงประเทศที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบถ้วนหรือยังไม่ได้รับวัคซีนเลย ซึ่งคือประชากรในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องการกระจายวัคซีน
ในขณะที่กล่าว (แบบมีเงื่อนไข) ว่าการระบาดจะต้องสิ้นสุดในปี 2565 เกเบรเยซุสเตือนว่าประเทศที่มีศักยภาพให้ได้มาซึ่งวัคซีนจะต้องไม่เก็บวัคซีนไว้ที่ตัวเองเพื่อใช้ในจุดประสงค์ดังกล่าว เพราะ “โครงการฉีดกระตุ้นแบบครอบคลุมมีแนวโน้มที่จะยืดเวลาการแพร่ระบาดออกไป แทนที่จะยุติมัน โดยการเปลี่ยนเส้นทางอุปทาน (ของวัคซีน) ไปยังประเทศที่มีการฉีดวัคซีนในระดับสูงอยู่แล้ว ทำให้ไวรัสมีโอกาสแพร่กระจายและกลายพันธุ์มากขึ้น” พร้อมกับย้ำว่า “ไม่มีประเทศใดสามารถใช้การฉีดกระตุ้นเพื่อให้ตัวเองพ้นจากการแพร่ระบาดได้” (3) ซึ่งหมายความว่าแม้ประเทศหนึ่งจะใช้วิธีการฉีดกระตุ้นให้ประเทศตัวเอง แต่การกักตุนวัคซีนรไว้ที่ตัวเองโดยละเลยประเทศรายได้ต่ำ ก็เสี่ยงที่จะทำให้เกิดการกลายพันธุ์ขึ้นมาอีก
3. แนวโน้มวัคซีนและยา
ณ ช่วงปลายเดือนธันวาคม บางบริษัทผู้ผลิตยาและวัคซีนรวมถึงสถาบันต่างๆ เริ่มเปิดเผยผลารทดลอง ประสิทธิภาพวัคซีนที่มีอยู่เดิมกับเชื้อโอมิครอนแล้ว ซึ่งมีทั้งผลที่ออกมามาว่าใช้การได้แต่ต้องฉีดกระตุ้นและที่ใช้การกับโอมิครอนแทบไม่ได้แม้จะมีการฉีดกระตุ้น
อย่างไรก็ตาม มาเรีย ฟาน เคอร์คอฟ หัวหน้าฝ่ายทางเทคนิคโควิด-19ที่โครงการฉุกเฉินด้านสุขภาพของ WHO กล่าวว่า WHO ยังคงเฝ้าติดตามว่าโรคจากโอมิครอนนั้นรุนแรงเท่ากับสายพันธุ์ก่อนหน้าเช่นเดาต้าหรือไม่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ยังคง “ไม่แน่นอน” และในขณะที่บางบริษัทกำลังผลิตวัคซีนเพื่อรับมือกับโอมิครอน แต่ ไมค์ ไรอัน เจ้าหน้าที่ของ WHO เตือนว่าวัคซีนพัฒนาใหม่เหล่านี้อาจไม่ได้ผลกับสายพันธุ์อื่นๆ ที่กำลังหมุนเวียนอยู่ในโลก
ด้าน โสมยา สวามินาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ WHO กล่าวว่า ตามหลักการแล้ว บริษัทยาควรจะต้องรอให้ WHO ประกาศว่าควรเลือกเป้าหมายสายพันธุ์ใดว่าทำให้อาการรุนแรงที่สุดและติดต่อได้ง่ายที่สุด ซึ่งการวิจัยนี้ยังคงดำเนินอยู่ (3)
จากการรายงานของ Fierce Pharma บริษัทต่างๆ เผยว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีวัคซีนที่ปรับให้เหมาะสมกับโอมิครอนได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม แต่จากการประเมินของ Airfinity บริษัทข้อมูลจำเพาะด้านสาธารณสุขและเวชภัณฑ์ ประมาณการว่าจะใช้เวลาจนถึงเดือนกันยายนกว่าที่บริษัทอื่นๆ ที่มีวัคซีนใหม่ที่ดัดแปลงให้เข้ากับโอมิครอนจะได้รับการอนุมัติ
นอกจากนี้ หากจำเป็นต้องใช้วัคซีนที่ดัดแปลงให้เข้ากับโอมิครอน การผลิตวัคซีนจำเพาะเฉพาะโอมิครอนจะทำให้การผลิตวัคซีนโดยรวมช้าลง การคาดการณ์ปัจจุบันของ Airfinity เกี่ยวกับการผลิตวัคซีนทั่วโลกปี 2565 คือ 8,700 ล้านโดส แต่ถ้าจำเป็นต้องมีวัคซีนกระตุ้นตัวใหม่ ก็จะมีกำลังการผลิตได้เพียง 5,000 ล้านโดส และผู้ผลิตวัคซีนบางรายอาจจะต้องหายไปจากตลาด เพราะความต้องการวัคซีนของพวกเขาลดน้อยถอยลงไป นั่นหมายความว่าการพัฒนาวัคซีนสำหรับเชื้อใหม่ๆ ทำให้เป็นการคัดกรองศักยภาพด้านการผลิตวัคซีนบริษัทอื่นๆ ด้วยที่พัฒนาจุดนี้ไม่ทันหรือมีประสิทธิภาพที่รับกับเชื้อใหม่ๆ ไม่ได้
อีกพัฒนาการหนึ่งที่จะเห็นคือการพัฒนาวัคซีนที่ไม่ใช่การฉีด ตามความเห็นของราสมุส เบค ฮานเซน ซีอีโอของ Airfinity กล่าวว่าการใช้เข็มฉีดวัคซีนทำให้บางคนไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ดังนั้นจึงจะมีการพัฒนาวัคซีนฉีดพ่นผ่านช่องจมูก การรับประทานผ่านปาก หรือจะมีการฉีดวัคซีนโดยไม่ต้องใช้เข็ม
“เมื่อมองไปถึงปี 2565 เราสามารถคาดหวังนวัตกรรมที่สำคัญและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ดังที่เราได้เห็นในปี 2564” ฮานเซน กล่าว (4)
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องความต้องการวัคซีนจนผลิตไม่ทันด้วย ตัวอย่างเช่น Paxlovid ยาต้านไวรัสแบบกินของ Pfizer ซึ่งลดความเสี่ยงของการรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตได้ 89% ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะมีความต้องการยาตัวนี้สูง จนอาจประสบปัญหาด้านอุปทานในช่วงแรกๆ ที่ปล่อยออกสูงตลาด และ Fierce Pharma รายงานว่า ยาของ GlaxoSmithKline และ Vir Biotechnology นั้นเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดเมื่อจะใช้กับโอมิครอน แต่อุปทานกำลังตึงอย่างรวดเร็ว
ดร. มาร์ก ดายบุล ซีอีโอของบริษัท Enochian BioSciences และอาจารย์ประจำภาควิชาแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ และเป็นนักวิทยาภูมิคุ้มกันกล่าวในงาน Fortune CEO ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนว่า ยารักษาโรคที่พัฒนาโดย Pfizer และ Merck จะช่วยลดการรักษาตัวในโรงพยาบาล ตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาโดยบริษัทหลายแห่ง เช่น สเปรย์ฉีดจมูกที่ให้การป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการแพร่เชื้อ เขาคาดว่าจะมีผลิตภัณฑ์แบบนั้นในช่วง 1 ปีครึ่ง "หรือประมาณนั้น”
เขาบอกว่า “ดังนั้น ระยะยาวจะไม่เป็นไร แต่ปีครึ่งต่อไปอาจจะค่อนข้างยาก” เพราะในเดือนพฤศจิกายนเขาทำนายว่ามันจะมีการกลายพันธุ์ของไวรัสแน่ๆ ในเดือนพฤศจิกายนเขาบอกว่า "ผมหวังว่าครั้งนี้จะคิดผิด (เพราะเขาทำนายถูกมาตลอด) แต่ผมคิดว่าภายในเดือนมีนาคม เมษายน พฤษภาคม (ปี 2565) เราจะมีสายพันธุ์ที่ต้านทานวัคซีนได้อย่างสมบูรณ์" ปรากฎว่าหลังจากนั้นไม่นานเกิดการกลายพันธุ์ของโอมิครอนขึ้นมา คำถามก็คือมันเป็นสิ่งเดียวกับที่ดร. มาร์ก ดายบุลทำนายไว้หรือไม่? หรืออาจจะมีที่หนักกว่รออยู่ในปีหน้า?
ปัญหาคืออะไร? เขาชี้ว่าคืออัตราการฉีควัคซีนที่ต่ำ เหมือนกับที่ผู้อำนวยการ WHO ได้เตือนไว้เรื่องการกักตุนวัคซีนของประเทศพัฒนาแล้วจนทำให้ประเทศรายได้ต่ำมีวัคซีนไม่พอ ดร. มาร์ก ดายบุล กล่าวในทำนองเดียวกันว่า "ไม่มีทางเลยที่คุณจะมีอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำทั่วโลกในขณะที่ไวรัสเด้งไปเด้งมาระหว่างผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนและไม่ได้รับการฉีดวัคซีน"
"ผมเป็นนักวิทยาภูมิคุ้มกัน ความน่าจะเป็นที่เราเห็นสายพันธุ์ที่ดื้อต่อวัคซีนนั้นสูงมาก” (5)
อ้างอิง
1. Sarun Charumilind, Matt Craven, Jessica Lamb, Adam Sabow, Shubham Singhal, and Matt Wilson. "When will the COVID-19 pandemic end?" (December 15, 2021). McKinsey & Company.
2. Collis, Helen. "WHO forecasts coronavirus pandemic will end in 2022". (December 22, 2021). Politico.
3. Miao, Hannah. "WHO says Covid booster programs limit vaccine supply for poor countries, could prolong pandemic". (December 22, 2021). CNBC
4. Dunleavy, Kevin. "2022 forecast: With omicron extending the pandemic, how will biopharma respond to COVID?". (December 22, 2021). Fierce Pharma.
5. Reilly,Dan. "Georgetown medical professor and immunologist predicts there will be a fully vaccine-resistant COVID variant by the spring". (November 17, 2021). Fortune.
- 742 views