เปิดปัจจัยประเมินฉากทัศน์โควิดระบาดหลังปีใหม่ เพราะอะไรฉากทัศน์แย่สุด ไทยยังป่วยน้อยกว่าอังกฤษ 3 เท่า พร้อมทั้งยกเคสสามีภรรยากาฬสินธุ์ เป็นตัวอย่างกลับมาจากต่างประเทศ ขอให้เลี่ยงกิจกรรมสาธารณะ เหตุต้องตรวจเชื้อซ้ำ! พร้อมแจ้งกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และกทม. เข้มงวดอนุญาตเปิดร้านอาหาร เหตุหลายร้านเป็นผับบาร์ คาราโอเกะเดิม แต่ปรับเป็นร้านอาหารแค่ชื่อ ไม่ปรับระบบอากาศ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงกับลูกค้า
ตามที่กระทรวงสาธารณสุข เปิดแบบจำลองคาดการณ์โควิดระบาดหลังปีใหม่ ออกเป็น 3 ฉากทัศน์ โดยฉากทัศน์ที่ไม่มีมาตรการใดๆ และไม่ได้รับความร่วมมือจะมีผู้ป่วยพุ่งสูงวันละ 3 หมื่นราย และเสียชีวิตประมาณ 170 ราย แต่หากมีมาตรการ ได้รับความร่วมมือก็จะสามารถลดการติดเชื้อได้เหลือวันละประมาณ 1.6 หมื่นรายและผู้เสียชีวิตลดลงตามลำดับนั้น แต่มีคำถามว่า การพิจารณาฉากทัศน์ต่างๆ โดยเฉพาะฉากทัศน์ที่แย่ที่สุด เมื่อเทียบกับอังกฤษพบป่วยเป็นแสนราย แต่ไทยยังพบตัวเลขป่วยน้อยกว่า ซึ่งห่างกันถึง 3 เท่า เกิดคำถามว่า ไทยมีหลักการประเมินฉากทัศน์อย่างไรนั้น
(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.เปิดแบบจำลอง " 3 ฉากทัศน์" โควิดระบาด! หากไม่มีมาตรการ ไร้ความร่วมมือป่วยพุ่ง! )
เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า การประเมินฉากทัศน์นั้น เราจะมีข้อมูลใส่ไปในระบบและประเมินออกมาเป็นเส้นๆ ซึ่งดูหลายๆข้อมูล โดยสิ่งที่ประเทศไทยและอังกฤษเหมือนกันคือประมาณ 60-70 ล้านคน และหากดูเปอร์เซ็นต์ฉีดวัคซีนเข็ม 1 และ 2 ก็คล้ายกัน แต่สิ่งที่เราดีกว่าคือความร่วมมือของประชาชน โดยเริ่มมาฉีดวัคซีนมาก โดยเฉพาะเข็มที่ 3 เพราะอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าวัคซีนยี่ห้อไหน เมื่อผ่านไป 3 เดือนภูมิฯเริ่มตก ดังนั้น สิ่งที่เราต่างกันคือ การเร่งฉีดเข็ม 3
"ประกอบกับการป้องกันของประชาชน หรือ Universal Preventionจะเห็นว่าเมื่อไปสถานที่สาธารณะ หาคนไทยไม่ใส่หน้ากากอนามัยค่อนข้างยากมาก แต่อังกฤษเมื่อไปดูบอลที่สนามบอล แทบไม่สวมหน้ากากอนามัยเลย แต่ในเรื่อง Covid free setting ค่อนข้างเข้มข้นทั้งคู่ ขณะที่การตรวจชุดตรวจด้วย ATK เราตรวจค่อนข้างมาก พี่น้องประชาชนให้ความร่วมมือในการป้องกันควบคุมโรคเข้มข้นกว่าหลายๆประเทศที่ผ่านมา" นพ.โอภาส กล่าว
ต่อคำถามว่ากรณีสองสามีภรรยาที่กาฬสินธุ์มีการติดเชื้อ และไปร้านอาหารจนมีการแพร่เชื้อโอไมครอน กรณีนี้จะส่งผลต่อการผ่อนคลายสถานบันเทิงปีหน้าหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า กรณีนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีทำให้เห็นเหตุการณ์ เพราะเราประเมินแล้วว่า มาตรการ Test and Go เหมาะกับการติดเชื้อทั่วโลกมีน้อย เมื่อเข้าประเทศเราคนติดเชื้อก็จะน้อย แต่ขณะนี้เมื่อมีมาก ความเสี่ยงติดเชื้อก็จะมาก ดังนั้น ศบค.จึงมีมติให้ระงับมาตรการนี้ไปก่อน อย่างไรก็ตาม สำหรับสองสามีภรรยาที่พบ เราประเมินแล้วว่า เมื่อเข้ามาแล้วเขาไปทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงหลายอย่าง ทั้งการไปร่วมกิจกรรมที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัย อย่างการนั่งรับประทานอาหารในร้าน โดยเฉพาะร้านที่เป็นห้องแอร์ ที่ไม่มีอากาศถ่ายเทสะดวก เป็นห้องอับๆ
"ดังนั้น จึงต้องแจ้งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และกรุงเทพมหานคร ว่า ก่อนจะอนุญาตในการเปิดร้านอาหารต้องไปดูอย่างเคร่งครัด เพราะหลายร้านเป็นผับบาร์ คาราโอเกะเดิม ตอนนี้มีการปรับเป็นร้านอาหาร แต่ปรับแค่ชื่อ ส่วนระบบอากาศ ระบบต่างๆไม่มีปรับ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงกับลูกค้า" อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ที่สำคัญขอให้ประชาชนที่ไปใช้บริการขอให้ประเมินความเสี่ยงเองด้วย หากเห็นตรงไหนอากาศถ่ายเทไม่ดี และต้องไปนั่งกินอาหารเป็นชั่วโมงก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยง ตรงนี้จึงเป็นตัวอย่างเป็นบทเรียนให้คนอื่นๆด้วย ดังนั้น ท่านที่กลับจากต่างประเทศช่วง 7 วันแรกหากมีอาการต้องรีบไปตรวจ และขอให้เลี่ยงกิจกรรมคนหมู่มาก
ข่าวเกี่ยวข้อง :
- สธ.ประกาศเตือนภัย "ระดับ 3" จำกัดการรวมกลุ่ม เหตุสถานการณ์โอไมครอนแพร่เชื้อเร็ว
- สธ.จัดระบบการรักษาผู้ป่วยเด็ก "โอไมครอน" เตรียมชง ครม.ปรับค่าใช้จ่ายฮอสพิเทล
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 9 views