กรมการแพทย์เตรียม 1.1 แสนเตียงทั่วประเทศ รองรับผู้ป่วยโควิด "โอไมครอน" ระบาด พร้อมยา เวชภัณฑ์อีกเพียบ! รวมทั้งจัดระบบดูแลผู้ป่วยเด็ก กลุ่มอายุ 5-11 ปีที่ยังไม่ได้วัคซีน อาจป่วยเพิ่ม มีเตียงเฉพาะ รวมถึงจัดระบบ Home isolation(HI) เป็นตัวหลักการรักษา เหตุผู้ป่วยโอไมครอนอาการไม่รุนแรง แต่หากใครรักษา HI ไม่ได้ มี Community isolation รองรับ ขณะที่ สปสช. สบส. ปรับเกณฑ์ค่าใช้จ่าย Hospitel เสนอ ครม. 28 ธ.ค. นี้
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 27 ธ.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ข้อมูลเบื้องต้นสำหรับอาการผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ณ วันที่ 27 ธ.ค. 2564 ข้อมูลทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ ส่วนใหญ่ไม่แตกต่างจากอาการโควิด-19 มักเป็นการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ไอ เจ็บคอ ไอแห้ง บางรายพบอาการปอดอักเสบแต่ไม่มาก ซึ่งเกือบทุกประเทศรายงานตรงกันว่า โอไมครอนไม่รุนแรงกว่าเดลตาแน่ๆ หลายประเทศบอกว่าน้อยกว่าพอสมควร โดยในไทยเรายังไม่ได้ขึ้นทะเบียนยาตัวอื่นๆ มีบางตัวเพิ่งผ่าน อย.สหรัฐอเมริกา เราจึงใช้ฟาวิพิราเวียร์เป็นหลัก ซึ่งหากให้ยาเร็วภายใน 3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นและหายเป็นปกติ
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ข้อมูลผู้ติดเชื้อโอไมครอน 100 รายแรกที่พบในประเทศไทย เป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศ 99 รายและติดเชื้อในประเทศ 1 ราย เพศชาย 54 ราย หญิง 45 ราย อายุน้อยที่สุด 8 ปี อายุสูงสุด 77 ปี ทั้งนี้ พบว่าคนไข้ไม่มีอาการประมาณครึ่งหนึ่ง คิดเป็นสัดส่วนผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ 48% มีอาการ 41% และอีก 11% กำลังรวบรวมข้อมูล
"สังเกตว่า 100 รายแรก ครึ่งหนึ่งไม่มีอาการ ที่สำคัญไม่มีรายใดใส่ท่อช่วยหายใจ และไม่มีผู้เสียชีวิต แต่มีผู้ป่วยปอดอักเสบ 7 ราย โดยในจำนวนนี้ 5 รายปอดอักเสบน้อย และออกซิเจนไม่แย่ลง มี 2 รายปอดอักเสบ และออกซิเจนแย่ลงนิดหนึ่ง แต่ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ทั้งนี้ ทุกรายได้รับวัคซีนป้องกันมาแล้วอย่างน้อย 2 โดส จึงอยากย้ำประชาชนที่รับวัคซีนเข็ม 2 เกิน 3 เดือนแล้ว การฉีดกระตุ้นจะมีผลการป้องกันโอไมครอนได้ดีขึ้น" นพ.สมศักดิ์ กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนการเตรียมความพร้อมเรื่องเตียงรักษาผู้ป่วยนั้น มีการแบ่งระดับเตียงใหม่ตามความรุนแรงของโรค โดยเตียงระดับ 1 ไม่ใช้ออกซิเจน ส่วนเตียงระดับ 2 แบ่งเป็นระดับ 2.1 ใช้ออกซิเจนระดับน้อยๆ หรือ oxygen low flow และระดับ 2.2 ใช้ออกซิเจนระดับสูง หรือ oxygen high flow ซึ่งกลุ่มนี้จะมีปอดอักเสบค่อนข้างมาก และค่าออกซิเจนแย่ลง ส่วนเตียงระดับ 3 ใส่ท่อร่วมกับเครื่องช่วยหายใจได้ นอกจากนี้ ยังให้คำนิยามเตียงระดับ 0 คือ Home isolation และ Community isolation
สำหรับเตียงใน รพ. ทั่วประเทศมีประมาณกว่าแสนเตียง โดยเตียงเฉพาะเป็นปอดอักเสบรุนแรง หรือระดับ 2.2 oxygen high flow กับเตียงระดับ 3 โดยพบว่าเตียงทั่วประเทศมี 11,000 เตียง จึงนำมาพิจารณาว่าจะรับคนไข้โอไมครอนได้แค่ไหน ซึ่งประมาณการณ์ว่า ผู้ติดเชื้อโอไมครองมีอาการรุนแรง นอนรพ.14 วัน มีเตียงรองรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงได้ 785 คนต่อวัน เมื่อทอนกลับมาเป็นผู้ป่วยทั้งหมด เตียงทั่วประเทศจะสามารถรับผู้ป่วยได้ถึง 52,300 คนต่อวัน อันนี้ยังไม่รวมกรณี Home isolation ที่สามารถรับได้อีกหลายหมื่นคน
"หากเป็นกรณีฉากทัศน์แย่ที่สุด ถูกประมาณการณ์ว่า จะมีผู้ป่วย 3 หมื่นกว่าคน ดังนั้น เตียงที่มีการประมาณไว้ยังรับได้ และเตียงยังเพิ่มได้อีก" นพ.สมศักดิ์ กล่าว
(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.เปิดแบบจำลอง " 3 ฉากทัศน์" โควิดระบาด! หากไม่มีมาตรการ ไร้ความร่วมมือป่วยพุ่ง! )
ส่วนกรณีกทม.และปริมณฑล มีการประมาณเตียงรองรับผู้ติดเชื้อที่รุนแรงรวม 1,760 เตียง ประมาณการณ์ว่า ผู้ติดเชื้อโอไมครองมีอาการรุนแรง นอนรพ.14 วัน มีเตียงรองรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงในกทม.และปริมณฑลได้ 125 คนต่อวัน เมื่อทอนกลับมาเป็นผู้ป่วยทั้งหมดไม่ว่าจะสายพันธุ์อะไร มีเตียงรองรับได้ 8,300 คนต่อวัน ซึ่งกลุ่มนี้คาดการณ์มีอาการรุนแรง 1.5% หรือ 100 กว่าคนต่อวัน จำนวนเตียงจึงพอไหว อีกทั้ง ยังมีกลุ่มอาการน้อยหรือไม่มีอาการ จะไปอยู่ในกลุ่ม Home isolation(HI) และ Community isolation(CI)
"สำหรับ Home isolation จะเป็นคำตอบของผู้ป่วยโอไมครอนที่อาจแพร่ระบาดใน 1-2 เดือนข้างหน้า เพราะครึ่งหนึ่งไม่มีอาการเลย โดยขณะนี้เราได้ทำ Home isolation คุณภาพ จากของเดิม สปสช. ระบุว่า หากตรวจ ATK ด้วยตัวเองและพบผลบวก เมื่อโทรไป 1330 เป็นบวกภายใน 24 ชั่วโมงจะโทรกลับ แต่ตอนนี้เราจะขอให้สถานพยาบาลที่เข้าโครงการให้ติดต่อกลับภายใน 6 ชั่วโมง ซึ่งจะเร็วขึ้น รวมทั้งยังมีการเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ต่างๆ ยา รวมถึงอาหาร ได้พูดคุยกับภาคเอกชน ที่จะจัดส่งแล้ว" นพ.สมศักดิ์ กล่าว
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวอีกว่า ส่วน Community isolation ที่ภาครัฐจัดไว้สำหรับดูแลรักษาผู้ป่วยในชุมชน ต้องขอขอบคุณกรุงเทพมหานคร ซึ่งต่างจังหวัด ทางนพ.สสจ.ได้เตรียมแล้ว โดยผู้ว่าฯ กทม.ให้เตรียมไว้ทุกเขต โดยมีเตียงสำหรับผู้ป่วยที่อยู่ HI ไม่ได้อีกประมาณหมื่นเตียง รวมทั้งเตรียมพร้อมเตียงสำหรับเด็ก เพราะเด็กอายุ 5-11 ปียังไม่ฉีดวัคซีนอาจมีการติดเชื้อและแพร่ระบาดได้ และจะมีแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโควิดที่ปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างมากนัก โดยยา ทั้งฟาวิพิราเวียร์ ยาแพกซ์โลวิด น่าจะเข้ามาอย่างเร็วก.พ. เพราะต้องรอ อย.ขึ้นทะเบียนด้วย
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้กรมฯ ได้สั่งการให้สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติฯ หรือ รพ.เด็กประสานงานกับโรงเรียนแพทย์ เอกชน ทางกทม. กลาโหม ตำรวจ ให้เตรียมการเรื่องเตียงเด็ก และจากที่เด็กทานยาเม็ดฟาวิพิราเวียร์ไม่ได้ เราจึงทำแนวทางการเตรียมยาน้ำของฟาวิพิราเวียร์ จัดทำเป็นคลิปให้ทุกรพ.เตรียมการ เพราะเราคิดว่าผู้ป่วยเด็กอาจมากขึ้นพอสมควร รวมทั้งได้มีเฟซบุ๊กไลฟ์ในบุคลากรสาธารณสุขให้มีการทำ HI และ CI สำหรับเด็ก รวมถึง Mask สำหรับผู้ป่วยเด็กเฉพาะ ส่วน CI สำหรับผู้ป่วยเด็กที่ต้องมีผู้ปกครองดูแล อย่างของกทม. จะมีอย่างน้อยโซนละ 1 แห่ง และจัดระบบส่งต่อ รพ.เมื่อมีอาการรุนแรง และจัดเตรียมเตียงระดับ 3 สำหรับผู้ป่วยเด็กที่อาการรุนแรง
"ท่าน ปลัดสธ. สั่งการในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยจะใช้มาตรการ HI เป็นหลัก เพราะใช้ได้จริง ผู้ป่วยที่อยู่ HI ไม่ได้ ให้ใช้ระบบ CI และขณะนี้เรามีการอัปเดตแนวโน้มการครองเตียงระดับ 2 และ 3 ทุกสัปดาห์ หากเกิน 60-70% เราจะหาทางขยายเตียงต่อไป รวมไปถึงสปสช. และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) จะมีการปรับเกณฑ์ค่าใช้จ่าย Hospitel คาดว่าจะเสนอ ครม.พรุ่งนี้(28 ธ.ค.) และในกลุ่มแรงงานต่างด้าวได้เน้นย้ำ สสจ. รวมทั้งกทม.ให้เตรียมในส่วน Factory Isolation เพื่อแบ่งเบาภาระการใช้เตียงในรพ." อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว
(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.ประกาศเตือนภัย "ระดับ 3" จำกัดการรวมกลุ่ม เหตุสถานการณ์โอไมครอนแพร่เชื้อเร็ว )
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงความเสี่ยงในเด็กกลุ่มอายุ 5-11 ปีในต่างประเทศมีการติดโควิดสูง และเข้ารับรักษา ในไทยจะปรับมาตรการดูแลอย่างไร ว่า ขณะนี้มีวัคซีนจากไฟเซอร์ ซึ่งอย. ได้อนุญาตให้ฉีดได้ในเด็กอายุ 5-11 ปี ซึ่งคณะอนุกรรมการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคของไทยได้ให้คำแนะนำการฉีดวัคซีนในเด็กแล้ว และเข้าที่ประชุมอีโอซีแล้ว โดยเด็กกลุ่มนี้จะเป็นเด็กประถมศึกษาและอนุบาล ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ทำคล้ายตอนฉีดให้เด็กระดับมัธยมที่ผ่านมา
"จากการประเมินในกลุ่มที่ต้องรับวัคซีนมีประมาณ 5 ล้านคนแต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามความสมัครใจ ดังนั้น การฉีดจะอยู่ 2 จุดคือ โรงเรียนเป็นหลัก หรือโรงพยาบาลกรณีเด็กป่วยไปโรงเรียนไม่ได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการสอบถามความสมัครใจของผู้ปกครอง หรือผู้ปกครองแสดงความประสงค์เข้ามา ทั้งนี้ แม้เด็กจะมีความเสี่ยงติดเชื้อ แต่โดยทั่วไปอาการจะไม่มาก แต่การฉีดวัคซีนในเด็กเป็นมาตรการสำคัญในการควบคุมโรค ซึ่งรัฐบาลมีการเตรียมการให้แล้ว แต่ต้องสอบถามความสมัครใจ ซึ่งหลังปีใหม่จะเริ่มฉีดได้" อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 197 views