งานวิจัยสะท้อน “บุคลากรห้องฉุกเฉิน” ในสถานการณ์โควิด-19 เครียดสะสม ส่งผลคุณภาพชีวิตแย่ ความเป็นมืออาชีพลดลงเสนอเร่งแก้ด้วยมาตรการระยะสั้น-ยาว
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ได้สร้างผลกระทบอย่างหนักหน่วงต่อบุคลากรทางการแพทย์ “ด่านหน้า” ทั้งด้านปริมาณภารกิจของการทำหน้าที่รักษาเยียวยาผู้ป่วยจากไวรัสโควิด-19 รวมทั้งผู้ป่วยโรคอื่นๆ ในขณะที่บุคลากรเหล่านี้ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงของการติดเชื้อร่วมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ในห้องฉุกเฉินของทั้งโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน ที่ต้องเร่งทำงานแข่งกับเวลาซึ่งหมายถึงการเร่งยื้อชีวิตช่วยเหลือผู้ป่วยให้ทันท่วงที ที่ความเสี่ยงของการรับเชื้อโควิด-19 มีอยู่รายรอบทุกขณะของการปฏิบัติหน้าที่ที่อาจหลีกเลี่ยงได้
จากข้อมูลทางวิชาการ พบว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นับจากเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2564 มีจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลทั่วประเทศ 1,600,918 ราย และยังมีจำนวนเหตุที่ได้รับแจ้งมากถึง 1,555,258 เหตุ รวมแล้วบุคลากรแพทย์ในห้องฉุกเฉิน ได้ปฏิบัติการกู้ชีพ 1,586,971 ปฏิบัติการด้วยกัน1
เพราะความกังวลที่ว่า ไม่ใช่แค่ตัวเองที่จะต้องเสี่ยงรับเชื้อ แต่มันหมายถึงการที่ต้องหยุดพักงาน และทำให้ต้องสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ที่คือผู้ดูแลรักษาชีวิตผู้ป่วยอีกหลายต่อหลายคน ในช่วงเวลาหนึ่งไปด้วย
นักวิจัยเครือข่ายสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ดร.พัชร์วลีย์ นวลละออง และนายแพทย์ภคพล เอี่ยมไพบูลย์พันธ์ ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง "การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตแพทย์และพยาบาลห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในเขตพื้นที่ EEC" ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก สวรส. ได้นำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นต่อ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และนายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และได้ตอบคำถามข้อกังวลต่างๆ ของบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้ามาร่วมรับฟังผลการศึกษา ซึ่งทำให้เห็นภาพความต้องการ และข้อกังวลสำคัญของแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ห้องฉุกเฉินของทั้งโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนได้ชัดเจนขึ้น
การนำเสนอครั้งนี้มีประเด็นสำคัญ ที่พบว่า การทำงานของแพทย์และพยาบาลห้องฉุกเฉินส่งผลทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวลและซึมเศร้า ส่งผลไปถึงการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพลดลง
ทีมนักวิจัยได้เสนอ มาตรการจัดการแบ่งเป็น มาตรการระยะสั้น และระยะยาว ดังนี้
มาตรการระยะสั้น ได้แก่ การจัดตารางเวรให้เหมาะสมกับงาน หากมีข้อจำกัดเรื่องอัตรากำลังจะทำให้มีปริมาณงานที่หนักที่ส่งผลต่อความเครียดสะสม เน้นการเสริมแรงทางบวก โดยการสื่อสารให้ทราบถึงความจำเป็นและขอความร่วมมือให้ร่วมแรงร่วมใจ จัดหาอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย (PPE) เพียงพอและมีคุณภาพ รวมทั้งองค์กรมีการกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกันเมื่อเกิดวิกฤต สร้างระบบการทำงานที่ปลอดภัยตั้งแต่ก่อนรับผู้ป่วย ระหว่างรับ และรับผู้ป่วยเพื่อรักษา เพื่อลดความกังวลใจทุกครั้งของการปฏิบัติหน้าที่
มาตรการระยะยาว ได้แก่ นโยบายการบริหารอัตรากำลังและการวางแผนอัตรากำลังที่เหมาะสมทันต่อสถานการณ์ มีการพยากรณ์อัตรากำลังตามอุปสงค์โดยใช้หลักการบริหารคาดการณ์ รวมไปถึงการสร้างความภาคภูมิใจในตนเองโดยทีมสามารถจัดการแก้ไขปัญหาหน้างานได้ลุล่วง องค์กรมีความเป็นธรรมในการพิจารณาให้ผลตอบแทนหรือรางวัล สิ่งที่สำคัญอย่างมาก คือ องค์กรต้องมีแผนในการบริหารจัดการอุปกรณ์ป้องกันเชื้อที่มีคุณภาพ นโยบายการบริหาร และการสนับสนุนขวัญและกำลังใจ นำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการและการสื่อสารเชิงบวก ให้ความรู้เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับโรคระบาดเพื่อสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับปัญหาผู้ป่วยติดเชื้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่ดำเนินการได้ไม่ยาก เป็นต้น
ข้อมูลจาการศึกษาครั้งนี้ จะต้องถูกสังเคราะห์ออกมาเป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตแพทย์และพยาบาล ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลสามารถปรับใช้ให้สอดคล้องกับนโยบายและวัฒนธรรมองค์กร
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด -19 เราได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง กระทั่งมีผู้วิจัยได้สนใจการทำวิจัยเรื่องภาวะการหมดไฟของบุคลากรทางการแพทย์ในห้องฉุกเฉิน ซึ่งต้องยอมรับว่า แต่เดิมคนที่เครียดมากในช่วงแรกของการแพร่ระบาดคือประชาชน แต่หลังจากนั้นคนที่เครียดมากกว่าคือบุคลากรทางการแพทย์ และพบว่ามีการฆ่าตัวตายในบางกรณีด้วย
ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกับภาวะความเครียดของบุคลากรทางการแพทย์ และงานวิจัยชิ้นนี้นับว่ามีประโยชน์อย่างมากต่อบุคลากร อีกทั้งในช่วงโควิด-19 ระบาด เราควรมีการรวบรวมงานวิจัยเรื่องนี้ ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากต่อระบบสาธารณสุขของประเทศไทย
ดร.สาธิต กล่าวอีกว่า สวรส.เป็นหน่วยงานมหาชนที่อยู่ในกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้สนับสนุนงานวิจัยที่ช่วยให้ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยดียิ่งขึ้น และงานวิจัยชิ้นนี้นับได้ว่าเป็นงานที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม ขอให้งานวิจัยนี้มีคุณภาพ และขอเป็นกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของห้องฉุกเฉิน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญตลอดมา และหวังว่างานวิจัยชิ้นนี้จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อบุคลากรทางการแพทย์ของเราต่อไปในอนาคต
หลังรับฟังการนำเสนอความคืบหน้าของการวิจัย นายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวเสริมว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นมหาวิกฤติทางสาธารณสุขระดับโลก ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก และตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น เนื่องด้วยว่าการติดเชื้อของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล บุคลากรการแพทย์ไม่เพียงพอ
ขณะเดียวกันผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าทั้งแพทย์และพยาบาลในห้องฉุกเฉิน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการสัมผัสกับเชื้อโรคได้ง่าย ทั้งขั้นตอนกระบวนการทำงานที่สลับซับซ้อนเพิ่มขึ้น ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน เกิดภาวะความบีบคั้นทางใจ เกิดความเครียด เหนื่อยล้า ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จึงมีความจำเป็นต้องสร้างมาตรการเฉพาะเจาะจงเพื่อป้องกันคุ้มครองแพทย์และพยาบาลห้องฉุกเฉินให้เกิดความมั่นใจ โดยให้มีแผนการผลิตบุคลากรที่เพียงพอ พร้อมกับพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีกว่าเดิม เพื่อให้ผู้ป่วยหรือผู้รับบริการมีความมั่นใจในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ
"สวรส.ได้พัฒนางานวิจัยที่สำคัญๆ ในเชิงคลินิกที่เกี่ยวกับเรื่องของโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผลิตยารักษา วัคซีน เรื่องของการใช้พลาสมา จนไปถึงการเข้าถึงระบบบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไปกับงานวิจัยเชิงคลินิกนั้น ก็คือการไม่มองข้ามปัญหาและอุปสรรคของบุคลากรด่านหน้าที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ เพื่อค้นหาปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตแพทย์และพยาบาลห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในเขตพื้นที่ EEC ตลอดจนพื้นที่อื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทีมนักวิจัยกำลังดำเนินการ โดยจะได้นำไปสู่ข้อเสนอ แนวทางหรือรูปแบบที่จะสามารถนำไปปฏิบัติและพัฒนาระบบสุขภาพในภาพรวมได้ต่อไป" นายแพทย์นพพร กล่าว
- 362 views