สปสช.-50(5) ภาคีเครือข่ายสุขภาพ ร่วมจัดบริการค้นหาหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่ เพื่อลดอัตราการคลอดก่อนกำหนด หลังพบปัญหาสุขภาพแม่และเด็ก มีอัตราการฝากครรภ์ตามเกณฑ์ต่ำในหญิงตั้งครรภ์อายุน้อย ให้เกิดการดูแลสุขภาพอนามัยแม่และเด็กในพื้นที่ โดยภาคประชาชนมีส่วนร่วมดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคร่วมกับเครือข่ายบริการสุขภาพในพื้นที่
วันที่ 23 ธันวาคม 2564 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. นพ.สมยศ ศรีจารนัย สาธารณสุขนิเทศเขตสุขภาพที่ 4 นพ.ยุทธนา วรรณโพธิ์กลาง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางอุดมลักษณ์ สำเภาพันธุ์ รอง ผอ.สปสช.เขต 4 สระบุรี ลงพื้นที่ หน่วย 50(5) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสปสช.เขต 4 สระบุรี ร่วมกับเขตสุขภาพที่ 4 กระทรวงสาธารณสุข จัดทำ “โครงการบริการค้นหาและติดตามเยี่ยมบ้านหญิงตั้งครรภ์ และบริการคัดกรองผู้สูงอายุร่วมจัดกระบวนการส่งเสริมสุขภาพในผู้สูงอายุที่มีภาวะถดถอยร่วมกับหน่วยบริการในพื้นที่ โดย นางสาวชลดา บุญเกษม ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นหน่วย50(5) และเครือข่ายภาคประชาชนร่วมดำเนินการจัดบริการ
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบอร์ด สปสช. ได้มีมติอนุมัติหลักเกณฑ์การจ่ายค่าใช้จ่ายบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P area based) ที่เป็นปัญหาพื้นที่ระดับเขต/จังหวัด จำนวนไม่เกิน 4 บาทต่อคน เป็นการจ่ายตามแผนงาน/โครงการบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ต้องการเร่งรัดการเข้าถึงบริการตามนโยบาย หรือแก้ไขปัญหาพื้นที่ระดับเขต/จังหวัด ตามความจำเป็นทางสุขภาพ ภายใต้ประเภทและขอบเขตบริการฯ ซึ่งการจัดบริการให้คำนึงถึงการเข้าถึงบริการของประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพต่างๆ ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการตามหลักเกณฑ์ ที่สปสช.กำหนด ซึ่งปีงบประมาณ 2565 บอร์ด สปสช.ได้อนุมัติงบประมาณดังกล่าว จำนวนเงิน 263,636,612 บาท จากจำนวนประชากรไทยทุกสิทธิ 65,909,153 คน
ขณะที่ปัญหาสุขภาพในแต่ละพื้นที่ก็มีความหลากหลาย โดยเฉพาะพื้นที่เขต 4 สระบุรี ที่เป็นทั้งเขตปริมณฑลและชนบท เป็นพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมค่อนข้างหนาแน่น จากข้อมูลปัญหาสุขภาพของเขตสุขภาพที่ 4 พบว่า ร้อยละหญิงตั้งครรภ์ฝากครรภ์ครั้งแรก น้อยกว่า 12 สัปดาห์ ในระดับเขตดำเนินการได้ ร้อยละ 65.8 ซึ่งต่ำกว่าค่าเป้าหมายของการฝากครรภ์ภาพรวมประเทศที่ตั้งเป้าหมายไว้ ร้อยละ 82.8 เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดบริการของเครือข่ายประชาชนในการส่งเสริมสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก เพื่อลดอัตราการคลอดก่อนกำหนด สปสช.เขต 4 สระบุรี ได้ร่วมกับเขตสุขภาพที่ 4 กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายภาคประชาชน หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอิสระ 50(5) โดยศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น (กปท.) เทศบาลตำบลเจ้าเจ็ด และศูนย์อนามัยที่ 4 จัดโครงการบริการค้นหาและติดตามเยี่ยมบ้านหญิงตั้งครรภ์
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี กล่าวต่อว่า บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) เป็นสิทธิประโยชน์เดียวในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่จัดให้กับประชาชนไทยทุกสิทธิ เป็นบริการสาธารณสุขที่ให้โดยตรงแก่บุคคลครอบครัวหรือกลุ่มบุคคล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ อัตราป่วย/อัตราตายที่เป็นภาระโรคของประเทศและส่งเสริมสุขภาพแม่และเด็ก บรรลุเป้าประสงค์ที่ต้องการให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือน ซึ่งมีขอบเขตบริการได้แก่ 1. การตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาภาวะเสี่ยงต่อการเสียสุขภาพและศักยภาพที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างเสริมสุขภาพ 2. การสร้างเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การให้คำปรึกษาแนะนำ การให้ความรู้และการสาธิตเพื่อสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 3. การสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน การใช้ยา และการทำหัตถการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ทั้งนี้โครงการฯดังกล่าวในพื้นที่เขต 4 สระบุรี ถือว่าเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดบริการด้านสุขภาพของภาคประชาชน เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของในระบบหลักประกันสุขภาพร่วมกันอย่างแท้จริง
นางสาวชลดา บุญเกษม ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า คณะทำงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เขต 4 ซึ่งมี นพ.สมยศ ศรีจารนัย สาธารณสุขนิเทศเขตสุขภาพที่ 4 เป็นประธานคณะทำงานฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญปัญหาสุขภาพของพื้นที่โดยเฉพาะการลดความเสี่ยงต่อแม่และเด็กในครรภ์ จึงได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการค้นหาและติดตามเยี่ยมบ้านหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการองค์ความรู้จากศูนย์อนามัยที่ 4 อบรมให้กับภาคประชาชนที่อาสาเป็นผู้ดูแลในพื้นที่ เพื่อทำการค้นหาหญิงตั้งครรภ์ เป้าหมายเพื่อให้หญิงครรภ์ในพื้นที่เข้าสู่ระบบการดูแล การฝากครรภ์ครบตามเกณฑ์ การคลอดได้ตามกำหนด ตลอดจนการดูแลสุขภาพแม่และเด็กหลังคลอด
ด้านนางสาวรัชรินทร์ กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่หน่วยงานรัฐเข้ามาดูแลและช่วยเหลือรวมทั้งให้ตนได้เข้าร่วมโครงการฯ ให้ความรู้ทุกๆด้านเกี่ยวกับเรื่องฝากครรภ์ และยังเป็นท้องแรกของตน ช่วงสัปดาห์แรกๆรู้ว่าท้องกิน ไข่ ดื่มนมไม่ได้เลยเพราะแพ้มาก แต่ผู้ดูแล จะเข้ามาดูแลให้ความรู้ว่าหากกินไข่ นมไม่ได้ก็ให้ทานน้ำเต้าหู้แทนหรือเต้าหู้กับข้าวเพื่อจะได้รับสารโปรตีนครบถ้วน รวมทั้งตนมีภาวะมดลูกต่ำ เสี่ยงต่อการแท้ง ผู้ดูแลจะให้คำแนะนำว่าถ้ามีเลือดไหลให้รีบไปหาหมอทันที
- 236 views