สปสช.ดูแลคุณภาพชีวิต “เด็กไทย” มอบสิทธิประโยชน์ “บริการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ” โดยร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดระบบเข้าถึงบริการตรวจสายตา เน้นคัดกรองกลุ่มเด็กนักเรียนชั้น ป.1 ทั่วประเทศ และนักเรียนชั้นอื่นที่สงสัยมีปัญหาสายตาผิดปกติ มอบแว่นตาเพื่อแก้ไขปัญหาสายตา พร้อมร่วมมอบเป็นของขวัญ “วันเด็กแห่งชาติ” รณรงค์ทุกฝ่าย ร่วมเร่งตรวจคัดกรองสายตาเด็กไทย
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การมองเห็นที่ชัดเจนของสายตาเป็นส่วนสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กๆ เพราะเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ แต่มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาสายตาบกพร่องและส่วนหนึ่งไม่ได้รับการแก้ไข จากการศึกษาของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) การคัดกรองเด็กนักเรียนอนุบาลและประถมศึกษาพบว่ามีความผิดปกติร้อยละ 11.4 และวินิจฉัยยืนยันมีภาวะสายตาผิดปกติถึงร้อยละ 6.6 โดยมีประมาณร้อยละ 4.1 จำเป็นต้องใช้แว่นตา แต่มีเด็กส่วนหนึ่งไม่มีแว่นตาใช้จนเป็นอุปสรรคต่อการเรียนและดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพประชากรประเทศในอนาคตได้
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตระหนักต่อปัญหาดังกล่าว ภายใต้สิทธิประโยขน์สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ให้เด็กไทยอายุ 3-12 ปีมีสิทธิได้รับการตรวจคัดกรองสายตา หากจักษุแพทย์ตรวจยืนยันมีภาวะสายตาผิดปกติจะได้รับการแก้ไข สปสช.จึงได้กำหนดเพิ่มเติมให้ “บริการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ” เป็นสิทธิประโยชน์ที่ชัดเจนในปี 2564 พร้อมเดินหน้าสนับสนุนค่าแว่นตาในปีงบประมาณ 2565 ให้หน่วยบริการที่ตรวจวัดสายตาและจัดหาแว่นตาให้แก่เด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ
นพ.จเด็จ กล่าวว่า เพื่อให้เกิดการเข้าถึงสิทธิประโยชน์บริการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ สปสช. มีการประชุมร่วมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการตามแนวทางที่กรมอนามัยกำหนด คือ จัดบริการเชิงรุกในโรงเรียน เน้นการคัดกรองสายตาเด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 โดยครูจะทำหน้าที่คัดกรองสายตาเบื้องต้นและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจาก รพ.สต.หรือโรงพยาบาลตรวจคัดกรองนักเรียนที่ครูพบผิดปกติซ้ำ
จากนั้นจึงส่งต่อไปที่โรงพยาบาล (รพช./รพท./รพศ.) ที่มีจักษุแพทย์และหน่วย Refraction Unit เพื่อตรวจวินิจฉัยยืนยัน วัดค่าสายตา พร้อมสั่งตัดและจัดหาแว่นตาให้ สำหรับเด็กนักเรียนชั้นอื่น เช่น ชั้นอนุบาล และ ป.2-ป.6 หากครูสงสัยว่าอาจมีสายตาผิดปกติ ก็เข้าสู่ระบบการตรวจคัดกรองและมีสิทธิได้รับแว่นตา นอกจากนั้นถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองสังเกตเห็นลูกหลานตนเองมีสายตาผิดปกติ เช่น อ่านหนังสือชิดตามากผิดปกติ หรี่ตาหรือทำตาหยีเมื่อเพ่งมอง เป็นต้น ก็สามารถพาลูกหลานไปรับการตรวจคัดกรองสายตาได้ที่ รพ.สต./โรงพยาบาล หากผิดปกติจะได้รับการส่งต่อไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยยืนยันได้เช่นกัน
สำหรับแว่นตา โรงพยาบาลโดยจักษุแพทย์อาจสั่งตัดและประกอบแว่นตาที่หน่วยประกอบแว่นตาในโรงพยาบาล หรือจัดหาจากจักษุคลินิกหรือร้านแว่นตาเอกชนในชุมชน และโรงพยาบาลสามารถเบิกจ่ายชดเชยค่าแว่นตาซึ่งครอบคลุมทั้งค่าเลนส์ กรอบแว่น อุปกรณ์และค่าประกอบแว่นตา ได้จาก สปสช. เด็กที่จักษุแพทย์วินิจฉัยมีสายผิดปกติจำเป็นต้องใช้แว่นตา มีสิทธิรับแว่นตาได้คนละไม่เกิน 1 อันต่อปี
นพ.จเด็จ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้เพื่อให้เกิดการเข้าถึงสิทธิประโยชน์นี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีบทบาทเข้าร่วมขับเคลื่อนผ่าน “กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น” หรือ กปท. ในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการนำพาเด็กนักเรียนไปรับบริการที่โรงพยาบาล 3 ครั้ง ได้แก่ การรับบริการตรวจวินิจฉัย การรับแว่นตา และรับบริการตรวจประเมินเมื่อครบ 6 เดือน ซึ่ง สปสช. จะทำหนังสือประสานแจ้งไปยัง อปท. ทั่วประเทศต่อไป
ทั้งนี้เพื่อมอบสิทธิประโยชน์นี้ให้เป็นของขวัญเด็กไทยทั่วประเทศ เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ปี 2565 สปสช.ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย กรมการแพทย์ คณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service plan) สาขาตา ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ดำเนินการ “โครงการเด็กไทยสายตาดี” ในช่วงสัปดาห์วันเด็กแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 4-14 มกราคม 2565 เพื่อเป็นการรณรงค์ให้เกิดความตื่นตัว เร่งคัดกรองสายตาให้กับเด็กไทยเพื่อค้นหาเด็กที่มีสายตาผิดปกติให้ได้รับการแก้ไขโดยเร็ว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 1967 views